xs
xsm
sm
md
lg

"community cornner":การลงทุนใน Commodities

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในสัปดาห์นี้จะขอกล่าวถึงการลงทุนลักษณะต่างๆ ใน Commodities เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่สนใจและติดตามบทความในสัปดาห์ก่อนๆ สามารถนำไปเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการตัดสินใจขยายพอร์ตการลงทุนต่อไป

หากกล่าวถึงการลงทุนใน Commodities นั้นนักลงทุนมีโอกาสลงทุนได้หลายทาง ทางแรกเป็นการลงทุนผ่านกองทุนที่ให้ผลตอบแทนตามมูลค่าของกลุ่มสินค้า (Commodities Fund, Index Fund) หรือลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับทรัพยากรหรือภาคการเกษตร การลงทุนรูปแบบนี้สามารถลงทุนผ่านกองทุน Commodities ซึ่งทำได้ง่ายและสามารถใช้เป็นการลงทุนระยะยาวได้ดี แต่ว่ากองทุนอาจมีข้อจำกัดในการเข้าออก นักลงทุนจะต้องศึกษาศักยภาพและแผนการลงทุนของผู้ดูแลกองทุนนั้นๆ ให้ดี ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้กองทุน Commodities ในไทยมีค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่สนใจอาจเลือกลงทุนในกองทุนที่เน้น commodities อย่างทองคำ หรือกองทุน Rogers Commodities Index Fund ที่บริษัท Finansa เป็นผู้จัดตั้งในลักษณะ Fund on Fund ครับ

นอกจากนี้ การลงทุนในหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับ Commodities ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่นักลงทุนไทยอาจจะคุ้นเคยกันมาบ้าง ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในหุ้นน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งหลายท่านที่มีพอร์ตหุ้นก็คงทราบดีต่ออิทธิพลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ในกลุ่มพลังงาน แต่ทั้งนี้การลงทุนใน Commodities ผ่านหุ้นย่อมมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายและการบริหารจัดการของบริษัทนั้นๆ รวมถึงความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยรวม (Equity Risk) ซึ่งอาจทำให้ราคาของหลักทรัพย์ไม่สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นอยู่ของ Commodities นั้นๆ ตามที่นักลงทุนต้องการ

สำหรับทางเลือกที่สามารถลงทุนใน Commodities โดยตรงคือการลงทุนผ่าน ตลาด Commodities Futures ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนไทยสามารถลงทุนใน Commodities ได้โดยตรงผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เท่านั้น ซึ่งการลงทุนใน Commodities Futures นั้นจะเป็นการลงทุนในทิศทางราคาของสินค้านั้นๆ ตามสภาวะความต้องการและปริมาณผลผลิตของตลาดโลก จึงทำให้เหตุการณ์อย่างเช่น วิกฤติ sub-prime หรือ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ผ่านมา มีผลกระทบค่อนข้างน้อยต่อราคาสินค้า Commodities โดยเฉพาะราคาสินค้าภาคการเกษตร ที่ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวิกฤติที่ผ่านมา

อย่างที่ได้เคยเรียนให้ทราบในบทความช่วงก่อนว่า การลงทุนใน Futures เป็นการลงทุนแบบมี Leverage หรืออีกนัยหนึ่งคือ นักลงทุนไม่ต้องชำระมูลค่าของสินค้าที่ตนถือครองอยู่เต็มจำนวนแต่จะชำระเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในสัญญาล่วงหน้ายางพารา ในตลาด AFET หนึ่งสัญญา จะมีมูลค่าเท่ากับการถือครองยางพารา 5 ตัน หากราคายางพาราปัจจุบันอยู่ที่ 90 บาท/กก. สัญญาดังกล่าวจะมีมูลค่า 450,000 บาท แต่นักลงทุนจะชำระเงินจำนวนหนึ่งซึ่งเรียกว่า เงินประกันขั้นต้น หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า Initial Margin เพียง 18,900 บาท/สัญญา หรือประมาณ 20 เท่าของจำนวนเงินลงทุนเท่านั้น

ด้วยความที่ Futures มีลักษณะเป็นการลงทุนแบบมี Leverage ดังกล่าว นักลงทุนจึงมีโอกาสที่จะสามารถหาผลตอบแทนได้สูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ดังนั้นเพื่อจะป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ตลาดล่วงหน้าทั่วโลกจึงมีการทำ Mark to Market กันทุกวัน ซึ่งโดยหลักการแล้ว การทำ Mark to Market นั่นคือการชำระผลกำไร-ขาดทุนของนักลงทุนทุกคนที่ถือครองสัญญา Futures ในทุก ๆ สิ้นวันที่ราคาของสินค้าอ้างอิงมีการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง เสมือนกับนักลงทุนฝั่งที่ขาดทุนจะต้องจ่ายเงินที่ส่วนนั้นให้กับนักลงทุนฝั่งที่ได้กำไรในทุกๆวันนั่นเอง ทั้งนี้ในทางปฏิบัติการชำระผลกำไร-ขาดทุนลักษณะนี้อาจก่อให้เกิด Transaction Cost ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราคาของ Commodities เคลื่อนไหวไม่มาก

ดังนั้น ทางตลาดล่วงหน้าจึงได้ตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำในการชำระผลกำไรขาดทุนซึ่งเรียกว่าเงินประกันขั้นต้นหรือที่รู้จักกันว่า Maintenance Margin โดยผลกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นจะไปปรับจำนวนเงินในบัญชี Margin ที่นักลงทุนมีอยู่ หากเงินในบัญชี Margin ที่วางไว้ครั้งแรก (Initial Margin) ยังมีมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (Maintenance Margin) นักลงทุนไม่จำเป็นต้องทำอะไร เว้นแต่เมื่อจำนวนเงินในบัญชี Margin ลดเหลือเท่ากับเกณฑ์ขั้นต่ำ (Maintenance Margin) ตามที่กำหนดไว้ เมื่อนั้นนักลงทุนจะต้องชำระผลขาดทุนที่เกิดขึ้น

ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจจะลงทุนใน Futures จะต้องทำความเข้าใจกับกฎกติกาของตลาดล่วงหน้าเสียก่อน ซึ่งหากท่านผู้อ่านใช้เวลาทำความเข้าใจสักนิดจะสามารถเข้าใจได้โดยไม่ยาก ในบทความตอนหน้านั้นเราจะมามองกลยุทธ์การลงทุนเบื้องต้นใน Commodities Futures กันครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น