xs
xsm
sm
md
lg

คนหุ้นจี้ธปท.เปิดช่องลงทุนตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงการหุ้นกระทุ้งแบงก์ชาติ อย่าคิดจำกัดความเสี่ยงแทนนักลงทุนจนเกินไป เชื่อมีนักลงทุนที่มีความรู้พร้อมไปลงทุนหาผลตอบในต่างประเทศเยอะ "ก้องเกียรติ" เผยก.ล.ต.หนุนเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุน ติดแบงก์ชาติยังไม่ไฟเขียว เดินหน้าจี้ยกเลิก 30% ย้ำผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ได้ในทุกสถานการณ์ ด้านผู้บริหาร ระบุอย่ามองแค่บาทแข็งเท่านั้นชี้ในที่สุดจะเข้าสู่ภาวะสมดุลได้เอง เชื่อเงินนอกจ่อลงทุนเพิ่มหากปลดล็อกกฎเหล็ก
ประเด็นการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ถูกมานำใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์กว่า 108 จุดภายในวันเดียว โดยเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายต่อผลที่จะตามมาในเชิงของการลงทุนจากเม็ดเงินต่างประเทศที่หยุดชะงักจนถึงปัจจุบันยังมีเงินทุนอีกมากที่ยังไม่กล้าเข้ามาลงทุนหากยังไม่มีการยกเลิกมาตรการดังกล่าว ขณะเดียวกันยังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบที่จะตามมาหากมีการประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าวในตอนนี้
คำถามที่เกิดขึ้นในวงการตลาดทุนในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมาหลังพรรคการเมืองทั้งฟากรัฐบาลและฟากฝ่ายค้านนำนโยบายทางเศรษฐกิจมาหาเสียงกับประชาชน โดยเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ ความเห็นต่อการยกเลิกมาตรการดังกล่าว แต่จนแล้วจนรอดหลังจากตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ จนมาถึงการตั้งคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ เรื่องดังกล่าวยังคงไม่สามารถสร้างความชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคตลาดทุนได้ว่าจะมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวหรือไม่ และหากจะมีการยกเลิกจะเกิดขึ้นเมื่อใด
นอกเหนือจากคำถามต่อมาตรการ 30% แล้วนั้น คำถามต่อนโยบายเกี่ยวกับการอนุญาตให้นักลงทุนไทยมีอิสระพอที่จะสามารถนำเงินที่พร้อมจะลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศยังเป็นเรื่องที่ถูกนำขึ้นมาเป็นหัวข้อในการสนทนาหลายครั้ง เนื่องจากปัจจุบันยังมีข้อจำกัดมากมายที่ปิดกั้นอิสระทางการเงินของนักลงทุน โดยเฉพาะท่าทีของหน่วยงานที่กำกับดูแลที่ยังเลือกที่จะคิดแทนนักลงทุนมากกว่าการเปิดให้นักลงทุนได้หาประสบการณ์จากการลงทุนเพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้มีมากขึ้น
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า มาตรการกันสำรอง 30% ที่ถูกนำใช้เพื่อแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนเห็นได้ชัดว่าแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะถูกนำใช้เพื่อสกัดการไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทแต่การแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคไม่ได้ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินอื่นๆในภูมิภาคเลยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการสร้างเกาะป้องกันเพื่อไม่ให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศทั้งทางตรง หรือไหลเข้ามาลงทุนในภาคตลาดเงิน ตลาดทุน อย่างรุนแรงจนกระทบต่อเสถียรภาพของเงินบาทนั้นสร้างความรู้สึกไม่มั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนรวมถึงความรู้สึกถึงความไม่เป็นมิตรของประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ ผลจากการเข้ามาดูแลในเรื่องดังกล่าวจนเกินความจำเป็นของธปท.โดยเน้นแต่การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าอย่างรุนแรง ด้วยเหตุที่กลัวว่าจะกระทบต่อการส่งออกซึ่งถือได้ว่าหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย แต่หากมองในมุมตรงกันข้าม การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลทำให้ต่อต้นทุนสินค้านำเข้าลดลงอย่างมาก หลายอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของค่าเงินบาท ซึ่งหากนำประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวมาต่อยอดทั้งการเร่งการเพิ่มการลงทุน นำเข้าสินค้าเครื่องจักรเพื่อขยายการลงทุน จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางด้านการแข่งขันได้อีกมาก
