หนองคาย -ทางรถไฟระหว่างประเทศหนองคาย-ท่านาแล้ง ก้าวแรกของการขนส่งสินค้าและบริการทางราง ไทยวางระบบลอจิสติกส์ขนส่งสินค้าเป็นระบบใช้ประโยชน์ท่าเรือแหลมฉบัง นำสินค้าจากลาวและแถบอินโดจีนสู่ประเทศที่ 3 คาดเปิดใช้เป็นทางการไม่เกินพฤษภาคมนี้
นายเจด็จ มุสิกวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างทางรถไฟหนองคาย-ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) ว่า การดำเนินการก่อสร้างด้านอาคารสถานที่ในขณะนี้คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 80 แล้ว บริษัทที่รับผิดชอบสามารถเดินหน้าโครงการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในลำดับต่อไปจะเน้นการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของลาวในการขับรถ เรียนรู้ระบบการทำงาน และการให้บริการแก่ประชาชน
ในการอบรมเจ้าหน้าที่ลาว จะนำมาฝึกอบรมที่สถานีรถไฟหนองคาย เพื่อให้เรียนรู้ ณ สถานที่จริงและฝึกปฏิบัติ รวมถึงอาจจะไปศึกษาดูงานต่างจังหวัดด้วย
อย่างไรก็ตาม ในด้านการตรวจบุคคลเข้าออกประเทศ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองมีความเป็นห่วงถึงการลักลอบเข้าออกประเทศอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งจะหาทางแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ไว้คอยตรวจสอบร่วมกับเอกสารที่ออกให้เพื่อป้องกันปัญหา เช่นเดียวกับมาตรการในการป้องกันควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคทั้งในคน สัตว์ และพืช รวมถึงการลักลอบการค้าสัตว์สงวน และสัตว์คุ้มครองมาในขบวนรถไฟ
ในประเด็นดังกล่าวทั้งไทยและลาวจะต้องหามาตรการป้องกันร่วมกันให้เป็นระบบ ซึ่งหลังเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้วจะให้บริการประชาชนก่อนจึงจะขยายการให้บริการขนส่งสินค้า
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลลาว ในการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างสถานีหนองคาย-ท่านาแล้ง ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ในวงเงิน 185 ล้านบาท โดยแบ่งความช่วยเหลือออกเป็น 2 ส่วน คือ การให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าร้อยละ 30 และเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนร้อยละ 70 ของงบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นโดยมอบให้กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ
ภายหลังที่คณะผู้แทนไทยและลาวได้พิจารณาร่วมกันได้ปรับวงเงินประมาณการค่าใช้จ่ายโครงการเพิ่มเป็น 197 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมจำนวน 12 ล้านบาท โดยเป็นค่าระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม 1 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาในการควบคุมงานก่อสร้าง 9 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ 2 ล้านบาท
การรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์การรถไฟลาว ได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือแก่องค์การรถไฟลาว ด้วยการคัดเลือกที่ปรึกษาโครงการ, จัดทำขอบเขตการดำเนินงานของที่ปรึกษา, ให้ความช่วยเหลือด้านประสานงานกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, จัดทำข้อตกลงเดินรถร่วมไทย-ลาว และให้ความช่วยเหลือด้านการจัดฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การรถไฟลาว เมื่อได้เริ่มการก่อสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์การรถไฟลาวได้จัดตั้งคณะทำงานด้านต่าง ๆ
เช่น งานด้านโยธา งานด้านระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และการแก้ไขข้อตกลงเดินรถร่วม โดยคณะทำงานดังกล่าวมีการหารือในรายละเอียดต่างๆ และเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเปิดทำการเดินรถได้ทันตามกำหนดเวลา ซึ่งคาดว่าทางรถไฟหนองคาย – ท่านาแล้ง จะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้
นายเจด็จ กล่าวอีกว่า หากเส้นทางเดินรถไฟไทย-ลาว ประเดิมสายแรก หนองคาย-ท่านาแล้ง เสร็จ และเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้วนั้น ต้องพยายามให้สินค้าต่างๆ อยู่บนรางมากกว่าบนถนนจะมีแผนลอจิสติกส์อย่างเป็นระบบ โดยจะต้องเน้นการขนส่งประหยัดพลังงาน การเชื่อมต่อระบบขนส่ง กล่าวคือ สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟหนองคาย-ท่านาแล้ง มายังหนองคายแล้วขนส่งสินค้าด้วยรถไฟไปถึงท่าเรือ ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง
โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้ท่าเรือของไทยเป็นGateway ของอินโดจีนไปยังประเทศที่ 3 ในแถบยุโรป หรือ อเมริกา และอื่นๆ ที่ต้องการได้ ประกอบกับการขนส่งทางรถไฟนั้นประหยัดพลังงาน ประหยัดกว่าถนนถึง 5 เท่า