xs
xsm
sm
md
lg

ตำนาน นโม (๒๖)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

• สมฺมาสมฺพุทฺโธ (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกปุคคลวรรค สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสถึงความเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ไว้ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถะประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล หาได้ยากในโลก ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลกิริยาของบุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล เป็นเหตุเดือดร้อนแก่ชนเป็นอันมาก ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นผู้ไม่มีสอง ไม่มีเช่นกับพระองค์ ไม่มีใครเปรียบ ไม่มีใครเปรียบเสมอ ไม่มีส่วนเปรียบ ไม่มีบุคคลเปรียบ ไม่มีใครเสมอ เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอ เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งบุคคลผู้เอกคือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล เป็นความปรากฏแห่งจักษุใหญ่ แห่งแสงสว่างใหญ่ แห่งโอภาสใหญ่ แห่งอนุตตริยะ ๖ เป็นการทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทา ๔ เป็นการแทงตลอดธาตุเป็นอันมาก เป็นการแทงตลอดธาตุต่างๆ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล ฯ”

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือพุทธทาสภิกขุ ได้นำความจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค สูตรที่ ๗ วีมังสกสูตร ว่าด้วยการตรวจดูธรรม มาอธิบายถึง การทรงยืนยันให้ทดสอบความเป็นสัมมาสัมพุทธะของพระพุทธเจ้า ในหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ภาค ๓ ดังนี้

“...ภิกษุทั้งหลาย วิธีการทดสอบ อันเป็นสิ่งที่ภิกษุ ผู้มีปัญญาใคร่ครวญ แต่ไม่มีญาณเป็นเครื่องรู้จิตแห่งผู้อื่น จะพึงกระทำในตถาคต เพื่อให้รู้ว่า ตถาคตเป็นสัมมาสัมพุทธะ หรือหาไม่ ดังนี้นั้น มีอยู่ (ภิกษุทั้งหลาย ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จึงได้ตรัสถ้อยคำต่อไปนี้)

ภิกษุทั้งหลาย ตถาคต อันภิกษุผู้มีปัญญาใคร่ครวญ แต่ไม่มีญาณเป็นเครื่องรู้จิตแห่งผู้อื่น พึงทำการทดสอบ ในธรรมทั้งสอง คือในธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ว่าธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ซึ่งเป็นธรรมเศร้าหมอง นั้นมีอยู่แก่ตถาคตหรือหาไม่ เมื่อทำ การทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ธรรมที่จะพึง รู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ซึ่งเป็นธรรมเศร้าหมองนั้น ไม่มีอยู่แก่ตถาคตเลย ดังนี้

เมื่อรู้อยู่อย่างนั้น ย่อมทำการทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ซึ่งเป็น ธรรมที่เจืออยู่ด้วยความเศร้าหมอง นั้นมีอยู่แก่ตถาคต หรือหาไม่ เมื่อทำการทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ซึ่งเป็นธรรม ที่เจืออยู่ด้วยความเศร้าหมองนั้น ก็ไม่มีอยู่แก่ตถาคต เลย ดังนี้

เมื่อรู้อยู่อย่างนั้น ย่อมทำการทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าธรรมที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ ซึ่งเป็น ธรรมผ่องแผ้ว นั้นมีอยู่แก่ตถาคตหรือหาไม่ เมื่อทำ การทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ธรรมที่จะพึง รู้ได้ด้วยจักษุและโสตะซึ่งเป็นธรรมผ่องแผ้วนั้น มีอยู่ แก่ตถาคต ดังนี้

เมื่อรู้อยู่อย่างนั้น ย่อมทำการทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นกุศลนี้ ได้ถึงพร้อมมาตลอดเวลายาวนาน หรือว่าเพิ่งถึงพร้อมเมื่อสักครู่นี้เอง เมื่อทำการทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ได้ถึงพร้อมมาแล้วตลอดกาล นาน หาใช่เพิ่งถึงพร้อมเมื่อสักครู่นี้ไม่ ดังนี้