"หากไม่ยอมปล่อยให้ผู้ประกอบการเร่งสร้างศักยภาพเพิ่มขึ้นให้กับตัวเอง สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับธุรกิจ โดยอาศัยแต่การเข้าไปช่วยเหลือดูแลสุดท้ายภาคธุรกิจจะกลายเป็นกลุ่มที่เสียโอกาสในการลงทุนไปเอง"ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยกล่าว
นายก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้เคยมีการหารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเพิ่มช่องทางในการลงทุนให้กับนักลงทุนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเลือกที่จะไปลงทุนยังต่างประเทศได้โดยตรง ซึ่งในหลักการแม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความเสี่ยงจากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจค่อนข้างมาก แต่หากไม่เปิดทางเลือกให้นักลงทุนที่มีความพร้อมและศักยภาพเพียงพอในการหาผลตอบแทนจากลงทุนในต่างประเทศก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ทำให้ในปัจจุบันนักลงทุนไทยยังไม่สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกอย่างที่ควรจะเป็นแม้ว่าหน่วยงานที่ดูแลจะมีการเปิดช่องทางให้ลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เนื่องจากความเห็นที่ต่างกันของนักลงทุนกับผู้อนุมัติอย่างธปท.ที่กังวลว่านักลงทุนจะได้รับผลกระทบจากความไม่เข้าใจเนื่องจากยังไม่มีความรู้อย่างแท้จริงที่จะลงทุนในต่างประเทศ
"คนที่พร้อมและสามารถจะไปลงทุนในต่างประเทศได้ เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะอย่างน้อยต้องเป็นกลุ่มที่มีเงินถึงพร้อมจะลงทุน เราไม่ควรจะไปคิดแทนนักลงทุน ไม่ควรจะมองว่าถึงความเสี่ยงแทน เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมาจริงก็สามารถยกเลิกได้"นายก้องเกียรติกล่าว
ด้านผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า แม้ว่ายังไม่มีใครจะรู้ได้ว่าหลังการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือนข้างหน้าค่าเงินบาทและภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร เนื่องจากการคาดเดาการไหลเข้าออกของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในสภาวะที่ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของโลกยังไม่นิ่งทำได้ยาก
ทั้งนี้ มีการประเมินจากนักเศรษฐศาสตร์บางรายที่คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าแตะระดับ 31 บาทต่อดอลลอร์สหรัฐฯ และจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุลในเวลา 6 เดือนหลังจากนั้น ประเด็นดังกล่าวอาจจะสร้างความกังวลใจให้กับผู้ส่งออกที่ได้รับเงินจากดำเนินธุรกิจเป็นดอลลาร์เพราะหลังจากการแปรค่าเงินก็จะทำให้ได้รับเงินที่เป็นเงินบาทในจำนวนที่น้อยลง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง แต่ผลจากการแข็งค่าที่ทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าอาจจะยิ่งทำให้ภาคธุรกิจเร่งลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงที่รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ได้ รวมทั้งเป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการที่กู้เงินดอลลาร์จะใช้โอกาสในการจ่ายคืนหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยค้างจ่าย
"การปลดล็อคการลงทุนถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น หน่วยงานที่ดูแลจะต้องเร่งสั่งการเพื่อกระตุ้นการลงทุนให้มากขึ้น ขณะที่ต้องเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยสามารถลองไปลงทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลโดยตรง คือ แบงก์ชาติ ที่จะต้องเร่งพิจารณาก่อนที่จะเสียโอกาสในการลงทุน"แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น