xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อแม่เมาะเดินหน้าชน กฟผ.แฉเล่ห์กลฝืนมติครม.-ฝังกลุ่มผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เหยื่อมลพิษแม่เมาะเดินหน้าชนการไฟฟ้าฯ หลังถูกเล่นกล “ขุดหลุมฝัง” คาพื้นที่เสี่ยงภัยจากโรงไฟฟ้าฯ เล่นเล่ห์ฝืนมติ ครม.ยื้อสร้างบ้านใหม่ให้ “กลุ่มผู้ป่วย” แต่กลับยอมจ่ายค่าชดเชยให้กลุ่มมวลชนที่ร่วมเดินเกมตาม กฟผ. แถมนำอดีตสมาชิกเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯ ยื่นขอใช้สิทธิ์อีกรอบ หลังเคยถอนตัวจากกลุ่มต้านมาแล้ว หวังใช้เป็นเหตุผลย้ำฝาโลง

วานนี้ (26 ก.พ.51) เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ องค์กรชาวบ้านที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นำโดยนายนฤดล สุชาติพงษ์ ประธานเครือข่าย-นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันทำหนังสือขอข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการอพยพโยกย้ายราษฎร ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าฯ จำนวน 493 ครอบครัว ตั้งแต่วันที่มีมติ ครม.9 พ.ย.2547 จนถึงปัจจุบัน ยื่นต่อนายอำเภอแม่เมาะ
 
พร้อมส่งสำเนาถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้ว่ากฟผ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตและคอร์รัปชันภาคประชาชน (ป.ป.ช.ภาคประชาชน) กรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ และรายการตอบโจทย์ประชาชนของสถานีโทรทัศน์ไทย PBS เรียกร้องให้ชี้แจงใน 8 ประเด็นหลัก ๆคือ

1. เรียกร้องให้ชี้แจงการแก้ไขปัญหาเรื่องการอพยพ โดยระบุว่า อ.แม่เมาะ ไม่สามารถดำเนินการให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าพื้นที่ของกลุ่มผู้ได้สิทธิอพยพตามมติ ครม.จำนวน 493 ครอบครัว เนื่องจากไม่สามารถผลักดันกลุ่มบุคคลที่บุกรุกเข้ายึดครองพื้นที่รองรับการอพยพจำนวน 72 ราย รวมทั้งไม่สามารถดำเนินการจับสลากเลือกพื้นที่อยู่อาศัยได้อย่างยุติธรรม ผิดกับที่รายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึง ครม.รับทราบ ส่งผลให้เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯ ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง

2.เรียกร้องให้ชี้แจงกรณีพฤติกรรมของผู้ใหญ่บ้านห้วยคิง หมู่ 6 ที่นำคนบุกรุกครอบครองพื้นที่รองรับการอพยพที่ กฟผ.จัดหาไว้ โดยไม่ทำตามมติ ครม.ที่ให้จับสลากรายครัวเรือน

3.ให้อำเภอแม่เมาะ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ชี้แจง เรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า รวม 47 ล้านบาท ที่เคยชี้แจงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อ 10 ต.ค.49 เนื่องจากความจริงจนถึงวานนี้ (26 ก.พ.51) พื้นที่รองรับผู้อพยพในกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯ จำนวน 108 ครอบครัว ยังไม่ได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแม้แต่ครอบครัวเดียว

4.ให้ชี้แจงกรณีการจ่ายเงินชดเชยการอพยพโยกย้ายราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ตามมติ ครม.15 ม.ค.2551 ที่รับทราบการจ่ายเงินจำนวน 235 ล้านบาทเศษ ที่รายงานต่อ ครม.เพื่อรับทราบว่า เงินจำนวนที่เบิกจ่าย เพื่อการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบจำนวน 493 ครอบครัว ว่า

