อาจไม่ใช่โครงการมูลค่าแสนล้านที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของคนไทยรากหญ้าให้ลืมตาอ้าปาก และอาจไม่ใช่โครงการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีขั้นสูงที่ทำให้ประเทศชาติได้เชิดหน้าชูตาในสังคมโลก แต่บนพื้นที่ยอดเขาของเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ฟาร์มกังหันลมจำนวน 45 ตัวที่ติดตั้งอยู่อย่างมั่นคงบนเสาเหล็กความสูง 18 เมตร และอาคารอนุรักษ์พลังงานรูปทรงปลากระเบนกำลังเป็นสิ่งที่ช่วยให้ชุมชนเกาะล้านสามารถ 'อยู่ได้' ในยามคับขันจากภาวการณ์ต่างๆ และเป็นการ 'อยู่ได้' ที่อาศัยภูมิปัญญาผนวก เข้ากับการพัฒนาพลังงานสะอาดมาหล่อเลี้ยงชุมชนอย่างยั่งยืนด้วย
งบประมาณ 84 ล้านบาทของเมืองพัทยา กับการได้มาซึ่งฟาร์มกังหันลม และอาคารอนุรักษ์พลังงานรูปทรงปลากระเบนนี้ ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภายใต้การนำของ ดร.วิรชัย โรยนรินทร์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี กังหันลม ดีกรีปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Northumbria ประเทศอังกฤษ ซึ่ง ดร.วิรชัยเปิดเผยว่า 'โครงการก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ให้กับเกาะล้าน เมืองพัทยาเป็นโครงการระดับประเทศที่มีการริเริ่มมานานแล้วครับ ตั้งแต่ผมยังเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเมื่อผมสำเร็จการศึกษากลับมา ก็ได้รับเชิญให้เข้าเป็น ที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยให้คำปรึกษาทางหลักวิชาการ ตลอดจนการออกแบบ กังหันลมเบื้องต้นเพื่อให้เหมาะสมกับลมในประเทศไทย โดยได้แนะนำว่ากังหันลมที่ใช้ควรมีขนาดเล็กลงเพื่อความสะดวกในการขนย้ายและติดตั้ง (ขนย้ายโดยทางเรือ และนำ ขึ้นไปติดตั้งบนยอดเขาของเกาะล้าน) เมื่อมีการสรุปแบบเบื้องต้น ทางเมืองพัทยาจึงได้ประกาศขายซองประมูลแก่บริษัทที่สนใจ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้มีการติดต่อไปทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าสามารถดำเนินการแทนภาคเอกชนได้หรือไม่ แต่ทางจุฬาฯ ก็ปฏิเสธไป เนื่องจากไม่มีทีมงานและผู้เชี่ยวชาญ ทางหัวหน้าแขวงเกาะล้านจึงได้ติดต่อมาทางผมว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีสามารถดำเนินการเองได้หรือไม่ ซึ่งในจุดนี้ ผมเห็นว่าเป็นโครงการที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมทั้งเป็นสาขาที่ผมมีความเชี่ยวชาญโดยตรง จึงตอบตกลงครับ'
เมื่อโครงการมีผู้สานต่อ ฟาร์มกังหันลมขนาด 200 กิโลวัตต์นี้จึงได้ถือกำเนิดขึ้น และได้เชื่อมต่อเข้ากับระบบสายส่งหลักของการไฟฟ้า โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ที่ความ เร็วลมประมาณ 3 เมตรต่อวินาที ส่วนกำลังการผลิตของกังหันลมแต่ละตัวจะอยู่ที่ 4.45 กิโลวัตต์ที่ความเร็วลมประมาณ 13 เมตรต่อวินาที โดยกังหันลมจะมีชุด Inverter ทำหน้าที่ ปรับแรงดันและความถี่ให้เข้ากับสายส่งหลักด้วย และด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกังหันลม ดร.วิรชัยจึงได้ออกแบบให้มีระบบรักษาความปลอดภัยในกรณีที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองด้วย
