xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เปิดเหมืองใหม่หมื่นล้าน - เหยื่อแม่เมาะขวางชี้ปัญหาเก่าไม่จบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง – กฟผ.เดินหน้าเปิดเหมืองแม่เมาะเฟส 6 บนพื้นที่กว่า 3 พันไร่ มูลค่า 10,000 ล้านบาท คาดเริ่มกลางปี 52 หลังได้บริษัทรับเหมาเรียบร้อยแล้ว รอเพียงอนุมัติจากส่วนกลาง ด้านเครือข่ายผู้ป่วยแม่เมาะฯ เล็งใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระงับการเปิดเหมืองชี้ปัญหาเก่าไม่สาง-ก่อปัญหาใหม่ จี้ กฟผ.เร่งจ่ายเงินสร้างบ้านมั่นคงกว่า 54 ล้านบาทตามมติ ครม.แถมออกอาการยื้อจ่ายเฉพาะกลุ่มที่ต้องการ “เงิน” เท่านั้น

นายเกียรติสาร เอกะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการเชื้อเพลิง เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง เปิดเผยว่า ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมเสนอ TOR และเสนอราคา เปิดหน้าเหมืองในเฟส 6 หรือบ่อ SE (ตะวันออกเฉียงใต้) ล่าสุดได้บริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยผ่านเกณฑ์และมีคุณสมบัติตรงตามที่ กฟผ.ระบุไว้ใน TOR รวมทั้งเสนอราคาที่เหมาะสมด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อบริษัทดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องให้ กฟผ.ส่วนกลางเป็นผู้พิจารณาขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่งก่อนจะเปิดเผยรายชื่อและรายละเอียดต่างๆ ได้

สำหรับพื้นที่เหมืองเฟส 6 หรือบ่อ SE ที่จะเปิดนี้ได้พิจารณาถึงความจำเป็นในการนำถ่านหินขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากบ่อเหมืองในปัจจุบันจะหมดในปลายปี 2552 ดังนั้นจึงต้องเปิดเหมืองบ่อใหม่ประมาณกลางปี 2552 เพื่อรองรับและให้การนำเชื้อเพลิงที่เป็นถ่านหินมาใช้ได้อย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด โดยบ่อSE มีพื้นที่ทั้งสิ้น 3,100 ไร่ ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ งบประมาณ 10,000 ล้านบาท อายุสัญญา 10 ปี เริ่มประมาณกลางปี 2552 เป็นต้นไป

“การเปิดเหมืองดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่มีปัญหามวลชนตามมาเนื่องจากผ่านขั้นตอนและกระบวนการที่โปร่งใสทุกอย่าง”นายเกียรติสาร กล่าว

ทั้งนี้การเปิดเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ ระยะที่ผ่านมา ล้วนอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไล่ตั้งแต่อิตัลไทยฯ-สหกลเอนจิเนียริ่ง-เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น แต่สำหรับเหมืองเฟส 6 ที่กำลังจะเปิดประมูลกันนี้ กลุ่มทุนท้องถิ่นของจังหวัดแพร่อย่างห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่ธำรงวิทย์ ของตระกูล “วงศ์วรกุล” โดยนายวรงค์ วงศ์วรกุล กรรมการผู้อำนวยการ หจก.แพร่ธำรงวิทย์ ยืนยันว่า จะเสนอตัวเข้าแข่งขันในงานนี้แน่นอน เพราะงานรับเหมากับการเปิดหน้าดินเหมืองลิกไนต์ ไม่แตกต่างกันมากนัก

ส่วนกรณีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของ กฟผ.แม่เมาะ ที่ยื่นเรื่องขอให้สร้างบ้านมั่นคงให้ จำนวน 108 หลังคาเรือนนั้น นายเกียรติสาร กล่าวว่า กฟผ.ไม่สามารถเป็นคนพิจารณาหรือออกคำสั่งให้สร้างได้ต้องรอให้ ครม.มีมติและสั่งการออกมาก่อน กฟผ.จึงจะสามารถดำเนินการได้

นายเกียรติสาร กล่าวอีกว่า กรณีประชาชนใน 4 หมู่บ้านจำนวนหนึ่งได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อจะขออพยพหากได้รับผลกระทบจริงก็จะแก้ปัญหากันต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาการจ่ายเงินชดเชยและอพยพผู้ป่วย กฟผ.ได้ทำตามขั้นตอนทุกอย่างตามที่จังหวัดมีคำสั่งมา ดังนั้นหากจะอพยพเพิ่มก็ต้องรอการพิสูจน์และตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ นายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า จังหวัดได้มีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ของจังหวัด ในเรื่องการพิจารณาเงินชดเชย 4 หมู่บ้านในอำเภอแม่เมาะที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จำนวน 493 หลังคาเรือน จากการสำรวจล่าสุดพบว่าต้องจ่ายเงินชดเชย 366 หลังคาเรือน สร้างบ้านมั่นคง 108 หลังคาเรือน อีก 19 หลังคาเรือนมีความประสงค์และสมัครใจอยู่ที่เดิม

