xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อมรางรถไฟสายแรกหนองคาย-เวียงจันทน์ เปิดการขนส่งลาวสู่ประเทศลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองคาย-ไทย – ลาว ทำพิธีเชื่อมต่อรางรถไฟระหว่างประเทศสายแรก แห่งภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทางการลาวชูทางรถไฟหนองคาย-เวียงจันทน์เป็นก้าวแรกแห่งการพัฒนาประเทศลาวสู่การบริการคมนาคมขนส่ง รองรับการขยายตัวและการลงทุนของประเทศต่าง ๆ ในลาวมากขึ้น ขณะที่ผู้ว่าฯหนองคายชี้เป็นการเริ่มต้นการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ เชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งทางบกที่จะทำให้ไทยได้เปรียบในการส่งออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อค่ำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่กลางสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ได้มีการประกอบพิธีเชื่อมต่อรางรถไฟสายหนองคาย – ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว ) โดยฝ่ายไทยมีนายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเจด็จ มุสิกวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ฝ่ายลาวนำโดยท่านสมมาตร พลเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ดร.สินละวง คุดไพทูน เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ พร้อมคณะตัวแทนจากฝ่ายไทยและฝ่ายลาว ทั้งหน่วยงานราชการและนักธุรกิจของทั้งสองประเทศร่วมประกอบพิธีเชื่อมต่อรางรถไฟสายประวัติศาสตร์ครั้งนี้

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างทางรถไฟบนสะพานมิตรภาพไทย – ลาว สายหนองคาย – ท่านาแล้ง ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากรัฐบาลไทยจำนวน 197 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนเงินดังกล่าว ร้อยละ 30 เป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ส่วนอีกร้อยละ 70 เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2549 เป็นต้นมา กำหนดเวลาก่อสร้าง 18 เดือน ตามแผนการจะต้องแล้วเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 24 เมษายน 2551 ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินมากว่าร้อยละ 90

ดร.สมปอง พลเสนา รองหัวหน้าห้องการ องค์การรถไฟลาว กล่าวว่า การเชื่อมต่อรางรถไฟในครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญเพราะเป็นมิติแห่งประวัติศาสตร์ของการเชื่อมต่อทางรถไฟแห่งพันธมิตรไทย-ลาว ทางรถไฟสายนี้ไม่เพียงแค่ส่งเสริมการค้า การขนส่ง การท่องเที่ยว ระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ กับจังหวัดหนองคายเท่านั้น ยังเป็นการขยายการคมนาคมทางรถไฟในระดับอาเซียนที่มีความสำคัญต่อภูมิภาค สร้างความสะดวกสบายแก่ประชาชนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงแห่งนี้ สามารถไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนสินค้ากันและกันได้ดียิ่งขึ้น

การเชื่อมต่อทางรถไฟไทย – ลาว จะเป็นการพัฒนาการคมนาคมขนส่งของนครหลวงเวียงจันทน์ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จะทำให้ประเทศลาวเป็นประเทศที่ให้บริการการคมนาคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และในอนาคตจะเป็นฐานรองรับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัย สิ่งสำคัญทางรถไฟสายนี้จะสามารถสร้างเงื่อนไขดึงดูดการลงทุนในประเทศลาวให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย – ลาว และนานาประเทศในภูมิภาคนี้ให้ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆในอนาคต

