xs
xsm
sm
md
lg

งัดประชานิยม ลดก๊าซ-มือถือ เรียกคะแนน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลเรียกคะแนนนิยม ประเดิม ก.พลังงานประกาศลดราคาก๊าซหุงต้มเดือน มี.ค. ลง 8 สตางค์ต่อ กก. หรือคิดเป็น 1.20 บาทต่อถัง 15 กก. หลังตลาดโลกปรับลดลง พร้อมแช่แข็งสูตรอิงตลาดโลก 10% ที่จะต้องใช้ไตรมาส 2 ตามแผนเดิมออกไป ด้วยการตรึงราคา 18.13 บาทต่อ กก.ไปอีก 5 เดือน เพื่อรอให้ปั๊มเอ็นจีวีของปตท.พร้อมก่อน ขณะที่“พาณิชย์”รุกอีกคืบ บีบ 4 ยักษ์มือถือเมืองไทย ปรับลดค่าบริการรายเดือน บัตรเติมเงิน หรือค่าซิม ขีดเส้นต้องให้คำตอบ 29 ก.พ.นี้ เตรียมเรียกโรงพยาบาลเอกชนปรับลดค่ารักษา และค่ายาเป็นคิวต่อไป หลังได้รับร้องเรียนราคาแพงลิ่ว

พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการหารือถึงโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมาจะใช้สูตรราคาอิงตลาดโลกไตรมาสแรกปีนี้ 5% ไตรมาส 2 อิง 10% ไตรมาส 3 อิง 20% ไตรมาส 4 อิง 30% และไตรมาสแรกปี 2552 อิง 40% ดังนั้นไตรมาสแรกจึงใช้สูตรราคาในประเทศ 95% และอิงตลาดโลก 5% แต่เดือนก.พ.ราคาก๊าซหุงต้มตลาดโลกได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 802 เหรียญต่อตันจากเดือนม.ค.ที่อยู่ 870 เหรียญต่อตันทำให้เมื่อนำมาอิงสูตรดังกล่าวจึงส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มในเดือนมี.ค.นี้จะลดลง 8 สตางค์ต่อกิโลกรัม(กก.) หรือปรับลดลง 1.20 บาทต่อถัง 15 กก.

“จากราคาโลกที่ลดลงในเดือนก.พ.จึงทำให้ราคาก๊าซหุงต้มปรับจากราคาเดิม 18.21 บาทต่อกก.เป็น 18.13 บาทต่อกก. ซึ่งจะเห็นว่าสูตรโครงสร้างราคาที่ท้ายสุดจะอิงตลาดโลก 40% นั้นก็มีส่วนดีที่จะให้เห็นว่าเมื่อราคาโลกลดก็จะเห็นการลดลง “รมว.พลังงาน กล่าว

ราคา 18.13 บ./กก.ไป 5 เดือน

รมว.พลังงานกล่าวว่า สำหรับไตรมาส 2 ปกติตามสูตรจะอิงราคาในประเทศ 90% และตลาดโลก 10% นั้นเมื่อมาพิจารณาหลายปัจจัยแล้วโดยเฉพาะทางเลือกสำหรับภาคขนส่งที่ปตท.เองยังไม่พร้อมในแง่ของปั๊มก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือเอ็นจีวีจึงเห็นควรที่จะยึดสูตรโครงสร้างราคาในเดือนมี.ค.นี้หรือที่ 18.13 บาทต่อกก.ออกไปอีก 5 เดือนจนถึงกลางเดือนกรกฏาคม ที่ปตท.ระบุว่าจะมีความพร้อมในแง่ของปั๊มเอ็นจีวีรองรับจึงจะมาพิจารณากันใหม่ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะมีการหารือในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่มีตนเป็นประธานวันที่ 28 ก.พ.นี้อีกครั้ง

จากการประเมินการใช้ก๊าซหุงต้มในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าจะมีความต้องการอยู่ที่ 3.7 แสนตันต่อเดือนขณะที่ภาคการผลิตจะอยู่ที่ 3.4 แสนตันต่อเดือนหรือจะขาดแคลนอยู่ประมาณ 3 หมื่นตันต่อเดือนดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ปตท.เป็นผู้นำเข้าส่วนนี้ที่คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณเดือนมี.ค. นี้ไปและแบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อนในช่วง 4-5 เดือนที่คิดเป็นเงินประมา ณ 1,880 ล้านบาทหลังจากก.ค.ไปแล้วเมื่อเอ็นจีวีพร้อมก็จะให้โควตาการส่งออกของปตท.เพิ่มขึ้นแล้วคำนวณกลับมาเป็นเงินในอัตราเดียวกับที่แบกรับไว้ซึ่งเวลานั้นมั่นใจว่าการใช้ก๊าซหุงต้มจะลดลงมากจนเหลือส่งออก

ก.ค.ชี้ชะตาแยกราคาขนส่ง-ครัวเรือน

รมว.พลังงานกล่าวว่า หากเอ็นจีวีมีความพร้อมในเดือนก.ค.กระทรวงพลังงานคงจะต้องมาพิจารณาถึงโครงสร้างราคาใหม่ว่าจะอิงสูตรใดแน่ รวมไปถึงการแยกราคาออกเป็น 2 ตลาดหลักระหว่างครัวเรือน กับภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง ดังนั้นคงยังไม่สามารถระบุได้ว่าราคาก๊าซหุงต้มจะมีแนวโน้มอย่างไรขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกในขณะนั้นซึ่งก็ไม่แน่ว่าภาคครัวเรือนจะขึ้นราคาหรือไม่แต่หากจะขึ้นคงจะต่ำกว่าภาคขนส่งและอุตสาหกรรมแน่นอน