ภายหลังที่ คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการไปแล้ว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้โอนเงินทั้งหมดที่จังหวัดลำปาง เพื่อจ่ายให้แก่กลุ่มที่ต้องการเงินชดเชย จำนวน 250 ล้านบาท โดยคณะกรรมการได้สำรวจ-สรุปยอดเงิน และจ่ายเงินงวดแรก 25% ให้แก่ประชาชน 79 ราย รวมเป็นยอดเงินทั้งสิ้น 37,800,880.03 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาได้อนุมัติอีก 97 ราย เป็นเงิน 43,416,951.90 ล้านบาท และทางจังหวัดได้พิจารณาเพิ่มเติมอีก 17 ราย จากยอดเดิมที่ระงับไว้ในงวดแรก รวมที่จะขออนุมัติและให้ทางจังหวัดโอนเงินให้ทางอำเภอเพื่อจ่ายให้กับประชาชน ในรอบใหม่คาดว่าจะจ่ายได้ภายในเดือนนี้ อีก 114 ราย รวม 49,518,031.71 ล้านบาท

สรุป ณ เวลานี้ได้มีการอนุมัติจ่ายเงินงวดแรกให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนผู้ที่ต้องการเงินชดเชยแล้ว 193 ราย เหลืออีก 173 ราย ที่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบหลักฐานเพิ่มเติม บางส่วนก็อยู่ระหว่างอุทธรณ์ในราคาประเมิน

ส่วนกรณีของผู้ป่วยที่ต้องการให้สร้างบ้านมั่นคงให้ และมีมติของ ครม. ออกมาให้ก่อสร้างบ้านให้ผู้ได้รับผลกระทบ เมื่อ 15 มกราคม แล้วนั้น นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ นายอำเภอแม่เมาะ คนใหม่ กล่าวว่า เมื่อ 20 มกราคม 51 ได้เข้าพูดคุยในเรื่องดังกล่าวกับนายเกียรติสาร เอกะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่โรงไฟฟ้า 2 โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้คำตอบว่า กรณีของกลุ่มผู้ป่วยจะต้องนำเข้าหารือใน ครม.อีกครั้ง เพื่อให้มีหลักฐานในการจ่าย เพราะ กฟผ.เกรงจะมีปัญหาตามมาทีหลัง

นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ นายอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง ระบุว่า การอพยพกลุ่มผู้ป่วยฯ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะก่อนหน้านั้นเท่าที่ทราบคือก็ได้รับการพิจารณาจาก ครม. อนุมัติให้ดำเนินการได้

“ไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไรถึงโยนเรื่องไปทางโน้นทีทางนี้ที ซึ่งเรื่องทั้งหมดควรจะจบได้แล้ว และตนเองก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้”

ด้านนางมะลิวัลย์ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าว่า กำลังประสานงานกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อพิจารณาเรื่องการสร้างบ้านให้แก่กลุ่มผู้ป่วย ซึ่ง กฟผ.ไม่ยอมจ่ายเงินจำนวน 54 ล้านบาท ให้จังหวัดเพื่อสร้างบ้านมั่นคงให้แก่กลุ่มผู้ป่วย ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.ออกมาแล้ว

“ไม่ทราบว่าทำไม กฟผ.ยังจะต้องรอความชัดเจนอะไรอีกทั้งที่มีมติ ครม.ออกมาแล้ว ส่วนเรื่องการเปิดเหมืองบ่อใหม่ กลุ่มฯเคยยื่นเรื่องคัดค้านไปยัง อบต. และส่งให้กระทรวงฯไปแล้ว เพื่อให้ยุติการเปิดเหมืองไว้ก่อน เพราะปัญหาเดิมเรื่องการอพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก็ยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งถ้ามีการเปิดหน้าเหมืองใหม่ก็จะยิ่งเพิ่มปัญหาขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม กฟผ.ยังคงเดินหน้าต่อ กลุ่มฯ ก็จะให้สภาทนายความซึ่งรับเป็นทนายความให้ คงจะต้องนำกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนมาใช้ เพื่อเป็นการปกป้องประโยชน์ของชาวบ้านต่อไป”

รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งเพิ่มเติมว่า กรณีการอพยพโยกย้ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแม่เมาะ ในกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยฯ ที่ ครม.มีมติออกมาให้ดำเนินการเมื่อ 15 มกราคม 51 หากภายใน 2 สัปดาห์ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ที่เป็นหนึ่งในสารพัดหน่วยงานที่ได้รับการร้องเรียนจากเครือข่ายผู้ป่วยฯ เตรียมที่จะลงพื้นที่ติดตามปัญหา-ความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่งด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น