xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแพคเก็จภาษีกระตุ้น ศก. เลี้ยบประกาศใช้สัปดาห์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอเลี้ยบเตรียมประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ ใช้ 10 มาตรการภาษี ทั้งยืดแวต 7% ยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดา ลดหย่อนหักค่าใช้จ่ายและคงภาษี บจ. 25% พร้อมบี้งบประมาณส่งถึงรากหญ้า สั่ง "กรมบัญชีกลาง-สศค." รวบรวมข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณหน่วยงานต่างๆ ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยเฉพาะกองทุนนอกงบประมาณและ อปท.ที่เบิกจ่ายงบประมาณสูงต้องติดตามการใช้จ่ายจริง พร้อมเดินสายบูมประชานิยม

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คณะทำงานและทีมที่ปรึกษาเสนอ เป็นแพกเก็จการลดภาษี 10 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของรายได้ 1.5 แสนบาทแรก จากเดิมที่กำหนดที่ 1 แสนบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยผู้มีเงินได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีจากเดิมทีมีเงินได้ 1.6 หมื่นบาทต่อเดือน จะไม่เสียภาษี 2.มาตรการช่วยเหลือผู้มีบุตรหรือบิดา มารดาทุพพลภาพ (พิการ) จะอนุญาตให้หักค่าใช่จ่ายส่วนตัวเพิ่มจากปกติที่ 6 หมื่นบาท ได้เพิ่มเป็น 9 หมื่นบาท

3.มาตรการในการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนในส่วนของรายได้ 1 ล้านบาทแรก 4.มาตรการในการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอีในส่วนของกำไร 1.5 แสนบาทแรก จากเดิมรายได้ของเอสเอ็มอี 1 ล้านบาทแรก จะเสียภาษี 15% ส่วนที่เกิน 1-3 ล้านบาท จะเสียภาษี 25% และเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียภาษี 30%

5.ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทจดทะเบียนจากเดิมที่หมดอายุเมื่อสิ้นปีสินค้า 2550 โดยขยายถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 หรืออีก 2 ปี ในการเสียภาษีนิติบุคคลในอัตรา 25% เป็นเวลา 3 รอบบัญชี เพื่อจูงใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ 6.บริษัทจดทะเบียนเดิม จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีจากเดิม 30% เป็น 25% สำหรับกำไรสุทธิไม่เกิน 300 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินให้เสียภาษีอัตรา 30% 7.มาตรการตค่ออายุการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ระดับ 7% ไปอีก 2 ปี นับจากวันที่ 30 กันยายน 2551 เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และหวังว่าจะช่วยให้ประชนเกิดความมั่นใจในการใช้จ่ายมากขึ้น

8.เพิ่มอัตราค่าลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันจาก 5 หมื่นบาทเป็น 1 แสนบาท 9.มาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อเกษียณอายุ (อาร์เอ็มเอฟ)จาก 3 แสนบาทต่อปี เป็น 5 แสนบาทต่อปี และ10.มาตรการปรับโครงสร้างการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปใช้พลังงานทดแทนหรือประหยัดพลังงาน โดยให้นำรายการจากการลงทุนดังกล่าวไปใช้คำนวณภาษีได้ 1.25 เท่าหรือ 125% จากการลงทุนจริง

"ส่วนใหญ่เป็นมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และลดภาระให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก จากการหารือ รัฐมนตรีคลังเห็นด้วย" แหล่งข่าวกล่าวและว่า กระทรวงการคลังยังต้องการใช้มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งโดยประสานงานกับกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับเมกะโปรเจกต์ ในการปรับโครงสร้างระบบขนส่งที่มุ่งระบบรางเป็นหลัก

