xs
xsm
sm
md
lg

รู้เหมือนกันแต่พูดต่างกัน:ต่างฝ่ายและต่างเจตนา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ 5 ประการเหล่านี้ในบุคคลผู้พูดมากคือ

1. ย่อมพูดปด 2. ย่อมพูดส่อเสียด (คือยุยงให้แตกหักกัน) 3. ย่อมพูดคำหยาบ 4. ย่อมพูดเพ้อเจ้อ 5. สิ้นชีวิตแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต (ความล่มจมตกต่ำ) นรก”

นี่คือพุทธพจน์ที่ปรากฏที่มา คือ ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 282

โดยนัยแห่งพุทธดังกล่าวข้างต้น มีความหมายชัดเจนทั้งโดยสระและพยัญชนะ หรือโดยตัวอักษรแทบไม่ต้องมีอรรถาธิบายเพิ่มเติม

ดังนั้น ชาวพุทธทั้งหลายที่มีความสนใจใฝ่รู้ก็เคยผ่านหูผ่านตามาแล้ว ส่วนว่าเมื่อผ่านหูผ่านตาหรือได้ยินได้ฟัง และได้อ่านด้วยตนเองแล้วจะนำไปปฏิบัติหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะชาวพุทธ ผู้เขียนคำสอนเกี่ยวกับเรื่องโทษของคนพูดมากมีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมการเมือง ที่มีผู้นำรัฐบาลเป็นคนช่างพูด และพูดแทบทุกเรื่อง ด้วยภาษาและลีลาที่ผู้ฟังแล้วรู้สึกไม่ยินดีปรีดากับภาวะผู้นำในลักษณะนี้

จริงอยู่พฤติกรรมของบุคคลแต่ละคนได้ถูกหล่อหลอมมาด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อมาอยู่ในฐานะผู้นำรัฐบาลแล้ว ก็ควรที่จะควบคุมกายและวาจาให้อยู่ในกรอบแห่งกติกาทางสังคมที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย และยอมรับได้ ไม่เช่นนั้นแล้วภัยจากการพูดจะเป็นอุปสรรคต่อการดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศ เมื่อประชาชนมีความรู้สึกเป็นศัตรูพร้อมกันในจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเพียงการพูดถึงคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ครั้งเดียวก็ก่อให้เกิดกระแสต้านขึ้นในหมู่คนเดือนตุลา ด้วยเหตุว่าผู้พูดไม่พูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับจำนวนคนตายที่อีกฝ่ายมีตัวเลขว่ามีอยู่ถึง 40 กว่าคน และมีคนสูญหายเป็นจำนวนกว่า 100 คน จึงไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายเสียชีวิต และสูญหาย

ดังนั้น การพูดถึงเรื่องนี้จึงเข้าข่ายบิดเบือนและปกปิดความจริง ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่รู้อยู่ว่าความจริงเป็นอย่างไร

อีกประการหนึ่ง การที่ใครคนใดคนหนึ่งชอบยืนยัน และประกันความบริสุทธิ์ของตัวเองด้วยการสาบาน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บุคคลในระดับผู้นำ หรือกระทั่งระดับรองลงมาไม่ควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำบ่อยๆ จนผู้ได้ยินได้ฟังเกิดความเคยชิน และขาดความเชื่อถือ เพราะเป็นผลเสียแก่ผู้สาบานเอง ดังที่ได้เกิดขึ้นในกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้พูดในสภาฯ ในวันแถลงนโยบาย และได้พูดให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนกลายเป็นข่าวในเชิงลบต่อผู้นำรัฐบาลไปอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ และการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 25 ที่มีอายุในตำแหน่งไม่ถึง 2 เดือนพบกับภาวะต่อต้านจากสื่อเช่นนี้ ก็มิได้มาจากอะไรอื่นนอกเหนือไปจากการพูดมากนั่นเอง

