xs
xsm
sm
md
lg

คาดขุนคลังจี7ร่วมมือแก้ศก.โลกได้ยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - นักวิเคราะห์คาดภาวะตลาดหุ้นที่ดิ่งฮวบทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาและความวิตกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯก้าวสู่ภาวะถดถอย จะเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของชาติกลุ่มจี7 ในสุดสัปดาห์นี้ ทว่า คงมีโอกาสน้อยนิดที่ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง7จะดำเนินมาตรการร่วมกันเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจโลกเผชิญกับแนวโน้มที่มืดมนที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่วิกฤติในตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภท "ซับไพรม์"ของสหรัฐฯ นำไปสู่ภาวะสินเชื่อตึงตัว อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ชาติมหาอำนาจโดยส่วนใหญ่จะปล่อยให้สหรัฐฯแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว

นักวิเคราะห์กล่าวว่าบรรดารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก(จี7) ไม่น่าจะเสนออะไรมากกว่าการให้ความมั่นใจในทางคำพูด ในการประชุมที่กรุงโตเกียว ในวันเสาร์นี้(9)

ทิม คอนดอน หัวหน้าฝ่ายวิจัยแห่งไอเอ็นจี ไฟแนนเชียล มาร์เก็ตส์ ในสิงคโปร์ กล่าวว่า "ผู้คนในวงกว้างยังคงมองปัญหาสินเชื่อซับไพรม์เป็นปัญหาของสหรัฐฯ ดังนั้น มาตรการการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องมุ่งไปที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ"

ก่อนหน้านี้ ฟุคุชิโร นุคางะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(1)ว่า ที่ประชุมจี7ในวันเสาร์นี้จะมุ่งให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ

"เราอยากจะหารือเรื่องนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯและสถานภาพปัจจุบันของเศรษฐกิจสหรัฐฯในลักษณะที่เปิดเผยตรงไปตรงมา" นุคางะกล่าว

เมื่อปีที่แล้ว บรรดาธนาคารกลางของชาติเศรษฐกิจชั้นนำของโลกต่างผนึกกำลังกันอัดฉีดสภาพคล่องหลายพันล้านดอลลาร์เข้าสู่ตลาดการเงินที่อ่อนแอ เพื่อผ่อนคลายวิกฤติสินเชื่อตึงตัว

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ยังได้ตัดลดอัตราดอกเบี้ยลงกว่า 2% ตั้งแต่เดือนกันยายน ปีที่แล้ว ท่ามกลางความรู้สึกของนักลงทุนจำนวนมากขึ้นที่หวั่นวิตกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังก้าวลงสู่ภาวะถดถอย

ขณะที่ธนาคารกลางของอังกฤษและแคนาดาตัดลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับที่น้อยกว่าเฟดกระทำ

ทว่า บรรดาผู้กำหนดนโยบายการเงินในยูโรโซนและญี่ปุ่นต่างส่งสัญญาณน้อยมากว่า จะดำเนินนโยบายตามที่เฟดดำเนินการ ทั้งนี้ คาดกันว่า ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)จะยังทนแรงบีบให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้

คอนดอนกล่าวว่าหากเฟดต้องการให้มีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในลักษณะที่ประสานงานกัน เฟดก็น่าจะชักชวนธนาคารกลางของชาติอื่นๆให้ทำตามที่เฟดต้องการ ข้อเท็จจริงที่ว่าเฟดไม่ได้ทำเช่นนั้น ชี้ให้เห็นว่าขุนคลังจี7จะแถลงแสดงความพึงพอใจต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการดีดกลับของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่จะไม่ใช่มาตรการที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

"โอกาสที่ธนาคารกลางจะประสานงานกันตัดลดดอกเบี้ยนั้น มีน้อยสุดขีด" โทโมโกะ ฟูจี ผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์แห่งแบงก์ออฟอเมริกา สาขาโตเกียว กล่าว

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นในปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% เท่านั้น ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น(บีโอเจ) เหลือเครื่องกระสุนที่เก็บไว้เพียงน้อยนิด ที่ใช้ในการป้องกันภาวะถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้น หรือภาวะเงินฝืดที่อาจจะหวนกลับมา

ขณะเดียวกัน ในแถบยูโรโซนนั้น ภาวะเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.2% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ฟูจีกล่าวว่า คนสายเหยี่ยวในอีซีบีรับไม่ได้กับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขนาดนี้

นอกเหนือจากเฟดที่ปรับลดดอกเบี้ยแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯและสภาคองเกรสยังได้จัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ทว่า สมาชิกกลุ่มจี7 ชาติอื่นๆมีลู่ทางที่น้อยกว่าในการผ่อนปรนมาตรการทางการคลัง โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันมีหนี้สาธารณะกว่า 150% ของจีดีพี
กำลังโหลดความคิดเห็น