xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ผวาเฟดเขย่าทุนโลก หลังหั่นดอกเบี้ยอีก 0.5 บาทแข็งค่าจ่อ 32

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยลงมาอีก 0.50% หวังยับยั้งการชะลอตัวอย่างแรงในเศรษฐกิจสหรัฐ ธปท.ชี้ผลเฟดลดดอกเบี้ยป่วนตลาดการเงินโลก มีความผันผวนสูง กระทบไทยทั้งดอกเบี้ยในประเทศ เงินทุนเคลื่อนย้ายและทำให้ค่าเงินทุกสกุลในภูมิภาคแข็งค่า เผยแนวโน้มดอกเบี้ยต้องรอการประเมินจาก กนง.ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ส่วนเงินบาทวานนี้แตะ 33.02 โอกาสเห็น 32 อยู่แค่เอื้อม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฟันธง กนง.ยังไม่แตะดอกเบี้ย

ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ครั้งล่าสุดเมื่อคืนวันพุธที่ 30 ม.ค. ทำให้เป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เฟดฟันด์เรต ลงมาอยู่ที่ระดับ 3.0% ต่ำที่สุดนับแต่เดือนมิถุนายน 2005 อีกทั้งบังเกิดขึ้นเพียง 8 วันหลังจากเฟดเพิ่งประกาศหั่นลดเฟดฟันด์เรตรวดเดียว 0.75%

การหั่นลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารชั่วเวลาข้ามคืนตัวนี้ รวมกันถึง 1.25% ในชั่วเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์เช่นนี้ นับเป็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ดุเดือดฉับพลันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯทีเดียว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด(เอฟโอเอ็มซี) มิได้มีมติเอกฉันท์ในความเคลื่อนไหวคราวนี้ โดยคะแนนออกมา 9 ต่อ 1 ผู้ที่ไม่เห็นด้วย คือ ริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธานเฟดสาขาดัลลัส ซึ่งมองว่าควรคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม

คำแถลงของเฟดที่ออกมาหลังการประชุมเอฟโอเอ็มซีคราวนี้ อธิบายว่าการรณรงค์หั่นดอกเบี้ยของตน ซึ่งมีการลดเฟดฟันด์เรตจากที่เคยอยู่ในระดับ 5.25% ตอนกลางเดือนกันยายนปีที่แล้ว ลงมารวม 5 ครั้งแล้วนี้ ควรที่จะช่วยเศรษฐกิจสหรัฐฯหลบหลีกให้พ้นจากภาวะถดถอย แต่ถ้อยคำที่ใช้ในคำแถลงนี้ ก็ส่อให้เห็นว่ายังเปิดช่องที่จะมีการหั่นลดกันต่อไปอีก

"ปฏิบัติการเชิงนโยบายในวันนี้ เมื่อบวกกับสิ่งที่ได้ทำไปแล้วคราวก่อนๆ ควรช่วยส่งเสริมให้เกิดอัตราเติบโตระดับพอประมาณในเวลาต่อไป และลดทอนความเสี่ยงที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงขาลงต่อการเติบโตก็ยังคงดำรงอยู่" คำแถลงของเฟดบอก

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการแถลงข่าวของเฟด กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้เผยแพร่ตัวเลขเบื้องต้นของอัตราเติบโตของเศรษฐกิจประจำไตรมาส 4/2007 ซึ่งปรากฏว่าต่ำมากๆ โดยเท่ากับ 0.6%ต่อปี และทำให้ตลอดทั้งปี 2007 จีดีพีสหรัฐฯเติบโตด้วยอัตรา 2.2% อันเป็นการขยายตัวที่อ่อนแรงที่สุดในรอบ 5 ปีทีเดียว

ด้วยการตัดลดดอกเบี้ยในเชิงรุกเป็นระลอกต่อเนื่อง เฟดมองว่าตนเองกำลังแสดงให้เห็นถึงความเอนเอียงที่จะใช้ปฏิบัติการเชิงป้องกัน เพื่อหยุดยั้งสิ่งที่อาจกลายเป็นวงจรอุบาทว์ โดยที่การตึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ของภาวะสินเชื่อ ตลอดจนความปั่นป่วนของตลาดการเงิน จะยิ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว และการเชื่องช้าลงของเศรษฐกิจก็จะทำให้ตลาดการเงินยิ่งย่ำแย่

"ตลาดการเงินยังคงอยู่ภายใต้ความเครียดค่อนข้างใหญ่โต และสินเชื่อก็ยังคงตึงตัวต่อไปอีกสำหรับบางธุรกิจและภาคครัวเรือน" คำแถลงของเฟดบอก "ยิ่งกว่านั้น ข้อมูลข่าวสารในระยะหลังๆ นี้ก็บ่งชี้ถึงการหดตัวหนักหน่วงยิ่งขึ้นของภาคที่อยู่อาศัย ตลอดจนการอ่อนตัวลงบางระดับในตลาดแรงงาน"

