xs
xsm
sm
md
lg

เดลต้ากับการแข่งขันเพื่อเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจ Power Supply

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

เดิม Power Supply เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจน้อย เนื่องจากมีภาพลักษณ์ว่าเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ แต่ปัจจุบันได้มีความสนใจเกี่ยวกับ Power Supply มากขึ้น โดยเฉพาะความสนใจที่จะพัฒนา Power Supply ให้มีขนาดเล็กและประหยัดพลังงาน และปัจจุบันมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นเพื่อเป็นอันดับ 1 ของโลก

Power Supply Unit (PSU) นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันอุปกรณ์ไฟฟ้าของบ้านเราจะเสียบเข้ากับปลั๊กที่มีแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับ 220 โวล์ต

อย่างไรก็ตาม วงจรของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปต้องการไฟฟ้ากระแสตรงและมีแรงดันต่ำ เป็นต้นว่า กรณีของเครื่องคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนต่างๆ ต้องการแรงดันไฟฟ้าแตกต่างกัน ชิพไมโครโพรเซสเซอร์อาจจะต้องการไฟฟ้า 3.3 โวลต์ วงจรไฟฟ้าภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ต้องการแรงดัน 5 โวลต์ ขณะที่ Hard Disk Drive และพัดลมภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ต้องการแรงดัน 12 โวลต์

จากปัญหาข้างต้น จำเป็นต้องมี Power Supply ประเภท AC/DC Adapter เพื่อทำหน้าที่แปลงกระแสไฟฟ้าสลับให้เป็นกระแสตรง รวมถึงแปลงกำลังไฟฟ้าให้มีขนาดที่เหมาะสมกับความต้องการของวงจรภายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ เรายังใช้ Power Supply ประเภทอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้นว่า Battery Charger ทำหน้าที่ชาร์จแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ โดยแปลงพลังงานไฟฟ้าจากกระแสสลับ 220 โวลต์ มาเป็นไฟฟ้ากระแสตรงในความดันในระดับที่เหมาะสมสำหรับการนำมาชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อเก็บสำรองพลังงาน

เดิมเทคโนโลยีจะเป็น Linear Power Supply ซึ่งมีลักษณะเป็นขดลวด อุปมาอุปไมยคล้ายคลึงกับบัลลาสแบบแม่เหล็กของหลอดนีออน มีข้อดี คือ ต้นทุนการผลิตถูก มีความเรียบง่าย แต่มีข้อเสียสำคัญ คือ มีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก ความร้อนสูง และมีประสิทธิภาพในด้านพลังงานต่ำ คือ 20 - 75%

ปัจจุบันเราหันมานิยมใช้เทคโนโลยี Switching Power Supply ซึ่งอุปมาอุปไมยเหมือนกับบัสลาสแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีข้อดี คือ มีขนาดเล็กกว่าและประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงกว่า คือ 50 - 90% โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันในท้องตลาดปัจจุบันจะเป็นแบบ Switching Power Supply เป็นสัดส่วนสูงถึง 75% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 80% ในปี 2553

สำหรับการวิจัยและพัฒนาในด้าน Power Supply ในปัจจุบันได้มุ่งเน้นเพิ่ม Power Density กล่าวคือ เพื่อเพิ่มกำลังไฟฟ้าเปรียบเทียบกับขนาดเพิ่มขึ้น เพื่อให้ Power Supply มีขนาดเล็ก ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้ามีขนาดเล็กตามไปด้วย

นอกจากนี้ ยังได้วิจัยและพัฒนาเพื่อให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยในอดีตประมาณปี 2535 การที่ Power Supply มีประสิทธิภาพ 50% ถือว่ามีประสิทธิภาพใช้ได้ แม้ว่าไฟฟ้าจะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์มากถึงครึ่งหนึ่งก็ตาม แต่ต่อมาประมาณปี 2547 หากถือว่าใช้ได้จะต้องมีประสิทธิภาพตั้งแต่ 70% ขึ้นไป สำหรับปัจจุบันมีการตื่นตัวเพิ่มประสิทธิภาพของ Power Supply มากขึ้นไปอีก โดยผู้ผลิตได้ร่วมมือก่อตั้งองค์กรชื่อ 80 Plus เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเป็นมากกว่า 80%

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่ากรณีเป็น Power Supply สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป จะจำหน่ายควบคู่กับเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยผู้ผลิต Power Supply จะจำหน่ายแก่ผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง จากนั้นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะนำไปรวมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง เพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง

ตัวอย่างหนึ่ง คือ กรณีซื้อโทรศัพท์มือถือ จะได้อุปกรณ์ Power Supply ซึ่งเป็นเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มาด้วย หรือซื้อคอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊ก จะได้รับ Power Supply ในรูป AC/DC Adaptor มาด้วย ไม่ต้องซื้อเพิ่มแต่อย่างใด โดยผู้บริโภคจะซื้อ Power Supply ก็ต่อเมื่อ Power Supply ที่ติดกับมากับโทรศัพท์มือถือเสียหรือสูญหายเท่านั้น

ปัจจุบันฐานการผลิต Power Supply ของโลกกระจุกตัวในประเทศจีน โดยเป็นทั้งบริษัทต่างชาติ บริษัทร่วมลงทุน และบริษัทท้องถิ่นของจีน เป็นจำนวนมากถึง 3,000 บริษัท มีตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก เป็นที่น่าสังเกตว่าอุตสาหกรรมผลิต Power Supply นับว่ามีการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากมีผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยจำนวนมาก ในปี 2550 ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด 15 รายแรกของโลก จะมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเพียง 37%