***บี้งบฯ อปท.ลงสู่ฐานราก
นพ.สุรพงษ์ยังเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เบิกเงินงบประมาณไปแต่ไม่ได้ใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณกลางปี ซึ่งเห็นว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องใช้แนวทางเฉพาะเพิ่มการขาดงบดุลงบประมาณเท่านั้น เนื่องจากยังมีประมาณที่ค้างอยู่อีกจำนวนมากที่ส่วนราชการสามารถนำออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับกองทุนนอกงบประมาณ และงบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการเบิกจ่ายไปมาก แต่ไม่แน่ใจว่าลงไปยังระบบเศรษฐกิจจริงเท่าไหร่แน่ และจะทำอย่างไรให้กระตุ้นให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 51 (ต.ค.50-ม.ค.51) ส่วนราชการเบิกจ่ายไปแล้วจำนวน 551,676 ล้านบาท คิดเป็น 30.4% ของวงเงินงบประมาณ 1.66 ล้านล้านบาท แต่สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความสนใจ คือ เงินจำนวนดังกล่าวมีเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงมากน้อยแค่ไหน โดยให้ติดตามไปที่งบของอปท. ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 25.02% ของรายได้รัฐบาลรวม หรือคิดเป็นเงินถึง 374,049 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามตัวเลขการเบิกจ่ายงบของอปท.ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่า กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้เบิกงบของอปท.ไปแล้วจากกรมบัญชีกลางรวมทั้งสิ้น 63,000 ล้านบาท แต่กลไกในการตรวจสอบว่าเงินจำนวนดังกล่าวได้ลงไปถึง อปท.แต่ละแห่งทั่วประเทศในจำนวนเท่าใดนั้นกลับไม่มี และทำได้ลำบาก เพราะกระทรวงการคลังไม่ได้มีอำนาจในการตรวจสอบบัญชีของ อปท.แต่ละแห่ง ดังนั้นจึงติดตามได้ยาก

"เท่าที่ดูแล้วในบรรดา อปท.ทั้งหลายนั้นกทม.ซึ่งเป็นท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดได้รับงบประมาณจัดสรร จำนวน 45,000 ล้านบาท จะมียอดการใช้จ่ายได้ดีที่สุด ส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ นั้น แม้ว่าได้รับจัดสรรแต่ละแห่งไม่มาก แต่หากเอาเม็ดเงินมารวมกันก็จะพบว่ามีจำนวนมาก หากมีการกระตุ้นให้ใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยในขับเคลื่อนการลงทุนในส่วนของภาครัฐและการจ้างงานในชนบท เพื่อเป็นตัวประคองไม่ให้กำลังซื้อในประเทศตกลงได้" แหล่งข่าวกล่าว

***เดินสายบูมนโยบายประชานิยม
นพ.สุรพงษ์เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้จะเดินทางไปให้นโยบายหน่วยงานที่กำกับดูแลในฐานะรองนายรัฐมนตรี ทั้ง กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กองทุนเอสเอ็มแอล และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) รูปแบบของกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลชุดนี้ จะเป็นการต่อยอดโดยการเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนที่จะสามารถให้โอกาส และการเข้าถึงแหล่งทุน และสร้างรายได้ โดยเน้นหมูบ้านและชุมชนที่มีบทบาทโดยเพิ่มแหล่งทุนเข้าไป

"พบว่า กองทุนหมูบ้านบางแห่งมีเงินหมุนเวียนกว่า 30 ล้านบาท รัฐบาลก็จะเข้าไปสนับสนุนต่อยอดให้ ดังนั้นเรื่องเงินจึงไม่ใช้ปัจจัยสำคัญ รัฐบาลจะเร่งผลักดันองค์ความรู้ กระบวนการจัดการที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ หรือหากหมู่บ้านใดมีการจัดการ หรือองค์ความรู้ที่ดีแล้ว และต้องการเงินทุนเพิ่มเติมรัฐบาลก็พร้อมจะสนับสนุนโดยจะต้องเข้ามาคุยรายละเอียด"

ดังนั้นนโยบายกองทุนหมูบ้านจึงจะไม่ใช่เพียงใส่เงินลงไปเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งผู้รับผิดชอบในเรื่องแหล่งเงินขณะนี้ ยอมรับว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสินก็มีความพร้อม รวมไปถึงธนาคารกรุงไทย ก็มีศักยภาพที่จะช่วยเหลือในเรื่องเครือข่ายองค์ความรู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านได้

"ในเบื้องต้นว่า อยากให้ศึกษารูปแบบตัวอย่างของธนาคารคนจนแกรมมิน ของประเทศบังคลาเทศ ซึ่งสามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสและยากไร้ ประเทศบังคลาเทศได้มาก โดยนำมาเป็นกรณีศึกษาในระดับโลกเพราะแนวคิดธนาคารคนจนแกรมมิน เป็นแนวคิดของผู้ที่ได้รับการยอมรับและเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล ในเรื่องของการพัฒนาด้วย"