ขีดเส้น 29 ก.พ. มือถือลดค่าบริการ

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 ราย ประกอบด้วย เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และฮัทช์ ถึงแนวทางในการปรับลดค่าบริการลงมา โดยขอให้ผู้ประกอบการจะต้องปรับลดจะต้องเป็นแพ็กเก็จใหญ่ ไม่ใช่แพ็กเก็จเล็กๆ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และให้ระยะเวลาผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย ไปศึกษาและกลับมาให้คำตอบกับกรมฯ ภายในวันที่ 29 ก.พ.นี้

ทั้งนี้ การปรับลดราคา อาจดำเนินการ 2 ส่วน คือ ลดราคาจากค่าบริการรายเดือนหรือบัตรเติมเงิน และลดราคาค่าซิมโทรศัพท์ โดยพบว่าปัจจุบันค่าบริการรายเดือนที่ผู้ประกอบการกำหนดไว้ต่ำสุดอยู่ที่ 200 บาท/เดือน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องไปตกลงว่าสามารถลดราคาค่าบริการให้กับประชาชนได้เท่าไร และเป็นระยะเวลากี่เดือน

“การลดค่าบริการโทรศัพท์มือถือ เป็นไปตามนโยบายของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ต้องการดูแลกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย แม้ว่าปัจจุบันค่ายมือถือจะแข่งขันด้านราคากันรุนแรง บางรายประสบปัญหาขาดทุน แต่เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงต้องการให้ปรับลดลงมาอีก ซึ่งผู้ประกอบตอบรับที่จะกลับไปศึกษาให้” นายยรรยง กล่าว

นอกจากกลุ่มโทรศัพท์มือถือ ในสัปดาห์นี้ กรมฯ จะหารือกับผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน เพื่อขอให้ปรับโครงสร้างราคายาและค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรมกับประชาชน เพราะที่ผ่านมากรมฯ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนถึงการรักษาภายในโรงพยาบาลเอกชนที่มีการคิดค่าบริการไว้สูงมาก ดังนั้น ในการหารือจะมีการเปรียบเทียบโครงสร้างราคายาและค่าบริการระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของราคายามองว่าไม่ควรแตกต่างกันมากนัก

“การหารือจะมีถกโครงสร้างใหม่หมด รวมถึงรายการยา 200 รายการ ที่โรงพยาบาลเอกชนมีตั้งราคาสูงมาก โดยจะขอโรงพยาบาลเอกชนให้คำตอบในการปรับลดราคาค่ายาและค่าบริการกับกรมฯภายในวันที่ 6 มี.ค.นี้”นายยรรยง กล่าว

ผู้ประกอบการโต้ลดราคายาก

นายจิระยุทธ รุ่งศรีทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (สายงานการเงิน) บริษัท กสท. โทรคมนาคม กล่าวว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต่างเห็นด้วยที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐ โดยผู้ประกอบการจะหารือกันต่อไปว่าจะใช้แนวทางใดในการลดค่าบริการดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ก่อนเสนอให้ รมว.พาณิชย์ รับทราบต่อไป

“สถานการณ์ปัจจุบันมีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว ทำให้ค่าโทรมือถือในประเทศไทยมีอัตราต่ำติดอันดับต้นๆ ของโลก จึงต้องพิจารณาอย่างมากว่าจะใช้ช่องทางใดในการลดราคาลงอีก ซึ่งปัจจุบันมีค่ายโทรศัพท์ที่มีผลประกอบการติดลบอยู่ คือ ทรูมูฟ และฮัทช์ ส่วนเอไอเอสและดีแทค พอมีกำไรบ้าง ดังนั้น การร่วมมือกับรัฐจะทำในระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ถาวร โดยจะออกเป็นแคมเปญร่วมหรือรัฐควรจะช่วยอะไรค่ายมือถือบ้าง ต้องขอคุยกันก่อน” นายจิระยุทธกล่าว

แผน"มิ่ง"ลดราคาเรียกคะแนนนิยม

แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการมือถือ กล่าวว่าที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่เคยเข้ามาควบคุมหรือบังคับให้ลดราคา แต่พอมารัฐบาลชุดนี้ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ต้องการสร้างผลงานเพื่อคะแนนนิยม จึงมาบังคับให้ค่ายถือถือต้องปรับลดราคา ที่ผ่านมาต้องไปศึกษาดูว่าใครเป็นผู้ให้มีการอนุมัติการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ แต่มาถึงยุคนายมิ่งขวัญ เข้ามาดูแลกระทรวงพาณิชย์แล้วต้องการทำการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงจึงมาบังคับเอกชนให้ลดราคา ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของการค้าเสรี จึงเป็นสิทธิที่ผู้ประกอบการจะทำการแข่งขันกันได้หากปรับลดราคาได้ก็จะได้คะแนนความชื่นชมจากประชาชน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลชุดที่แล้วกลับปล่อยให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพียงอย่างเดียว

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ปัญหาการลดราคาค่าบริการของโรงพยาบาลนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะมาตรฐานการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลแต่ละแห่งนั้นทั้งบริการและยาที่ใช้รักษาพยาบาลมีความแตกต่างกัน ซึ่งต้องดูชื่อเสียงของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้ว่ามีความเชี่ยวชาญและความชำนาญที่แตกต่างกัน ซึ่งหากจะบังคับให้ลดราคาจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากจะให้ลดราคาลงคงต้องลดคุณภาพของยาและบริการลง ซึ่งโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงคงเมินนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่มีใครอยากจะเปิดเผยเพราะหวั่นว่าจะเห็นแก่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น