โดยนัยแห่งคำว่า พูดมาก ในทางพุทธศาสนาได้มีอรรถาธิบายว่า การพูดมากก็คือการพูดทั้งๆ ที่ไม่มีเรื่องจะพูด และในทางกลับกันไม่หยุดพูดเมื่อหมดหรือจบเรื่องที่จะพูดแล้ว ซึ่งมีนัยสอดคล้องกับการที่นายสมัคร สุนทรเวช พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะเรื่องนี้ล่วงเลยมานานกว่า 30 ปีแล้ว และผู้ที่อยู่ร่วมกิจกรรมทางการเมืองในวันนั้นหลายๆ ท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว และที่ยังเหลือมีชีวิตอยู่ก็เกือบจะลืมเรื่องนี้ไปแล้ว ที่พอจะยังคงจำได้ก็เพียงผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบในเชิงลบอย่างรุนแรงถึงขั้นเข้าป่า และสูญเสียโอกาสในทางสังคมเท่านั้น และคนกลุ่มนี้เองที่จะมีปฏิกิริยาต่อต้านนายสมัคร สุนทรเวช ในกรณีพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไม่ว่าผู้ต่อต้านจะเป็นกลุ่มไหน และมีจำนวนมากหรือน้อย นายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหาร จะต้องไม่มองข้ามกระแสต่อต้านในครั้งนี้ และที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งก็คือปล่อยให้คนใกล้ชิดออกมาแก้ตัวแก้ต่างในลักษณะยั่วยุ หรือเพิ่มความรุนแรงให้เพิ่มขึ้น และต่อเนื่องลุกลามออกไปจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีทั้งแก่นายสมัครและพรรคพวก ทางที่ดีควรปล่อยให้เรื่องนี้จบไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง และที่สำคัญไม่ควรตอกย้ำเรื่องมือที่มองไม่เห็นคอยทำลายรัฐบาล เพราะเท่าที่ดูสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ มือที่มองไม่เห็นอาจเป็นกลุ่มคนที่เป็นพรรคเดียวกันแต่คนละพวกก็ได้

ส่วนในเรื่องของการยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง ด้วยการสาบานก็ดี ด้วยการอวดอ้างเส้นทางการเมืองของตัวเองก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าคนที่อยู่ในวงการเมืองเขารู้ และเข้าใจดีว่าอะไรเป็นอะไร และใครทำให้เส้นทางทางการเมืองของนายสมัครเดินมาถึงจุดนี้ได้ ณ วันนี้ และถ้าการพูดในทำนองนี้ยังคงเป็นอยู่ต่อไป ผู้เขียนเชื่อว่าสักวันหนึ่งมือที่มองไม่เห็น ปากที่ยังไม่พูดเรื่องนี้จะปรากฏตัว และทำให้คำพูดของนายสมัคร สุนทรเวช ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้อยค่าลงไปได้

เพราะเพียงคำว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลตัวแทน ก็มากพอที่จะทำให้การอวดอ้างคุณภาพทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลมีน้ำหนักไม่มากนักอยู่แล้ว และถ้าบังเอิญวันหนึ่งมีการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่าพรรคพลังประชาชนเป็นพรรคนอมินี และวันนั้นศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องแล้วตัดสินออกมาว่าเป็นความจริงตามที่ฟ้อง วันนั้นคำอวดอ้างความสำเร็จทางการเมืองของ นายสมัคร สุนทรเวช ก็จะหมดความน่าเชื่อถือไปในบัดดล

ดังนั้น ทางที่ดีจากนี้ไปผู้เขียนเห็นว่าถ้าผู้นำรัฐบาลรวมไปถึงบุคลากรทางการเมืองทุกตำแหน่งที่อยู่ในสังกัดพรรคพลังประชาชน ก็ควรที่จะได้เหนี่ยวรั้งมิให้ผู้นำของท่านพูดจาประสาสมัครบ่อยนัก ก็จะช่วยให้รัฐบาลชุดนี้ดำเนินต่อไปได้นานเท่านานตามที่ควรจะเป็น

แต่ถ้าไม่มีใครช่วยเหนี่ยวรั้งได้ เชื่อว่าสักวันหนึ่งคนพรรคเดียวกันแต่ต่างกลุ่มกัน จะตอกลิ่มให้เกิดความแตกร้าว และทำให้เส้นทางการเมืองของพรรคนี้จบลงเร็วกว่าที่ทุกท่านคาดหวังก็เป็นไปได้

นอกเหนือจากการพูดถึงอดีตที่ผู้นำรัฐบาลตกเป็นเป้าแห่งการโจมตี เช่น ในกรณี 6 ตุลาคม 2519 แล้ว การพูดถึงการแก้ปัญหาระดับประเทศโดยใช้ความรู้สึก และประสบการณ์ในระดับชาวบ้านร้านถิ่น เช่น ในกรณีการแก้ปัญหาของแพง ด้วยการผลิตเหรียญเศษสตางค์เพิ่ม เป็นต้น ก็จะเป็นชนวนชวนทะเลาะกับนักวิชาการ ที่ยึดติดการแก้ปัญหาโดยอิงอาศัยทฤษฎีในทางวิชาการได้ และถ้าเหตุการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ความน่าเชื่อถือในผู้นำประเทศก็คงจะลดลง และถ้าเผอิญแนวคิดที่ว่านี้เป็นจริง รัฐบาลชุดนี้ก็คงจะจบลงโดยที่ฝ่ายค้านไม่ต้องออกแรงอภิปราย แต่จบลงด้วยพฤติกรรมพูดมากของผู้นำนั่นเอง และถ้าเป็นเช่นนี้ก็น่าเสียดายโอกาสทางการเมืองที่ได้มายาก แต่จบลงอย่างง่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น