ดร.ดุสิต ปราโมทย์จีน รองประธานกรรมการบริษัท เอสทีเอสเอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายสะพานมิตรภาพ-ท่านาแล้ง บ้านดงโพสี เมืองหาดทรายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายสะพานมิตรภาพ-ท่านาแล้ง เป็นโครงการระยะแรกของโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟจากหนองคายถึงเวียงจันทน์ สปป.ลาว นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟผ่านทวีปเอเชีย (Trans Asian Railway) ขององค์การสหประชาชาติ ผู้สนับสนุนเงินทุนมาจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ซึ่งมูลค่าสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษา 8,893,000 บาท มูลค่าสัญญาก่อสร้าง 185,743,100.64 บาท และมูลค่าบริหารโครงการโดยองค์การทางรถไฟลาว 2 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีบริษัทเสริมสงวนก่อสร้างจำกัดแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยมีบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างซึ่งประกอบด้วย บริษัทเอสทีเอสเอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์จำกัด ร่วมกับบริษัท แปซิฟิคคอนซัลแทนส์อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) จำกัด และรัฐวิสาหกิจวิศวกรรมคมนาคมแห่งสปป.ลาว ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์และก่อสร้าง องค์การทางรถไฟลาว

ในปี พ.ศ.2544 บริษัทที่ปรึกษาได้ออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรมของโครงการก่อสร้างทางรถไฟตั้งแต่สะพานมิตรภาพถึงสถานีท่านาแล้ง ความยาว 3.5 กิโลเมตร เสร็จเรียบร้อยด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย ผ่านทางการรถไฟแห่งประเทศไทย จากนั้นในปี พ.ศ.2547 รัฐบาลแห่ง สปป.ลาว ได้เซ็นสัญญารับการช่วยเหลือทางด้านการเงินจากรัฐบาลไทย โดยผ่านทางสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ในมูลค่า 197 ล้านบาท ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่า ส่วนอีกร้อยละ 70 เป็นเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำมาก่อสร้างโครงการ

สำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายมิตรภาพ-ท่านาแล้ง จะมีการก่อสร้างทางรถไฟตั้งแต่กึ่งกลางสะพานมิตรภาพถึงท่านาแล้ง เมืองหาดทรายฟอง ระยะทางยาว 3.5 กม. รวมทั้งระบบสัญญาณและโทรคมนาคม ก่อสร้างท่อสี่เหลี่ยมระบายน้ำขนาด 3 แถว พร้อมอุโมงค์ลอดทางรถไฟ 1 แห่ง ก่อสร้างสถานีผู้โดยสาร 1 หลัง ก่อสร้างร้านอาหาร อาคารสำนักงาน เรือนพักพนักงาน 2 ชั้น 1 หลัง ก่อสร้างซุ้มพนักงานกั้นทางรถยนต์ตัดกับทางรถไฟ 2 ซุ้ม ก่อสร้างถนนเข้าสถานีรถไฟท่านาแล้งยาว 1 กม.พร้อมที่จอดรถ ระบบระบายน้ำย่านสถานีรถไฟ และติดตั้งระบบไฟฟ้า น้ำประปา และไฟส่องทางบริเวณสถานี

ดร.ดุสิต กล่าวอีกว่า การก่อสร้างที่ดำเนินการเสร็จแล้วนั้นประกอบด้วย งานดิน งานเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าเข้าย่านสถานี งานโครงสร้าง ได้แก่ ท่อระบายน้ำสี่เหลี่ยม อุโมงค์ถนนลอดใต้ทางรถไฟ ส่วนงานวางรางบนทางถาวรและอัดหินโรยทาง ดำเนินการไปแล้วประมาณ 1 กม.

สำหรับงานที่กำลังดำเนินการในขณะนี้เป็นงานก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในย่านสถานี การเรียงหมอนคอนกรีต และวางรางบนหมอนคอนกรีต และอัดหินโรยทางในส่วนที่เป็นทางถาวรและย่านสถานี งานเตรียมการวางรางบนสะพานและเชิงลาด งานปรับความลาดเอียงของคันทางตามทางถาวรและบริเวณย่านสถานี รวมทั้งปลูกหญ้าเพื่อป้องกันดินพังตามลาดเอียง

