xs
xsm
sm
md
lg

ขนส่งฯ ปัดฝุ่นซาก Truck Terminal Station

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กรมการขนส่งทางบกขึ้นเชียงใหม่ ระดมนักวิชาการและภาคเอกชนแสดงความคิดเห็นกรณีหยิบยกโครงการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าในเมืองหลักและชายแดน (Truck Terminal Station) เพื่อหาสถานที่และจังหวัดที่มีความเหมาะสมที่สุด รวมทั้งจ้างบริษัทเอกชนศึกษาโครงการเป็นระยะเวลา 1 ปี เผยโครงการนี้เคยมีการศึกษาและประกาศจัดตั้งไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วแต่ไม่มีความคืบหน้า และหยุดชะงักไปในที่สุด คาดหยิบขึ้นมาศึกษาใหม่ไร้อนาคต เหตุยังไม่ระบุว่าจะสร้างเมื่อไหร่

เมื่อเร็วๆนี้ นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานเปิดการประชุมเกี่ยวกับโครงการศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินการสถานีขนส่งสินค้าในเมืองหลักและจังหวัดชายแดน (Truck Terminal Station) โดยกล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกได้ว่าจ้างให้บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาเอกชนดำเนินการศึกษาโครงการนี้ ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี โดยจะมีการทบทวนผลการศึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าในพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ที่เคยมีการศึกษามาแล้วเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนดำเนินการศึกษาศักยภาพความเหมาะสมของพื้นที่ และระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในพื้นที่เพื่อให้ทราบถึงความต้องการ และกำหนดรายละเอียดของการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าในอนาคตที่มีความเหมาะสมที่สุด

สำหรับแนวคิดของการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าในภูมิภาค เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการที่กรมการขนส่งทางบกสามารถจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าชานเมืองกรุงเทพฯ ได้เป็นผลสำเร็จทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สถานีขนส่งสินค้าคลองหลวง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และสถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ซึ่งการใช้สถานีขนส่งสินค้าทั้ง 3 แห่งให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นจำเป็นที่จะต้องมีสถานีขนส่งสินค้าปลายทางในภูมิภาครองรับด้วย เพื่อให้การจัดการรวบรวม คัดแยก และกระจายสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพัฒนาการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกที่เป็นระบบอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ในอนาคตบริเวณจังหวัดชายแดนในบางจังหวัดมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เช่น แนวเส้นทางเหนือ-ใต้ ที่จะเชื่อมโยงจีน-พม่า-ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ และแนวเส้นทางตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโยงพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม เป็นต้น ดังนั้น สถานีขนส่งสินค้าในภูมิภาคจึงจะเป็นเครือข่ายสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก และเพื่อรองรับความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย

เล็งเชียงใหม่เป็นจุดก่อสร้างสถานีขนส่งฯ

ในส่วนของการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า ในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เบื้องต้นจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประเมินศักยภาพว่า มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองศูนย์กลางของการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า อย่างไรก็ตาม การจะกำหนดให้จุดใดเป็นพื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียโดยตรงในพื้นที่ที่จะตัดสินใจร่วมกันโดยเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสมที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่แต่เป็นพื้นที่ใกล้เคียงที่มีความเหมาะสมมากกว่า เช่น พื้นที่ในจังหวัดลำพูน ก็เป็นได้ เพราะอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ แต่ทั้งนี้จุดที่จะใช้ก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าดังกล่าวจะต้องมีพื้นที่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50 ไร่

สำหรับจำนวนเงินลงทุนในการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า ในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท ขณะที่รูปแบบการลงทุนในเบื้องต้นมีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ รัฐลงทุนทั้งหมด เอกชนลงทุนทั้งหมด และรัฐกับเอกชนลงทุนร่วมกัน ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่ารูปแบบการลงทุนที่รัฐกับเอกชนลงทุนร่วมกัน น่าจะเป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมที่สุด

ขณะที่รูปแบบการบริหารจัดการสามารถเป็นไปได้หลายรูปแบบ แต่เห็นว่าการให้ท้องถิ่นเป็นผู้เข้ามาดูแลและร่วมบริหารจัดการน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี อย่างไรก็ตาม การจะตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนและการบริหารจัดการที่เหมาะสมที่สุด คงจะต้องอยู่กับผลการศึกษา และการระดมความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในพื้นที่

นายศิลปชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีสถานีขนส่งสินค้าของเอกชนที่ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งอนาคตหากมีการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าตามโครงการที่กำลังมีการศึกษา เห็นว่าจะเป็นการดีมากหากจะมีการย้ายสถานีขนส่งสินค้าของเอกชนมารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด แล้วดำเนินการในรูปแบบของ One Stop Service ซึ่งจะทำให้สามารถรวบรวมและกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและสะดวก

นอกจากนี้ หากสถานีขนส่งสินค้าแห่งนี้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับการขนส่งด้วยระบบรางรถไฟได้ด้วยก็จะเกิดผลดียิ่งขึ้น เพราะการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางรถไฟมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนสินค้าลงไปได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยอมรับว่า แม้การศึกษาการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าในภูมิภาคตามโครงการศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินการ สถานีขนส่งสินค้าในเมืองหลักและจังหวัดชายแดนจะแล้วเสร็จ แต่ในช่วง 2-3 ปีนี้คงจะยังไม่สามารถผลักดันโครงการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าดังกล่าวได้ ด้วยเหตุผลในเรื่องของงบประมาณ ซึ่งผลการศึกษาก็จะเป็นเหมือนการวางแผนล่วงหน้า เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้หากสามารถดำเนินโครงการได้ ก็น่าจะมีการดำเนินโครงการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเป็นแห่งแรกในภูมิภาค

เอกชนเชื่อศึกษาเสร็จโครงการขึ้นหิ้งต่อ


นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่มีการหยิบยกโครงการนี้มาศึกษาแม้จะมีการดำเนินการกันไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็ตาม แต่ในอนาคตโครงการนี้จะต้องรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะกับถนนอาร์ 3 เอที่ใกล้จะเสร็จสิ้นเต็มที โดยพื้นที่ที่น่าจะมีความเหมาะสมในการจัดตั้งโครงการนี้น่าจะอยู่บริเวณเชียงใหม่-ลำพูนเนื่องจากที่ดินว่างเปล่ามีจำนวนมาก แต่ก็ต้องให้ใกล้เคียงกับการเชื่อมต่อระบบรางของรถไฟด้วย

สำหรับการบริหารจัดการนั้นน่าที่จะออกมาในรูปของภาคเอกชนมากกว่า เพราะจะเกิดความคล่องตัวส่วนการลงทุนด้านสาธารณูปโภคควรจะเป็นภาครัฐดำเนินการ นอกจากนี้แล้วในเรื่องของงบประมาณในการดำเนินการภายโครงการเองก็น่าที่จะนำงบพัฒนายุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดมาใช้ก็ไม่น่ามีปัญหา พร้อมกับต้องมีการดึงธุรกิจขนส่งของเอกชนมารวมเป็นที่เดียวกันให้หมด ถึงจะสามารถเป็นสถานีขนส่งเต็มรูปแบบได้

ด้านตัวแทนภาคเอกชนหลายองค์กรในเขตภาคเหนือ ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า โครงการTruck Terminal Station ถือเป็นโครงการที่ดีและสอดคล้องกับระบบลอจิกติกส์ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ แต่โครงการนี้มีการศึกษากันไปแล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็ไม่ควรที่จะต้องศึกษาอะไรอีก เพียงแต่ควรจะมีความคืบหน้าถึงการระบุสถานที่ที่จะสร้างได้แล้ว โดยควรคุยให้เป็นรูปธรรมที่สุดมีการระบุกรอบเวลาที่ชัดเจน ไม่ใช่ให้มาแสดงความคิดเห็นเหมือนพายเรือในอ่าง เสนอไปแล้วเชื่อว่าจะนำไปเก็บไว้อีกไม่ได้ดำเนินการอะไรเหมือนกับว่าใช้งบประมาณไปจ้างเอกชนศึกษาแบบเสียเปล่า

“ตอนนี้ภาคเอกชนก็เบื่อหน่ายกับการที่ต้องมาแสดงความคิดเห็นแบบซ้ำๆ ซากๆ ไม่มีอะไรคืบหน้าคุยเสร็จทุกอย่างก็กลับมาเริ่มต้นใหม่เหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว”

อนึ่ง โครงการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal Station) ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2539 โดยจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจุดที่ตั้งที่เหมาะสม และได้มีการระบุว่าควรจะอยู่บริเวณวงแหวนรอบนอกเชื่อมต่อระหว่างเชียงใหม่-ลำพูน รวมทั้งคัดเลือกที่ราชพัสดุว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาเรื่องดังกล่าวก็หยุดชะงักลง
กำลังโหลดความคิดเห็น