ขณะที่กองทุนเอสเอ็มแอล ยอมรับว่า จะต้องมาคิดกันว่า ทำอย่างไรไม่ให้เป็นเพียงการให้เงินเปล่าเท่านั้น เพื่อให้ชุมชนเข้าถึงสาธารณูปโภค หรือโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนโยบายนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะว่าที่ผ่านมาเป็นการเน้นกระบวนการมากกว่า ขณะที่เนื้องบประมาณจะต้องนำไปสู่การพัฒนาให้เป็นกระบวนการพัฒนาชุมชน ขณะเดียวกันก็จะต้องมาศึกษานโยบายกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน-ชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลที่แล้ว ที่เน้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงด้วย โดยเฉพาะงบประมาณที่รัฐบาลที่แล้ว เห็นชอบให้อัดฉีดเงินให้ชุมชน 5,000 ล้านบาท ใน 2 ปี เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อครหาของการใช้เงิน ตรงนี้จะต้องมาสำรวจทฤษฎีนี้อีกครั้ง ขณะเดียวกันยังไม่ได้ดูไปถึงขั้นว่า จะเปลี่ยนชื่อนโยบายของรัฐบาลที่แล้ว จากยุทธศาสตร์กินดีอยู่ดี หรือ
**ทบทวนมติขิงแก่ยุบเลิกเอสเอ็มแอล นโยบายอยู่ดีมีสุข ไปเป็นชื่ออะไร

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า รัฐบาลสมัคร 1 ยังเตรียมศึกษาคำสั่งให้ยุติโครงการ เอสเอ็มแอลของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยอาจจะมีการทบทวนมติ ครม.นี้ หลังจากที่รัฐบาลที่แล้วมีคำสั่งยุติโครงการ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบการใช้เงิน เพราะที่ผ่านมา งบเอสเอ็มแอลได้กระจายลงในหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ รวมแล้วกว่า 8 หมื่นหมู่บ้าน มีเอกสารที่เกี่ยวกับโครงการกว่า 1 ล้านแผ่น และเอกสารบางส่วนสูญหายไป ไม่สามารถติดตามกลับคืนได้ จึงทำให้ตรวจสอบไม่ได้ และทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์สั่งยุติโครงการเอสเอ็มแอล ไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ.50.

**ถกสบร.เดินหน้าแยกTCDC
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะหารือร่วมกับผู้บริหารสำนักงานบริหาร และพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) เกี่ยวกับสถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (สรส.) ที่เกิดจากการควบรวมศูนย์สร้างสรรค์ งานออกแบบ หรือ ทีซีดีซี กับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ เอ็นดีเอ็มไอ เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานให้ชัดเจนโดยหลักการแล้วต้องแยกการทำงานของ ทีซีดีซี ออกจาก เอ็นดีเอ็มไอ ให้ชัดเจนเพราะมีลักษณะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะ ทีซีดีซี เป็นเรื่องของการพัฒนาความคิดในเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่สามารถนำการทำงานไปรวมกับสถาบันพิพิธภัณฑ์ ฯ ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดเก็บดูแลรักษาไม่ได้คิดค้นหรือพัฒนาความคิดใหม่ๆ

ทั้งนี้ เห็นว่า ปัจจุบันประเทศต้องการแนวความคิดในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อนำมาพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ยังต้องพึ่งพาการส่งออกมาถึง 73% จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่จะคิดค้นหรือพัฒนาแนวความคิดเพื่อให้สินค้าราคาถูก หรือแรงงานราคาถูก นั้นหมดไป เพราะการจะแยกออกมาเหมือนเดิมก่อนหน้าจะมีการควบรวมกันหรือไม่ ต้องหารือกับ สรส. ให้ชัดเจนก่อน รวมทั้งต้องกำหนดนโยบายในการเดินหน้า ทีซีดีซี และสถาบันพิพิธภัณฑ์ ฯ ให้ชัดเจนต่อไป ส่วนกรณีปัญหาเรื่องเงินเดือนของอดีตผู้อำนวยการ ทีซีดีซี ซึ่งในปัจจุบันได้เข้ามาเป็นเลขานุการฯ ของตนเองในตำแหน่งรองนายกฯ นั้นจะเข้าไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ ได้สั่งการให้ยุบรวมทีซีดีซี กับสถาบันพิพิธภัณฑ์ฯ เป็น สรส. และจะย้ายที่ทำการจากเดิมที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า ดิเอ็มโพเรียม ไปยังจามจุรี สแควร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงปลายปีนี้ ก่อนที่ทีซีดีซีจะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ในเดือนพ.ค.51

