xs
xsm
sm
md
lg

ไฟแนนเชียลไทมส์ระบุมะกัน-ยุโรปกำลังต้องการให้เงินดอลลาร์แข็งค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ไฟแนนเชียลไทมส์ - สหรัฐฯ กับยุโรปเวลานี้มีความปรารถนาสอดคล้องต้องกันแล้ว ที่จะเห็นเงินดอลลาร์มีค่าแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโร เจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนทั้งของฝ่ายอเมริกันและของฝ่ายยุโรปบอกกับไฟแนนเชียลไทมส์

บรรดาผู้กำหนดนโยบายของทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติก ต่างยินดีต่อการกระเตื้องเพิ่มค่าขึ้นของเงินดอลลาร์เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งในวันพุธ (7) ขยับขึ้นไปอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 6 สัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินยูโร ทั้งนี้ผู้กำหนดนโยบายเหล่านี้มีความกังวลกันว่า ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนกำลังให้ความสนใจมากเกินไปกับความอ่อนแอทางเศรษฐกิจตลอดจนความตึงตัวของตลาดในสหรัฐฯ ในระยะสั้น และให้ความใส่ใจไม่เพียงพอกับทิศทางอนาคตในระยะปานกลางทั้งของสหรัฐฯ และยุโรป เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ผู้หนึ่งบอก

ความเห็นเรื่องนี้ของเขาได้รับการยืนยันจากพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสทางฟากยูโรโซนหลายคน ซึ่งบอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์กับยูโร ได้มาถึงระดับที่ไม่เป็นผลดีทั้งต่อสหรัฐฯ และต่อยุโรปเสียแล้ว

บรรดาผู้กำหนดนโยบายของทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติก ต่างต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เงินดอลลาร์ตกลงมามากเกินไปเมื่อเทียบกับยูโร จากนั้นก็กลับพุ่งทะยานขึ้นไปใหม่ เมื่อพวกนักลงทุนตระหนักต่อความเป็นจริงที่ว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังบ่ายหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนยุโรปก็กลับกำลังเริ่มมีเศรษฐกิจที่ซวนเซลงมา เพราะหากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีความเคลื่อนไหวอย่างผันผวนเช่นนั้น ก็ย่อมสร้างความไร้เสถียรภาพขึ้นในตลาดการเงินได้

นอกจากนั้น พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านี้ยังต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์ซึ่งอ่อนตัวต่อไป จะไปเสริมแรงทำให้ราคาน้ำมันยิ่งทะยานสูง พวกเขาไม่ได้คิดว่าดอลลาร์เป็นสาเหตุหลักในการไต่ขึ้นของราคาน้ำมัน ทว่าพวกเขาก็เห็นพ้องต้องกันว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีหลายต่อหลายครั้งที่การอ่อนตัวของดอลลาร์มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้น

เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ผู้หนึ่งได้เน้นย้ำความสำคัญของแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยเงินตราฉบับล่าสุดของกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ซึ่งเขาบอกว่าเป็นตัวแทนแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญแห่งการปรับฐานะของเงินดอลลาร์กันใหม่ ถึงแม้นักวิเคราะห์จำนวนมากกลับยังคงอ่านว่า สหรัฐฯ มุ่งใช้นโยบายที่จะเพิกเฉยต่อการอ่อนตัวของดอลลาร์ อันจะเป็นผลดีต่อการส่งออก

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ นั้นตั้งใจที่จะให้แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีเนื้อหาซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า วอชิงตันไม่ต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอีกต่อไปแล้ว อีกทั้งเมื่อมองจากบริบทที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้แล้ว วอชิงตันจึงรู้สึกว่าดอลลาร์ปวกเปียกลงมาจนถึงจุดที่ต้องถือว่าถูกขายมากเกินไป

"เรื่องระยะสั้นกำลังได้รับความสนใจมากกว่าเรื่องระยะยาว" เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ผู้นี้บอก

สหรัฐฯ ยังอยู่ห่างไกลนัก จากการที่จะยอมตกลงเข้าร่วมแทรกแซงในตลาดเงินตรา หรือกระทั่งแค่ระบุบ่งบอกถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ตนเองปรารถนา กระนั้นวอชิงตันก็เชื่อว่า ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ในเวลานี้กำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดอลลาร์ควรจะแข็งค่าขึ้น

ยิ่งกว่านั้น นโยบายต่างๆ ของธนาคารกลางก็เริ่มที่จะเคลื่อนไปในทิศทางที่สอดคล้องมากขึ้นกับการที่ดอลลาร์จะแข็งค่า

กล่าวคือ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ตัดลดอัตราดอกเบี้ยอย่างดุดันมาหลายระลอกแล้ว เวลานี้ก็กำลังมีท่าทีอยากจะหยุดพัก ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็กำลังผ่อนคลายน้ำเสียงแข็งกร้าวกับอัตราเงินเฟ้อของตนลงมาบ้าง และอาจจะปรับเปลี่ยนมากขึ้น ถ้าหากอัตราเติบโตของเศรษฐกิจอ่อนตัวลงอีก ซึ่งจะไปลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อให้น้อยลง
กำลังโหลดความคิดเห็น