xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางใบแดง "ยุทธตูเย็น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจาก คณะอนุกรรมการสอบสวนกรณีทุจริตเลือกตั้งจ.เชียงราย ที่มีนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ เป็นประธาน ได้สรุปความเห็นเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน และประธานรัฐสภาแล้ว

ตามระเบียบสืบสวนสอบสวนฯ คณะอนุกรรมการฯ ก็จะต้องเสนอเรื่องผ่านเลขาธิการ กกต. เพื่อมีความเห็น จากนั้นเลขาธิการ กกต.จะเสนอต่อประธาน กกต. ให้บรรจุระเบียบวาระให้ที่ประชุม กกต. พิจารณา ซึ่งในการพิจารณาของกกต. ก็ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นยืนตามคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน หรืออาจให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนสืบเพิ่มเติมได้

อย่างไรก็ตาม หาก กกต. มีความเห็นยืนตามคณะอนุกรรมการฯ กกต. ก็ไม่สามารถมีความเห็นให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) กับนายยงยุทธได้ แต่ต้องเป็นความเห็นว่า นายยงยุทธ สมควรถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) เท่านั้น หลังจากนั้นก็เสนอเรื่องให้ศาลฏีกาตัดสิน ตามมาตรา 110 และ 111 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ต่อไป

หากศาลฎีการับคำร้อง นายยงยุทธ ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าทันที จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำร้อง แต่ถ้าศาลมีคำพิพากษา เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายยงยุทธ ตามที่ กกต.เสนอ นายยงยุทธ ก็จะพ้นจากสมาชิกภาพการเป็นส.ส. ทันที พร้อมทั้งถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แล้วแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีทราบ

ทั้งนี้ในการพิจารณาของศาลฎีกานั้น แม้ระเบียบวิธีพิจารณาคดีเลือกตั้งของศาลฎีกาจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาว่า ทั้งกระบวนการจะแล้วเสร็จเมื่อใด แต่ในระเบียบก็ใช้คำว่า "โดยเร็ว" ซึ่งในส่วนฝ่ายปฏิบัติของ กกต.นั้นมีการประเมินว่าทุกคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับการเลือก ตั้งเมื่อศาลฎีการับไว้พิจารณาแล้วน่าจะใช้เวลาพิจารณาจนเสร็จสิ้นทั้งกระบวนการไม่เกิน 1 เดือน

เนื่องจากนายยงยุทธ เป็นส.ส.ระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 1 เมื่อพ้นสมาชิกสภาพความเป็นส.ส.สัดส่วนแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 109 (2) กำหนดว่า ในกรณีที่เป็นตำแหน่งส.ส.แบบสัดส่วนว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในเขตเลือกตั้งนั้น เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งในกรณีนี้ ผู้สมัคร ส.ส. สัดส่วนที่อยู่ในบัญชีลำดับที่ 6 ของพรรคพลังประชาชน ที่จะได้เลื่อนขึ้นมา ก็คือนายถาวร ตรีรัตน์ณรงค์

**ขั้นตอนการยุบพรรค

จากนั้น กกต.ก็จะพิจารณาตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ เพื่อพิจารณาว่า พรรคมีส่วนรู้เห็นปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว ไม่ยับยั้ง หรือแก้ไข หรือไม่ เพราะจากการกระทำของนายยงยุทธ ที่ในขณะกระทำผิดมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค ที่ถือว่าเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือไม่ ซึ่ง ตามมาตรา 103 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้นระบุว่า หากพรรครู้เห็นต่อการกระทำการดังกล่าว ให้ถือว่า พรรคการกระทำการนั้นเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ที่ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ถือเป็นเหตุให้นายทะเบียนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรคได้ และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หัวหน้าพรรค และ กรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง

-----------------

ขณะเดียวกันเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายยงยุทธ กกต.ก็ต้องมาดำเนินการตาม มาตรา 103 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง เนื่องจากขณะที่เกิดการกระทำความผิด นายยงยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งถือว่าเป็น 1 ในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค โดยตามมาตรา 103( 2) บัญญัติว่า ถ้าการกระทำของบุคคลดังกล่าวปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้น กระทำการให้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ กกต.ดำเนินการตาม พ.ร.บ. พรรคการเมือง เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองนั้น และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค

และหากคำพิพากษาของศาลฎีกาที่จะออกมามีความชัดเจนว่า หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพลังประชาชนคนอื่นมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วไม่ยับยั้งแก้ไข ก็อาจเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมือง โดยความเห็นของ กกต. เสนอเรื่องต่อไปยังอัยการสูงสุดตาม มาตรา 95 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองได้เลย เพราะถือว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ชี้ชัดแล้วว่า พรรคพลังประชาชน กระทำการที่เป็นการเข้าข่าย มาตรา 94 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ ตาม (1) คือ เมื่อพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ กระทำการตามที่รัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อได้ให้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการดังกล่าว (2) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือระเบียบหรือประกาศของ กกต. ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม

โดยตามมาตรา 95 พ.ร.บ.พรรคการเมือง เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้งจาก กกต. พร้อมหลักฐาน แล้วก็ต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว

แต่ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายทะเบียนฯ ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากนายทะเบียน และผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ในกรณีที่คณะทำงาน ดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้งคณะทำงาน ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจยื่นคำร้องเอง

แต่ถ้าคำพิพากษาศาลฎีกาที่ออกมา กกต.ยังเห็นว่า ไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรครู้เห็นเกี่ยวข้อง ปล่อยปละละเลย หรือรู้เห็นเกี่ยวกับการกระทำนั้นแล้วไม่ยับยั้ง ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาเช่นเดียวกับที่ในขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคถูก กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และเมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสร็จ ก็ต้องสรุปความเห็นเสนอต่อ กกต. ซึ่งหา กกต. มีความเห็นว่าจากพยานหลักฐานต่าง ๆ สมควรเสนอให้มีการยุบพรรคพลังประชาชน ก็จะดำเนินกระบวนตามที่ระบุในข้างต้น

ส่วนในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตามมาตรา 97 ของ พ.ร.บ. พรรคการเมือง ก็ระบุว่า ในกรณีพรรคการเมืองต้องยุบ เพราะเหตุอันเนื่องจากฝ่าฝืน มาตรา 94 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถุกยุบไป จะจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ทั้งนี้ภายในกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นต้องยุบไป

และในมาตรา 98 ก็ระบุว่า การยุบพรรคตาม มาตรา 94 หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนร่วม รู้เห็น ปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำดังกล่าวแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไขการกระทำดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

แต่ทั้งนี้กระบวนการยุบพรรคพลังประชาชนจะเร็วหรือช้า ยังขึ้นอยู่กับว่า การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ตาม มาตรา 204 ของรัฐธรรมนูญด้วย เพราะในบทเฉพาะกาล มาตรา 300 กำหนดว่า ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 เป็นศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญยัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานศาลฎีกา เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ผู้พิพากษาในศาลฎีกา หรือ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ที่ได้รับเลือกมาตาม มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 49 ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้ แต่ต้องไม่เกินกว่า 150 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้งส.ส. เป็นการทั่วไปครั้งแรก ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น