อุตสาหกรรมผลิต Power Supply มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบ่อยครั้ง เดิมในปี 2542 บริษัท Lucent นับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่บริษัท Lucent ไม่สนใจธุรกิจ Power Supply เท่าใดนัก และได้ขายกิจการเฉพาะในส่วน Power System ออกไปเมื่อปี 2543 ทำให้บริษัทเดลต้าซึ่งเดิมเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก ล่าสุดบริษัท Emerson ของสหรัฐฯ ได้ขยายกิจการ โดยซื้อกิจการบริษัทต่างๆ มากมาย จนกลายเป็นผู้ผลิต Power Supply รายใหญ่ที่สุดของโลก

จากสถิติเมื่อปี 2549 สรุปได้ว่าบริษัท Emerson นับเป็นผู้ผลิต Power Supply รายใหญ่ที่สุดของโลก มีรายได้ประมาณ 2,560 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีส่วนแบ่งตลาดโลกประมาณ 10%สำหรับผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก คือ บริษัทเดลต้าของไต้หวัน/ไทย มีส่วนแบ่งตลาดโลกประมาณ 7.5%

สำหรับผู้ผลิตรองลงมาอีก คือ บริษัท Schneider Electric ของฝรั่งเศส บริษัท Lite-On Technology ของไต้หวัน บริษัท Eaton Powerware ของสหรัฐฯ และบริษัท TDK/Lambda ของญี่ปุ่น

สำหรับกรณีของประเทศไทย ผู้ผลิต Power Supply รายใหญ่ คือ บริษัท เดลต้าอิเล็กโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อปี 2531 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2538 ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท คือ กลุ่มเดลตรอนโฮลดิ้ง จำกัด ของไต้หวัน

บริษัทเดลต้ามีฐานการผลิตสำคัญ 2 แห่งในประเทศไทย คือ ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ มุ่งเน้นผลิต Power Supply และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ และฐานการผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เน้นการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น EMI Filter โดยในปี 2549 บริษัทแห่งนี้มีรายได้รวม 43,554 ล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมาบริษัท เดลต้าอิเล็กโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นับเป็นฐานการผลิตนอกประเทศจีนที่สำคัญของกลุ่มเดลตรอนโฮลดิ้ง สำหรับ Power Supply ที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากนัก สำหรับใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องแฟกซ์ เครื่องเล่นเกม โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจส่วนนี้มีส่วนต่างของกำไรต่ำ และต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าของประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ บริษัทเดลต้าได้ซื้อกิจการแผนก Ascom Energy Systems Business Unit จากบริษัท Ascom AG ของสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2546 ในราคา 4,000 ล้านบาท รวมถึงรับหนี้สินอีก 800 ล้านบาท เพื่อให้ได้รับเทคโนโลยี Power Supply ที่ใช้เทคโนโลยีในระดับสูง โดยเฉพาะประเภทที่ใช้ไฟฟ้ากำลังสูงสำหรับอุปกรณ์สื่อสาร โทรคมนาคม และเครื่องมือแพทย์ จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อกิจการที่ซื้อมาเป็นบริษัท Delta Energy System จำกัด

สำหรับฐานการผลิตของบริษัทในยุโรป ตั้งอยู่ที่เมือง Nova Dubnica ในประเทศสโลวาเกีย โดยลงทุนก่อสร้าง 22 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้ก่อสร้างโรงงานเสร็จและเปิดดำเนินการเมื่อปี 2550 ปัจจุบันมีพนักงาน 600 คน ทำการผลิต 2 ผลัด โรงงานแห่งนี้เน้นผลิต Power Supply สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Server และอุปกรณ์โทรคมนาคม

โรงงานแห่งนี้ยังรับผิดชอบผลิต Power Supply ประเภท Inverter สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยทำหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงซึ่งผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับในระดับแรงดันที่ต้องการ จากนั้นจะส่งผ่านเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าต่อไป

อนึ่ง เดิมกิจการในยุโรปภายหลังซื้อกิจการมาแล้ว ได้ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทเดลต้าได้พยายามแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่ โดยค่อยๆ ยกเลิกฐานการผลิต Power Supply ที่ประเทศเยอรมนี โดยย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังประเทศไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องผลิตจำนวนมากในลักษณะ Mass Production และบางส่วนได้ย้ายไปยังประเทศสโลวาเกียที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ดังนั้น บริษัทได้คาดหวังว่ากิจการในยุโรปจะเริ่มมีกำไรตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

บริษัทเดลต้าได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2533 โดยในช่วงเริ่มต้น ฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัท ได้มุ่งที่การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตเป็นหลัก และด้วยการสนับสนุนและความร่วมมืออันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีของทีมวิศวกรฝ่ายวิจัยและพัฒนาจากบริษัทในเครือที่ไต้หวัน

จากการซื้อกิจการของ Ascom Energy Systems ยังทำให้บริษัทเดลต้าได้รับบุคลากรที่มีคุณภาพสูงด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นถึง 150 คน รวมถึงได้รับสิทธิบัตรในการผลิตมากกว่า 150 ประเภท นับว่าได้ช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของบริษัทเป็นอย่างมาก

จากการทุ่มเทในด้านวิจัยและพัฒนาข้างต้น บริษัทเดลต้าของไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัท มีมูลค่าสูงถึง 1,717 ล้านบาท ในปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% เมื่อเทียบกับยอดขายรวมของบริษัท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5% ในอนาคตอันใกล้นี้

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น