กลุ่ม 1 ยอมรับเงื่อนไขปลูกสร้างบ้านเองตามราคาประเมิน ของคณะอนุกรรมการประเมินราคาที่จังหวัดแต่งตั้งจำนวน 355 ครอบครัว รวมวงเงิน 181.960 ล้านบาท ที่อำเภอแม่เมาะ ได้จ่ายเงินไปแล้ว

กลุ่ม 2 กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จำนวน 108 ครอบครัว ต้องการให้รัฐสร้างบ้านให้ราคาหลังละ 500,000 บาทเท่ากันทั้งหมด เป็นเงิน 54 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการปลูกสร้างบ้านให้ตามที่รายงานต่อ ครม.แม้แต่หลังเดียว

5.ให้ชี้แจงกรณีการซื้อบ้านจากกลุ่มราษฎรที่อพยพภายใต้การขายบ้านเก่าให้รัฐตามมติที่ประชุมของจังหวัดลำปาง เมื่อ 8 ก.พ.2550 ว่า เอางบประมาณจากไหนมาจัดซื้อ และบ้านที่ซื้อไปแล้วนั้นจะดำเนินการอย่างไร หน่วยงานไหนนำทรัพย์สิน หรือบ้านเก่าที่ซื้อไปดำเนินการต่อ มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโปร่งใสหรือเป็นธรรมอย่างไร ดำเนินการซื้อบ้านตามมติ ครม.ชุดไหน

6.เรียกร้องให้ชี้แจงกรณีผู้ใหญ่บ้านหัวฝาย ต.หัวดง / ผู้ใหญ่บ้านห้วยเป็ด และนายสมบูรณ์ เตชะเต่ย ในฐานะอนุกรรมการและคณะทำงานประเมินทรัพย์สินฯ ได้ทำเรื่องร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง,เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.,ผู้ตรวจการแผ่นดิน,แม่ทัพภาคที่ 3,ผู้ว่า กฟผ.,นายอำเภอแม่เมาะ กรณีการประเมินราคาทรัพย์สินผู้อพยพ ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว เคยมีคำสั่งให้จังหวัดลำปางตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

7.ให้ชี้แจง ประเด็นการจัดพื้นที่รองรับให้แก่ กลุ่มผู้บุกรุกเข้ายึดครองพื้นที่รองรับการอพยพ จำนวน 72 ราย ซึ่งไม่มีรายชื่ออพยพในมติ ครม. ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ได้รับการอนุญาตให้อพยพที่แท้จริง จนไม่มีพื้นที่รองรับ

และ 8.ให้ชี้แจงกรณีไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร ของ กฟผ. จนทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยรอบๆโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินลิกไนต์อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางเดือดร้อนจากปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและทางด้านวิถีชีวิต รวมถึงทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ

ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ม.ค.51 รับทราบเรื่องการจ่ายงบประมาณการแก้ไขปัญหาจากกรณีผู้ได้รับความเดือดร้อน และผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เรื่องจำนวนเงินดำเนินการอพยพราษฎรสองกลุ่มวงเงิน 235.960 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และกฟผ.อ้างว่าไม่ขัดข้อง

แต่เหตุใด กฟผ. จึงไม่โอนเงินงบประมาณ 54 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างบ้านเรือนให้กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จำนวน 108 ครอบครัว ตามที่แจ้งให้ ครม.รับทราบ

รวมถึงกรณีผู้ใหญ่บ้านห้วยเป็ดหมู่ที่ 1 ตำบลแม่เมาะอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 14 ม.ค.2551 เรื่องต้องการอพยพราษฎรบ้านห้วยเป็ด เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน,ปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สรุปได้ว่า ราษฎรที่เหลือจากการอพยพตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2547 จำนวน 180 ครัวเรือน ต้องการอพยพ ตามเงื่อนไขเดียวกับกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯ จนกลายเป็นข้ออ้างชะลอการจ่ายเงินให้แก่เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยฯจนถึงขณะนี้ด้วย เนื่องจากกลุ่มที่เข้าร้องเรียนครั้งนี้ มีทีมงานมวลชนของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นผู้นำพาเข้าร้องเรียนด้วยตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น