กระนั้นก็ตาม เฟดก็ย้ำเช่นกันว่า จะติดตามพัฒนาการด้านอัตราเงินเฟ้ออย่างระมัดระวัง ถึงแม้คาดหมายไว้ว่าภาวะเงินเฟ้อน่าจะยืนอยู่ในระดับแค่พอประมาณในหลายๆ ไตรมาสข้างหน้าก็ตามที

สำหรับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ต่อความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯคราวนี้ รอเบิร์ต แมคอินทอช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง อีตัน แวนซ์ แมเนจเมนต์ บอกว่า เฟดกำลังอยู่ในอาการตาลีตาลานวิ่งตามให้ทันเศรษฐกิจซึ่งกำลังเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว

เขาเชื่อด้วยว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงไปจนถึง 2.0% เพื่อช่วยให้สหรัฐฯหลบหลีกภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทว่าคงไม่หั่นไปถึงระดับ 1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่บางคนบอกว่าเป็นตัวการสร้างฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จนนำมาสู่วิกฤตในเวลานี้

ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ได้สำรวจความคิดเห็นของดีลเลอร์ระดับท็อปในวอลล์สตรีท 16 คน ปรากฏว่า 15 คนคาดหมายเฟดจะลดดอกเบี้ยอีกในการประชุมเอฟโอเอ็มซีครั้งต่อไปในเดือนมีนาคมนี้ ถึงแม้พวกเขามีทัศนะแตกต่างกันในเรื่องที่ว่าจะลดลงมามากขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ว่า นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งได้เตือนให้เฟดต้องจับตาความเสี่ยงในอีกด้านหนึ่งด้วย นั่นคือการลดดอกเบี้ยมากจนเกินไป โดยหากเศรษฐกิจมิได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างที่คาดหมายกัน การหั่นดอกเบี้ยมากขนาดนี้ก็อาจทำให้เงินเฟ้อเริ่มขยับสูงขึ้น

วอลล์สตรีทเจอร์นัล อ้างคำพูดของ วินเซนต์ เรนฮาร์ต อดีตเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของเฟด ซึ่งเวลานี้ทำงานกับ อเมริกัน เอนเตอร์ไพรซ์ อินสติติว กลุ่มศึกษาวิจัยของพวกอนุรักษ์นิยมใหม่ ที่กล่าวว่า เมื่อเฟดปฏิบัติการในเชิงรุกขณะเศรษฐกิจอยู่ทางขาลงได้ พวกเขาก็จะกระทำในเชิงรุกได้เช่นกันเมื่อเศรษฐกิจอยู่ทางขาขึ้น

**ธปท.ชี้กระทบแต่ยังรอประชุม 27 ก.พ.

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.5% ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาแตะที่ระดับ 3.00% เป็นไปตามที่ตลาดการเงินทั่วโลกคาดการณ์อยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ระบบการเงินโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและความผันผวนยังมีอยู่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการที่เฟด ลดดอกเบี้ยลงส่งผลกระทบหลายช่องทางทั้งอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประเมินในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.พ.นี้

“ในขณะนี้ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวนอยู่ เห็นได้จากในช่วงที่เริ่มเกิดปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีเงินทุนไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐ แต่เมื่อเกิดภาวะปกติเงินทุนเหล่านั้นก็ไหลกลับมาใหม่ ทำให้กระทบต่อค่าเงินทุกสกุลในเอเชีย รวมทั้งเงินบาทไทยด้วย ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก ซึ่งมองว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ทั้งการอุปสงค์ในประเทศเริ่มฟื้นตัว การได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ทำให้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้มากขึ้น จึงขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศมากกว่า”

ค่าเงินบาทวานนี้ (31 ม.ค.) แข็งค่าตามคาด นักบริหารเงินจากธนาคารไทยธนาคาร เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 33.02/04 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 33.01/02 บาท/ดอลลาร์ ส่วนสกุลเงินต่างประเทศช่วงปิดตลาด เงินเยนอยู่ที่ระดับ 106.50/60 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.4840/50 ดอลลาร์/ยูโร

"คาดว่าวันพรุ่งนี้ (1 ก.พ.) เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.95-33.10 บาท/ดอลลาร์ เพราะด้านรับซื้ออาจมีหลุดลงไปบ้างบางช่วงเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้อีกหลังจากที่เฟดปรับลดดอกเบี้ย แต่จะแข็งค่าอีกแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแบงก์ชาติที่จะเข้ามาดูแลด้วย" นักบริหารเงินระบุ

