xs
xsm
sm
md
lg

ครป.ลั่นตรวจสอบ"ครม.หมัก" เตือนอย่ายก"วาระแม้ว"เหนือ"วาระชาติ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครป.สนับสนุนให้"แม้ว"กลับไทยเพื่อสู้คดี แนะ"เหลิม"ทำมาตรฐานเดียวกับ "หญิงอ้อ" เตรียมตั้งโต๊ะประเมินผลงาน"ครม.หมัก" เตือนอย่าให้"วาระแม้ว"อยู่เหนือ"วาระชาติ" ด้านกกต. ชี้ "กม. 7 ชั่วโคตร" มีใช้ทุกประเทศ หากคนเข้ารับตำแหน่งไม่มีผล ประโยชน์ทับซ้อน ก็ไร้ปัญหา

วานนี้ (10ก.พ.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย( ครป.) กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับมาสู้คดี ว่า ถือเป็นเรื่องดีที่จะกลับมาพิสูจน์ความผิดของตนเองในกระบวนการยุติธรรม และขอเรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่ายหยุดเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมือง อย่าโยนหินถามทาง สร้างความสับสนให้กับประชาชน เพราะไม่มีใครออกมาขัดขวางการกลับเข้าประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็แต่งตั้งร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรมว.มหาดไทย ด้วยมือตนเอง ก็ควรจะไว้วางใจในการทำหน้าที่อารักขาความปลอดภัยด้วย

"หากพ.ต.ท.ทักษิณ กลับเมืองไทยในช่วงกลางเดือนก.พ. นี้ ก็มีคำถามว่ากลับมาแล้วจะต้องเหมือนการกลับมาของ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร หรือไม่ ซึ่งหากกลับมา ก็อยากให้ใช้มาตรการเดียวกันกับคุณหญิงพจมาน และรมว.มหาดไทย จะต้องให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย"

นายสุริยะใส กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ครม.ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนได้เห็นท่าทีของ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวงได้ประสานเสียงที่จะปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะที่ปัญหาของประเทศ และปัญหาของประชาชนกลับเป็นเรื่องมาทีหลัง ซึ่งน่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลชุดนี้ เพราะกำลังจะเอาวาระทักษิณ มาเป็นวาระประเทศ

"รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า พ.ต.ท.ทักษิณ แม้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีคนชื่นชอบไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันได้ตั้งข้อกังขา และสงสัยในพฤติกรรมการใช้อำนาจมิชอบในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี ประการสำคัญรัฐบาลต้องยอมรับว่า อีกสถานะหนึ่งนั้นพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ตกเป็นผู้ต้องหา เป็นจำเลยในชั้นศาล การดำเนินการใดๆของนายกฯ และรัฐมนตรี จะต้องระมัดระวังไม่เป็นการแทรกแซงชี้นำกระบวนการยุติธรรม อย่าให้สังคมสงสัยว่ารัฐบาลชุดนี้จะใช้อำนาจทางการเมืองบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เพราะอาจเกิดการต่อต้านจากประชาชนได้"

นายสุริยะใส ยังกล่าวถึงการพบกันของอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า ไม่มีเจตนาต่อต้านรัฐบาล หรือเพราะกลัวการถูกเช็คบิล พวกเรายืนยันจะให้โอกาสและให้เวลารัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่ และเราพร้อมสนับสนุนนโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพื่อคนๆ เดียว

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าไม่เกิน 5 เดือนรัฐบาลจะถูกตรวจสอบจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสื่อ ฝ่ายค้าน และพันธมิตรฯ จะติดตามและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ภายใน 4-5 เดือน โดยโดยจะตั้งกลไกตรวจสอบนอกสภา โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนของรัฐบาล ซึ่งเป็นไปได้ว่ารัฐบาลนี้จะนำเอานโยบายในรูปแบบเก่าๆ ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมาใช้ในรัฐบาลนี้ โดยไม่ทิ้งรูปแบบเดิม นอกจากนี้ยังจะตรวจสอบการอนุมัติเมกะโปรเจกต์ ของแต่ละโครงการ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า 9 สายว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และพวกพ้องหรือไม่ ยืนยันว่าพันธมิตรฯ จะไม่โจมตีหรือกีดขวางการทำงานของรัฐบาลอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามพันธมิตรฯ จะหารือกันในเบื้องต้นก่อน เพื่อจะประเมินผลงานการทำงานของรัฐบาล แต่จะไม่เป็นในรูปแบบการชุมนุม แต่จะเป็นการเปิดเวทีอภิปรายให้ประชาชนได้รับทราบการทำงานของรัฐบาล

**"กม. 7 ชั่วโคตร"ไม่ใช่ปัญหา

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านบริหารการเลือกตั้ง ในฐานะอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวถึงการที่รัฐธรรมนูญ กำหนดห้ามไม่ให้ ส.ส.เข้ามาดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ว่า การกำหนดห้ามดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์ ส่วนตัวคิดว่าขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่ต้องใช้ดุลพินิจเอาเองว่า จะส่งส.ส.ให้ไปดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองหรือไม่ เพราะถ้าหากมีคนร้องเรียนขึ้นมา ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตีความหาข้อยุติ

ส่วงนเรื่องที่รัฐมนตรี รวมทั้ง ส.ส. กังวลว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ซึ่งอาจเข้าข่าย ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือ "กฎหมาย 7 ชั่วโคตร" นั้น ในหลักการของรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ไม่ต่างจาก รัฐธรรมนูญปี 40 เพราะรัฐมนตรี คู่สมรส รวมถึงบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเช่นกัน แต่ที่ต่างกันคือ รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้ ส.ส. และ ส.ว. ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยเท่านั้น

ทั้งนี้ในส่วนที่โต้เถียงกันคือ เรื่องการขัดกันของระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมนั้น ก็อยู่ในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่รัฐธรรมนูญต้องการคือ คนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

"กฎหมายมาตรานี้ถือเป็นหลักการปกติ มีทุกประเทศ เพื่อ ป้องกันไม่ให้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น ดังนั้นคนที่เข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองเป็นปกติไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และเข้ามาโดยสุจริตก็ไม่มีปัญหา"
กำลังโหลดความคิดเห็น