ด้าน พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพน ผู้อำนวยการสรส. ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 51 เคยระบุว่า ต้องรอฟังนโยบายทั้งหมดจากระดับนโยบายให้ชัดเจนก่อนว่า จะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการย้ายพื้นที่ของ ทีซีดีซี ว่าจะให้คงไว้ที่เดิมหรือไม่ โดยตนเองพร้อมที่จะเข้าไปชี้แจงผลการศึกษาความคุ้มค่าในแต่ละสถานที่ เพื่อให้การตัดสินใจครั้งสุดท้ายรอบคอบมากที่สุด

**ชี้ 1 อำเภอ 1 ทุนให้ผลต่ำ
นายสมพงษ์ จิตระดับ
อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณลงทุนที่สูงมาก แต่ผลตอบรับที่ตอบกลับมาให้สังคมค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการดำเนินโครงการในรุ่นที่ 1-2 รัฐบาลไม่ได้หาแนวทางรองรับสำหรับเด็กที่จบมาแล้วว่า หากจบมาแล้วจะทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นของตนเองได้อย่างไร

ขณะเดียวกันสาขาวิชาที่ส่งให้เด็กไปศึกษาต่อ ก็มีความเข้มข้นน้อย เนื่องจากให้เด็กเป็นผู้เลือกคณะและประเทศที่ต้องการเอง โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ และความต้องการของประเทศ เช่น ส่งนักเรียน 1 ทุน 1 อำเภอ จำนวนประมาณ 40-50 คน ไปเรียนคณะบริหารการโรงแรมที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทั้งที่ ประเทศไทยสามารถจัดการเรียนการสอนด้านนี้ได้ดีกว่า นอกจากนั้นก็ไม่มีการติดตามผลการดำเนินงานที่จริงจังเพียงพอ

“โครงการ 1 ทุน 1 อำเภอที่ผ่านมา มาตรฐานค่อนข้างย่อหย่อน และขาดการเอาจริงเอาจัง เด็กที่ไปเรียนจะรู้สึกเพียงว่าตัวเองสมหวังตามความต้องการที่อยากไปเรียนในต่างประเทศ แต่จะไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนเท่าใดนัก ดังนั้น การให้ทุนจึงควรมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าจะส่งไปในสาขาและประเทศใดบ้าง เพื่อให้นักเรียนได้นำความรู้กลับมาใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นของตนเองได้ ไม่ใช่เปิดกว้างเกินไปอย่างที่ผ่านมา มิเช่นนั้นจะเป็นโครงการประชานิยมที่สร้างภาพ และคุณภาพการบริหารจัดการที่ตกต่ำ”

**เชื่อฟื้นหวยบนดิน โปะ 1 ทุน 1 อ.
นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลปัจจุบันยืนยันที่จะสานต่อโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอในรุ่นที่ 3 ก็ควรที่จะศึกษาถึงข้อดี และข้อเสีย รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการในรุ่นที่ 1-2 เพื่อมาพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับปรุงในส่วนใดบ้าง ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณที่จะนำมาสนับสนุนโครงการนั้นไม่น่ามีปัญหา เพราะมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะต้องรื้อฟื้นสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว กลับมา และนำมาเงินมาใช้กับโครงการนี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลสรรหาคณะกรรมการที่จะคัดเลือกผู้มารับทุนให้เหมาะสม อย่าให้ตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง เพราะคนเหล่านี้จะพร้อมปฏิบัติตามความต้องการของนักการเมือง และจะส่งผลให้เด็กที่ได้รับทุนไม่ใช่เด็กที่ยากจนจริงๆ จะกลายเป็นเด็กทุนตัวปลอมที่แย่งโอกาสคนอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น