เมื่อรู้อยู่อย่างนั้น ย่อมทำการทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าท่านผู้นี้เป็นภิกษุผู้มียศ มีเกียรติกระฉ่อนแล้ว โทษต่ำทรามบางอย่างในกรณีอันเกี่ยวกับยศนี้มีอยู่แก่ท่านผู้นี้หรือ ภิกษุทั้งหลาย(การที่ต้องทดสอบข้อนี้ก็เพราะว่า) โทษต่ำทรามบางอย่างจะยังไม่มีแก่ภิกษุ ตลอดเวลาที่ภิกษุยังไม่รุ่งเรืองด้วยยศ มีเกียรติ กระฉ่อน ต่อเมื่อรุ่งเรืองด้วยยศ มีเกียรติกระฉ่อน ก็จะมีโทษต่ำทรามบางอย่างเกิดขึ้น เมื่อทำการทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ แม้เป็นภิกษุเรือง ยศ มีเกียรติกระฉ่อน ก็หามีโทษต่ำทรามอันใด ในกรณี อันเกี่ยวกับยศนั้นไม่ ดังนี้

เมื่อรู้อยู่อย่างนั้น ย่อมทำการทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ว่าท่านผู้นี้ไม่เป็นภยูปรัต (ยินดีในสิ่งที่เป็นภัย) เพราะปราศจากราคะ ไม่เสพกามเพราะสิ้นราคะอยู่หรือ เมื่อทำการทดสอบในข้อนั้นอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ ไม่เป็นภยูปรัต เพราะปราศจากราคะ ไม่เสพกาม เพราะสิ้นราคะ อยู่จริง ดังนี้

ภิกษุทั้งหลายถ้ามีคนเหล่าอื่นมาถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ท่านมีเหตุผลอย่างไร มีเรื่องที่รู้มาอย่างไร ที่ทำ ให้ท่านกล่าวว่า ท่านผู้นี้ ไม่เป็นภยูปรัต เพราะปราศจาก ราคะ ไม่เสพกามเพราะสิ้นราคะ ดังนี้ เล่า? ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุจะพยากรณ์อยู่โดยชอบ ก็จะพยากรณ์ ว่า “ข้อนี้แน่นอน เพราะว่าท่านผู้นี้ เมื่ออยู่ในหมู่สงฆ์ก็ดี เมื่ออยู่ผู้เดียวก็ดี ซึ่งในที่นั้นๆ ผู้ประพฤติดีก็มี ผู้ ประพฤติชั่วก็มี สอนหมู่คณะอยู่ก็มี บางพวกพัวพันอยู่กับอามิสก็มี บางพวกไม่ติดอามิสเลยก็มี ท่านผู้นี้ ก็หาได้ดูหมิ่นบุคคลนั้นๆ ด้วยเหตุนั้นไม่ อีกทางหนึ่ง ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว ได้รับมาเฉพาะแล้ว จากที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเองว่า “เราไม่เป็นภยูปรัต เราไม่เป็นภยูปรัต เพราะปราศจากราคะไม่เสพกามเพราะสิ้นราคะ ดังนี้”

ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้ ตถาคต เป็นผู้ที่บุคคลพึงสอบถามเฉพาะให้ยิ่งขึ้นไปว่า ธรรมที่เศร้าหมอง ที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ มีอยู่แก่ตถาคตหรือหาไม่? ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายเมื่อตถาคตจะพยากรณ์ ก็จะพยากรณ์ว่า ไม่มี

เมื่อถูกถามว่า ธรรมที่เจืออยู่ด้วยความเศร้าหมอง ที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ มีอยู่แก่ตถาคตหรือหาไม่? ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อตถาคตจะพยากรณ์ก็จะพยากรณ์ว่า ไม่มี

เมื่อถูกถามว่า ธรรมที่ผ่องแผ้ว ที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ มีอยู่แก่ตถาคตหรือหาไม่? ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อตถาคตจะพยากรณ์ ก็จะพยากรณ์ว่าธรรมที่ผ่องแผ้ว ที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุและโสตะ มีแก่ตถาคต ตถาคตมีธรรมที่ผ่องแผ้วนั่นแหละเป็นหนทาง (ปถ) มีธรรมที่ ผ่องแผ้วนั่นแหละเป็นที่เที่ยว (โคจร) แต่ว่า ตถาคตมิได้ เป็น “ตมฺมโย” (ผู้ที่ธรรมอันผ่องแผ้วนั้นสร้างขึ้น) ด้วยเหตุนั้น