งานถนนเข้าสู่สถานีรวมทั้งลานจอดรถ งานเตรียมการก่อสร้างระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับข้อจำกัดด้านราคาค่าก่อสร้างตามสัญญา โดยตกลงกับการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ระบบอาณัติสัญญาณเป็นระบบที่เรียบง่ายใช้มือ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกตามความจำเป็นที่สามารถจัดหาได้จากการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่จะวางแผนให้เป็นระบบอัตโนมัติสมบูรณ์แบบในอนาคต โดยจัดเตรียมตำแหน่งของอุปกรณ์เครื่องมือไว้ในอาคารสถานีแล้ว

นอกจากนี้ จะมีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) อยู่บนสะพานมิตรภาพเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในการสัญจรทั้งทางรถยนต์และทางรถไฟ ส่วนระบบโทรคมนาคมจะใช้ระบบสายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Communication) ที่ทันสมัยเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหนองคาย

ในการปฏิบัติงานคู่ขนานไปกับโครงการนี้องค์การรถไฟลาวได้ประสานงานกับแผนกคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์และก่อสร้าง และกสิกรรมป่าไม้ ประจำนครหลวงเวียงจันทน์ เขตปกครองเมืองหาดทรายฟอง และบ้านดงโพสี ในการบุกเบิกเขตสถานี โยกย้ายสิ่งกีดขวางออกจากแนวทางรถไฟ เมืองได้จัดสรรที่ดิน และองค์การทางรถไฟลาวได้ใช้งบประมาณของรัฐชำระค่าโยกย้ายบ้านเรือนให้ประชาชนบ้านดงโพสี 3 ครอบครัว มูลค่า 15 ล้านกีบ และได้มอบข้าวสารเจ้า จำนวน 8.41 ตัน ซึ่งใช้เงินงบประมาณชดเชยของรัฐ มูลค่า 24,390,800 กีบ จัดซื้อ มอบชดเชยให้แก่ประชาชน 8 ครอบครัวของบ้านดงโพสีที่มีแปลงนาถูกแนวทางรถไฟตัดผ่าน

ส่วนในปีงบประมาณ 2550-2551 องค์การรถไฟลาวได้ตั้งแผนชดเชยที่ดินของประชาชนบ้านดงโพสี จำนวน 26 แปลง รวมเนื้อที่ 9,893 ตารางเมตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 197,860,000 กีบ เมื่อโครงการฯนี้เสร็จจะเป็นโครงการซึ่งประวัติศาสตร์จะได้จารึกว่าเส้นทางรถไฟของทั้งสองประเทศได้ต่อเนื่องกันแล้ว และเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกที่เกิดขึ้นในประเทศลาว ยังความภาคภูมิใจแก่ประชาชนทั้งสองประเทศที่จะใช้เป็นประตูต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา และประเทศจีนในที่สุด

นอกจากนี้ในส่วนของรัฐบาล สปป.ลาว เองยังได้มีการเตรียมพื้นที่รอบ ๆ สถานีรถไฟท่านาแล้ง ในการจัดทำศูนย์ธุรกิจการค้าครบวงจร ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมในเรื่องการค้า และการท่องเที่ยว ที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง

นายเจด็จ มุสิกวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า หากเส้นทางเดินรถไฟไทย –ลาว ประเดิมสายแรก หนองคาย – ท่านาแล้ง เสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้วนั้น ต้องพยายามให้สินค้าต่าง ๆ อยู่บนรางมากกว่าบนถนนจะมีแผนลอจิสติกส์อย่างเป็นระบบ โดยจะต้องเน้นการขนส่งประหยัดพลังงาน การเชื่อมต่อระบบขนส่ง กล่าวคือ สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟหนองคาย-ท่านาแล้ง มายังหนองคายแล้วขนส่งสินค้าด้วยรถไฟไปถึงท่าเรือ ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้ท่าเรือของไทยเป็นGateway ของอินโดจีนไปยังประเทศที่ 3 ในแถบยุโรป หรืออเมริกา และอื่น ๆ ที่ต้องการได้ ประกอบกับการขนส่งทางรถไฟนั้นประหยัดพลังงานกว่าถนนถึง 5 เท่า
กำลังโหลดความคิดเห็น