**ศูนย์กสิกรฯ ฟันธง กนง.คงดอกเบี้ย

ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าทางกลุ่มธนาคารกสิกรไทยฯเชื่อว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงนโยบายดอกเบี้ยนโยบายแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาอีก ทั้งนี้ เนื่องจากทางธปท.ยังมีข้อจำกัดทางด้านอัตราเงินเฟ้อ ที่อาจได้รับแรงกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯคาดว่าในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ระหว่าง 2.5-3.7% ภายใต้เงื่อนไขน้ำมันตลาดโลกอยู่ระหว่าง 75-95 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เฟดน่าจะลดดอกเบี้ยลงอีกในเดือนมีนาคม 0.25% และในเดือนเม.ย.อีก 0.25% และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้เงินไหลออกจากสหรัฐฯทำให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินของโลกได้" ดร.พิมลวรรณ กล่าวและว่า สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยนั้น แม้ว่ารัฐบาลรักษาการในชุดที่ผ่านมา ได้จัดทำงบประมาณขาดดุลปี 2551 ไว้ 1.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.8% ของจีดีพี ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่มาก แต่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯคาดว่า รัฐบาลชุดใหม่อาจจะมีการทำงบประมาณพิเศษกลางปีได้ ซึ่งทางศูนย์วิจัยฯคิดว่าน่าจะเพิ่มงบประมาณขาดดุลเพิ่มได้อีก 70.000ล้านบาทถึง1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ปริมาณเงินไหลเข้าสู่ระบบและน่าจะผลักดันให้จีดีพีเติบโตได้กว่า 0.7-1%

**บิ๊ก ธอส.เชื่อดอกเบี้ยไทยลงได้อีก 0.25%

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยลงอีกอาจทำให้เงินไหลเข้าและส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ซึ่งต้องติดตามดูสถานการณ์ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ และขึ้นอยู่กับ กนง.จะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร แต่ตนเห็นว่าดอกเบี้ยควรจะลดลงได้ 25 สตางค์ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ธนาคารยังแข่งขันระดมเงินฝาก และธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมจะออกพันธบัตรอีก 5 หมื่นล้านบาทดอกเบี้ย 3-4% ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศคงจะไม่ลงเร็วเท่ากับสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐใช้ทั้งมาตรการการเงิน คือ การลดดอกเบี้ย และมาตรการคลัง คือ การคืนภาษีให้กับประชาชน เพื่อแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และการลดดอกเบี้ยลงจะทำให้คนผ่อนบ้านมีกำลังใจในการผ่อนบ้านต่อไป คาดว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะเห็นผลในการชะลอภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ช่วงกลางปีนี้

**เอกชนจี้ลดดอกเบี้ยอุ้มบาท

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงค่าเงินบาทที่แตะระดับ 33.01 บาทต่อเหรียญสหรัฐว่า ปัญหาดังกล่าวมีผลจากที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงมา 0.5% เหลือระดับ 3 % ขณะที่อัตราดอกเบี้ยไทยสูงกว่าสหรัฐซึ่งอยู่ระดับ 3.25% ส่งผลให้มีการไหลเข้ามาของเงินทุนที่มาอาศัยดอกเบี้ยแพงและทำส่วนต่างกำไรจากค่าเงินบาทได้อีก ดังนั้นเห็นว่าไทยควรต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยให้เท่ากับสหรัฐอเมริกาเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ

นอกจากนี้การประชุมของเฟดวันที่ 18 มีนาคมยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกก็จะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย คงจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับเงินทุนที่จะไหลเข้ามาเพื่อให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพซึ่งจำเป็นต้องสะท้อนภูมิภาคและคำนึงถึงผู้ส่งออกด้วยเนื่องจากแม้ว่าค่าบาทที่แข็งจะทำให้มีผลการนำเข้าน้ำมันลดลงหรือราคาน้ำมันปรับลดแต่จะกระทบส่งออกที่มีภาคแรงงานอยู่จำนวนมากจึงจำเป็นต้องวางสมดุลให้เกิดขึ้น

สำหรับโผรายชื่อ ครม.ชุดใหม่ที่ออกมานั้นภาพรวมยอมรับว่ารัฐมนตรีส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนนัก ดังนั้นควรจะสร้างความเชื่อมั่นด้วยการตั้งทีมทำงานหรือทีมที่ปรึกษาให้ดีก็จะสามารถเป็นจิตวิทยาในการดึงเชื่อมั่นกลับมาได้ อย่างไรก็ตามครม.ที่ออกมาก็ต้องให้โอกาสในการบริหารประเทศเพราะได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น