'ความแข็งแรงของกังหันลมต้องมีอยู่แล้วครับ เพราะผมเป็นวิศวกร เราทำงานโดย คำนึงถึงหลักทางวิศวกรรม วัสดุที่ใช้ก็ต้องเป็นของดี แข็งแรง จึงจะมีประสิทธิภาพ และเราได้ติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่าไว้ 2 จุดเพื่อความปลอดภัยเบื้องต้น ส่วนกังหันลมก็มีระบบรักษาความปลอดภัยในตัวเอง โดยเมื่อเจอกับพายุใหญ่ หัวกังหันจะเชิดขึ้น เพื่อหลีก เลี่ยงการปะทะ และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วยครับ'
แม้จะเป็นกังหันลมฝีมือคนไทย แต่ความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าก็ไม่ด้อย ไปกว่าชาติอื่นที่มีแรงลมใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยความเร็วลมเฉลี่ย ณ เกาะล้านอยู่ที่ 4-5 เมตรต่อวินาที กังหันลมแต่ละตัวจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ที่ 25-30 กิโลวัตต์ ซึ่งหาก มีลมต่อเนื่องประมาณ 10 ชั่วโมง ก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 200 หน่วยทางไฟฟ้า และสามารถลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล) ลงได้ถึงวันละประมาณ 200 ลิตรเลยทีเดียว
แต่ด้วยรูปแบบวิถีชีวิตของชาวเกาะล้านที่คุ้นเคยกับการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาปั่นไฟ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายกับการมาถึงของ 'เพื่อนใหม่' อย่างฟาร์มผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ในจุดนี้ ดร.วิรชัยชี้แจงว่า
'ผมมองว่าพลังงานทุกรูปแบบมีความคุ้มค่าอยู่ในตัวเอง อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันในรูปแบบไหนครับ ในกรณีของฟาร์มกังหันลม เราเจอคำถามถึงความคุ้มค่าในการลงทุนค่อน ข้างบ่อย ซึ่งสำหรับผมแล้ว คำตอบก็คือ คุ้มครับ เพราะเราได้กระแสไฟฟ้ามาจากธรรมชาติ ฟรีๆ เป็นพลังงานสะอาด มันไม่ได้ใช้พลังงานอะไรมาผลิตตัวมัน ไม่ต้องอาศัยพลังงานเชื้อเพลิงจากแหล่งอื่น'
'หากถามกลับว่าการใช้น้ำมันดีเซลมาผลิตกระแสไฟฟ้าแบบที่เกาะล้านใช้อยู่ใน ตอนนี้เป็นเรื่องที่คุ้มค่าหรือเปล่า คำตอบคือไม่คุ้ม แต่คนส่วนมากไม่ถามเพราะเป็นสิ่งที่ใช้กันมานานและมีความคุ้นเคยมากกว่า รวมถึงมันมีการซื้อขายในเชิงพาณิชย์ แต่พลังงานลม เราไม่ต้องซื้อเลยแม้แต่น้อย และเราลงทุนครั้งเดียวแลกกับการผลิตกระแสไฟฟ้าได้นานนับ 20 ปี ซึ่งในจุดนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้นครับ'
'ผมมองถึงประโยชน์ที่ชุมชมจะได้รับจากโครงการนี้ในแง่ของการใช้พลังงานอย่าง ยั่งยืน และตอนนี้มนุษย์กำลังเผชิญปัญหาโลกร้อน ซึ่งถ้าหากเราหันมาใช้พลังงานสะอาด มากขึ้น ก็จะช่วยลดปัญหาที่จะตามมาในอนาคตได้อีกทางหนึ่งครับ ที่สำคัญ โครงการนี้ เราไม่ได้ทำในเชิงพาณิชย์ และไม่ใช่เป็นแค่ศูนย์ผลิตไฟฟ้า แต่มันจะเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยว กับการนำพลังงานลมมาใช้งานจริงสำหรับผู้ที่สนใจครับ นอกจากนั้น ในส่วนของนักศึกษา ที่มีส่วนร่วมกับโครงการ เขาก็สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอด และใช้ประโยชน์ได้ใน การทำงานด้วยครับ'