ภิกษุทั้งหลายสาวกควรจะเข้าไปหาพระศาสดาผู้มี วาทะอย่างนี้ เพื่อจะฟังธรรม พระศาสดานั้นย่อมแสดงธรรมแก่สาวกนั้น ให้ยิ่งขึ้นไป ให้ประณีตขึ้นไปมีส่วน เปรียบเทียบระหว่างธรรมดำกับธรรมขาว ภิกษุทั้งหลาย พระศาสดาย่อมแสดงธรรมแก่สาวกนั้น ในลักษณะที่เมื่อแสดงอยู่โดยลักษณะนั้น สาวกนั้น เพราะรู้ยิ่งในธรรมนั้น ย่อมถึงซึ่งความแน่ใจเฉพาะธรรมบางอย่าง ในธรรมทั้งหลาย ที่แสดงนั้นย่อมเลื่อมใสในพระศาสดา ว่า “พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธะ พระธรรมเป็นสวากขาตะ สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นสุปฏิปันนะ ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนเหล่าอื่นมาถามภิกษุนั้นอย่าง นี้ว่า ก็ท่านมีเหตุผลอย่างไร มีเรื่องที่รู้มาอย่างไร ที่ทำให้ท่านกล่าวว่า พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธะ พระธรรม เป็นสวากขาตะ สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นสุปฏิปันนะดังนี้ เล่า? ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุ จะพยากรณ์อยู่โดยชอบ ก็จะพยากรณ์ว่า “เพื่อนเอ๋ย! ในเรื่องนี้ เราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อฟังธรรม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่เรานั้น ให้ยิ่งขึ้นไป ให้ประณีตขึ้นไป มีส่วนเปรียบเทียบระหว่างธรรมดำกับธรรมขาว เพื่อนเอ๋ย ! พระศาสดาย่อมแสดงธรรม แก่เรา ในลักษณะที่เมื่อทรงแสดงอยู่โดยลักษณะนั้น เรา เพราะรู้ยิ่งในธรรมนั้น ได้ถึงแล้วซึ่งความแน่ใจเฉพาะธรรมบางอย่าง ในธรรมทั้งหลาย ที่ทรงแสดงนั้น เลื่อมใสแล้วในพระศาสดาว่า “พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธะ พระธรรม เป็นสวากขาตะ สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นสุปฏิปันนะ” ดังนี้”

ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาในตถาคตของท่านผู้ใดก็ตาม เป็นศรัทธาที่ถูกชักโยงแล้วด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ เป็นศรัทธาที่มีมูลรากเกิดแล้ว มีฐานที่ตั้งเกิดแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธานี้ เรากล่าวว่า เป็นศรัทธาที่มีอาการ มีทัสสนะเป็นมูล เป็นศรัทธาที่มั่นคง ที่สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทพก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆก็ตามในโลก จะชักจูงไปไม่ได้

ภิกษุทั้งหลาย การทดสอบโดยธรรมในตถาคต ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ และตถาคตก็เป็นผู้ถูกทดสอบแล้วด้วยดีโดยธรรม ด้วยอาการอย่างนี้ แล

หมายเหตุ : ข้อความข้างบนนี้ มีประโยชน์สำหรับพวกเราทั่วไปที่ไม่มีเจโตปริยญาณที่จะรู้พระหฤทัยของพระองค์ ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะหรือไม่ ก็จะสามารถ มีศรัทธาแน่ใจได้ว่าทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะ ขอให้พยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถึงที่สุดด้วย

อนึ่ง ข้อความเหล่านี้ จะฟังยากสำหรับคนบางคน เพราะพระองค์ทรงใช้คำธรรมดาสามัญให้เล็งถึงพระองค์เอง ราวกะว่าทรงเป็นจำเลยให้สอบสวน

ผู้อ่านจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่นคำว่า “ภิกษุ” เป็นต้น หมายถึงพระองค์เองก็มี(พุทธทาสภิกขุ)

(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น