“ประพันธ์” ยันข้อดี กม.7 ชั่วโคตร หากนักการเมืองเข้ารับตำแหน่งไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความสุจริตก็ไร้ปัญหา ติงรัฐบาลอย่าเสียเวลากฤษฎีกาตีความ ส.ส.รับตำแหน่งการเมืองได้หรือไม่ ชี้ ข้อยุติส่งศาล รธน.ตีความ
วันนี้ (10 ก.พ.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้งในฐานะอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวถึงการที่รัฐธรรมนูญ กำหนดห้ามไม่ให้ ส.ส.เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า การกำหนดห้ามดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นความเห็นทางข้อกฎหมาย และกำลังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ส่วนตัวคิดว่าขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่ต้องใช้ดุลพินิจเอาเองว่าจะส่ง ส.ส.ให้ไปดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองหรือไม่ เพราะถ้าหากมีคนร้องเรียนขึ้นมาศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตีความ
“เรื่องนี้แม้คนยกร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาจะให้ความเห็นอย่างไร ก็ถือว่ายังไม่เป็นที่ยุติ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ยึดติดคนร่าง ดังนั้น หากจะให้เป็นที่ยุติต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน”
ส่วนการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา นายประพันธ์ กล่าวว่า ที่สุดแล้วผลของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตัดสินอย่างไร ทั้งนี้ หากไม่มีผู้ร้องเรียน ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถตีความได้ แต่ถ้ามี ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 ของสภายื่นเรื่องร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือร้อง ต่อ กกต.ให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อนั้นข้อถกเถียงนี้ก็จะเป็นที่ยุติ
นายประพันธ์ ยังกล่าวถึงการที่รัฐมนตรี รวมทั้ง ส.ส.กังวลว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงานป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งขาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งอาจเข้าข่ายร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือกฎหมาย 7 ชั่วโคตร ว่า เรื่องในหลักการของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ก็ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะรัฐมนตรี คู่สมรส รวมถึงบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเช่นกัน แต่ที่ต่างกันคือ รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้ ส.ส.และ ส.ว.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยเท่านั้น ทั้งนี้ ในส่วนที่โต้เถียงกัน คือ เรื่องการขัดกันของระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมนั้น ก็อยู่ในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่รัฐธรรมนูญต้องการ คือ คนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน
ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่า การที่เนื้อรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนี้ เพราะต้องการสกัดกั้นนักการเมืองบางคนเป็นพิเศษ นายประพันธ์ กล่าวว่า กฎหมายมาตรานี้ถือเป็นหลักการปกติ มีทุกประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น ดังนั้น คนที่เข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองเป็นปกติไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และเข้ามาโดยสุจริตก็ไม่มีปัญหา