ด้านสุริยา แก้วเขียว วิศวกรโยธา 7 วช. หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เข้ามาดูแลโครง-การดังกล่าวเสริมด้วยว่า 'ในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า งบด้านการวิจัยและพัฒนาของเขา ค่อนข้างสูงมาก ขณะที่ประเทศไทยมีงบประมาณให้ค่อนข้างน้อย ในจุดนี้เราต้องเข้าใจในความเป็นนักวิจัย การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์สักอย่างให้สำเร็จอาจต้องอาศัยเวลาและงบประมาณ รวมถึงอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ โครงการนี้ก็เช่นกัน หากมองในแง่การให้โอกาส และการวิจัยก็ยังต้องอาศัยเวลา และงบประมาณในการพัฒนาต่อยอดอีกมาก น่าเสียดายที่บางครั้งเราก็ให้โอกาสคนไทยด้วยกันเองค่อนข้างน้อย เวลานักวิจัยไทยจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง คนไทยจะคาดหวังว่าต้องสำเร็จเท่านั้น ถ้าไม่ดี ไม่สำเร็จ มักมีเสียง ต่อว่าตามมา ว่าเสียดายงบประมาณบ้างล่ะ ซื้อจากต่างประเทศดีกว่าบ้างล่ะ จึงอยากให้เราให้โอกาสคนไทยด้วยกันได้มีพื้นที่สำหรับพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้นด้วยครับ'
ด้านจีรวัฒน์ ชัยยะ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ของ มทร.ธัญบุรี หนึ่งใน นักศึกษาที่ทำงานภายใต้โครงการดังกล่าวเปิดเผยว่า ในหลักสูตรของวิศวกรรมศาสตร์จะเน้นเรื่องของพื้นฐานทางวิศวกรรมไม่มีการเจาะจงเรียนในเรื่องของกังหันลมแต่อย่างใด เมื่อได้มามีส่วนร่วมในโครงการนี้จึงทำให้ได้สัมผัสกับเทคโนโลยีสะอาดจากการปฏิบัติงานจริง
'การได้เข้าร่วมในโครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากมายที่มีความทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยให้เราฝึกการประยุกต์ใช้ความรู้ต่างๆ ที่เรียน มากับโครงการนี้ได้ด้วยครับ อย่างในตอนแรก อาจารย์ (ดร.วิรชัย) ก็ให้ลองเขียนแบบ พอระยะต่อมา ก็เปลี่ยนจากงานเขียนแบบมาอยู่ส่วนของการผลิต เช่น การติดต่อกับโรงงานผู้ผลิต การตรวจสอบคุณภาพ รวมถึงการควบคุมดูแลการติดตั้งด้วยครับ'
ส่วนกฤษณะ ปาชิตา นักศึกษาภาควิชา วิศวฯโยธา ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่รับหน้าที่ดูแลระบบทั้งหมด รวมถึงเก็บข้อมูลไฟฟ้าที่ผลิตได้จากฟาร์มกังหันลมดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องอยู่เฝ้าระบบบนเกาะล้านแล้ว บางครั้งหากระบบเกิดเหตุขัดข้อง ก็ต้องเป็นเขาที่ปีนขึ้นไปตรวจสอบแก้ไข
'ส่วนหนึ่งก็ภูมิใจที่เรามีกังหันลมฝีมือคนไทย และเหมาะกับการใช้งานภายในประเทศ แถมการทำงานในโครงการดังกล่าวยังทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง ไม่เฉพาะแค่โยธา แต่รวมถึงวิศวะไฟฟ้า-เครื่องกลด้วย ก็รู้สึกดีใจที่อาจารย์ให้โอกาสครับ'
อาจเป็นอีกหนึ่งความพยายามเล็กๆ ของกลุ่มคนเล็กๆ ที่ต้องการนำพลังงานสะอาดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก และเส้นทางนั้นก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยังต้องเผชิญกับขวากหนามอีกนานัปการ แต่วันนี้คุณค่าของฟาร์มกังหันลมในแง่ของ 'โครงงานวิจัย' ตลอดจนองค์ความรู้ที่จะเกิดแก่ประเทศไทยก็ได้รับการจุดประกายขึ้นแล้ว แม้ยังไม่สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีคุณค่ามากพอที่จะได้รับ 'กำลังใจ' ในฐานะโครงงานพัฒนาฝีมือคนไทยไม่ใช่หรือ