ศูนย์ข่าวขอนแก่น-มูลนิธิน้ำฯร่วมสื่อท้องถิ่น นำร่องเปิดเวทีถกโครงการผันน้ำโขงสู่อีสาน ระบุเป็นเรื่องดีหากสามารถแก้ปัญหาน้ำได้จริง แต่รัฐบาลต้องศึกษาผลกระทบรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นพื้นที่อีสานขาดแคลนน้ำจริงหรือไม่ อย่ามองแค่น้ำบนผิวดินไม่พอใช้ น้ำบาดาลยังใช้ไม่เต็มที่ ขณะที่การผันน้ำในแม่น้ำนานาชาติขึ้นมาใช้ไม่ใช่ปัญหา แค่ยื่นขออนุญาตกรรมการแม่น้ำโขงสูบน้ำช่วงน้ำหลาก
ที่อาคารแก่นนคร ออฟฟิศพาร์ค ริมบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ร่วมกับหนังสือพิมพ์อีสานบิชวีค ได้จัดเสวนาโต๊ะกลมในประเด็น”ผันน้ำโขงสู่อีสาน ความฝันหรือความจริง”ขึ้น โดยเป็นเวทีนำร่องให้เกิดการแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นปัญหาน้ำในภาคอีสาน และถกถึงความเป็นไปได้ในโครงการผันน้ำโขงตามแนวคิดของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีได้เปิดประเด็นไว้
นายสมคิด สิงสง ประธานเครือข่ายภาคีประชาชนลุ่มน้ำโขง ชี มูล กล่าวถึงแนวคิดลงทุนในโครงการผันน้ำโขงเข้ามาใช้ในพื้นที่เกษตรในภาคอีสานของนายสมัครว่า ยังเป็นการกล่าวอ้างโดยภาพกว้างๆที่ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการ หากโครงการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสานได้จริงก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก่อนอื่นรัฐบาลจะต้องมีข้อมูล มีความชัดเจนมากกว่านี้ ที่สำคัญก่อนจะดำเนินการต้องศึกษารายละเอียดผลกระทบรอบด้านที่ชัดเจน และโปร่งใส
การศึกษาต้องทำประชาพิจารณ์กับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างเปิดเผย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง จะต้องไม่คิดแทนชาวบ้านผู้ใช้น้ำ ไม่เช่นนั้นหากเกิดผลกระทบด้านลบขึ้นมา ชาวบ้านในพื้นที่จะเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งการแก้ไขปัญหาน้ำในภาคอีสานพูดกันมานานแต่ไม่สามารถจัดการได้สำเร็จที่เป็นรูปธรรม
“นอกจากโครงการผันน้ำโขงเข้ามาใช้ในพื้นที่อีสานแล้ว รัฐบาลต้องมองด้วยว่ายังมีวิธีการอื่นไหมที่สามารถทำและแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายเหมือนโครงการดังกล่าว เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคิดให้รอบด้าน”นายสมคิดกล่าวและระบุต่อว่า
โครงการผันน้ำโขงตามที่นายสมัครพูดถึง หากจะเป็นประโยชน์กับชาวอีสานจริงๆ พวกเราไม่สนใจว่าจะต้องใช้งบประมาณลงทุนกี่มากน้อย เพราะหลายโครงการที่รัฐบาลไทยลงทุนไปนั้นใช้งบมากมายมหาศาล งบลงทุนผันน้ำโขงที่อยู่ระดับแสนล้านบาทนั้น อาจถือว่าน้อยนิดด้วยซ้ำหากเกิดประโยชน์ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวอีสานในอนาคต
นายโยธิน วรารัศมี เลขามูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต แสดงความเห็นว่า ณ ขณะนี้มูลนิธิน้ำฯยังไม่สรุปว่าเห็นด้วยหรือไม่กับโครงการผันน้ำโขงของรัฐบาล เพราะนายสมัครไม่ได้พูดถึงรายละเอียดวิธีการว่าจะผันเข้ามาทางจุดไหน ความยาวอุโมงค์เท่าใด และจะเก็บน้ำไว้ที่ใดบ้างเพื่อจ่ายไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆในภาค
ก่อนหน้านี้ มูลนิธิน้ำฯเคยศึกษาการจัดทำธนาคารน้ำโดยผันน้ำโขงจากจังหวัดเลยลงสู่น้ำพอง เก็บกักไว้ที่เขื่อนอุบลรัตน์ ทั้งนี้ ได้เสนอผลการศึกษาโครงการดังกล่าวต่อรัฐบาลทั้งในสมัยที่นายชวน หลีกภัย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯและล่าสุดสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ ก็เคยเสนอแต่เรื่องก็เงียบหายไป ซึ่งไม่ทราบว่าโครงการผันน้ำโขงของนายสมัครกรอบแนวคิดตรงกับโครงการที่มูลนิธิน้ำฯศึกษาไว้หรือไม่ คงต้องรอให้รัฐบาลแถลงรายละเอียดโครงการให้ชัดเจนก่อน
ด้านตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ แสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน แต่มีคำถามว่าหากผันน้ำโขงขึ้นมาแล้วจะเก็บกักน้ำไว้ที่ไหน และจ่ายน้ำให้ทั่วถึงกลุ่มผู้ต้องการใช้น้ำ และต้องตอบให้ได้ก่อนว่า แท้จริงแล้วชาวอีสาน โดยเฉพาะเกษตรกรมีความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำจริงหรือไม่ เพราะอยู่กันมาเป็นร้อยๆปีพี่น้องชาวอีสานก็ยังสามารถทำนา ปลูกพืชได้ ประเด็นเหล่านี้ต้องศึกษาให้ชัดเจน
นอกจากนี้ น้ำบาดาลในพื้นที่อีสานยังมีอยู่จำนานมาก สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ไม่สิ้นสุด ไม่อยากให้มองแค่ว่าปริมาณน้ำบนผิวดินขาดแคลนเท่านั้น ต้องสอบถามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ชัดเจนก่อน ที่สำคัญต้องศึกษาในเชิงลึกว่าปมปัญหาการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งในภาคอีสาน แท้จริงแล้วเกิดจากปัญหาใดกันแน่ ประเด็นเหล่านี้ไม่ควรด่วนสรุป
ขณะที่ ดร.จงกล พิมพ์วาปี นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน และในฐานะคณะทำงานในอนุกรรมการแม่น้ำโขง กล่าวถึงประเด็นการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาใช้ในแผ่นดินไทยในเขตภาคอีสานว่า หากจะผันน้ำขึ้นมาใช้จริงก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะในข้อตกลงของคณะกรรมการแม่น้ำโขงระบุว่าประเทศสมาชิก คือ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องนำเรื่องเข้าสู่การอนุมัติในที่ประชุม และต้องผันน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งในแม่น้ำโขงระดับน้ำมีปริมาณมาก