xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นทุนนอกทะลักหลังเฟดหั่น ดบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตือนรัฐบาลใหม่สกัดเงินนอกหลังเฟดลดดอกเบี้ย จี้แบงก์ชาติสร้างความสมดุลระหว่างตลาดเงิน-ตลาดทุน "ศุภวุฒิ" ฟันธงพิษซับไพรม์ยังไม่จบง่ายๆ เชื่อราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯรูดอีก 2 ปี บวกกับสถาบันการเงินสหรัฐฯ ยังต้องเพิ่มทุนอีกมหาศาล พร้อมคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดสิ้นปีลดเหลือ 1% จี้แบงก์ชาติยกเลิกมาตรการ 30% และปล่อยเงินบาทแข็งตามกลไก ด้าน "ก้องเกียรติ" มั่นใจกนง.หั่นดอกเบี้ยแน่ กระทุ้งรัฐลุยกระตุ้นเศรษฐกิจเรียกความมั่นใจกลับคืนมา

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์จะรุนแรงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการพึ่งพาสหรัฐฯ ของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยตอนนี้หันไปให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดียมากขึ้น จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก

ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่จะต้องระวังเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างตลาดเงินและตลาดทุนให้ได้

"ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดความกังวลจากปัจจัยภายในประเทศลงแล้ว โดยเชื่อว่าในปีนี้เศรษฐกิจของประเทศในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ที่ 4.5-5.0% ขณะที่การส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนักลงทุนจะต้องปรับตัวรองรับเงินทุนไหลเข้าไว้ด้วย" นางภัทรียา กล่าว

ฟันธงพิษซับไพรม์ไม่จบง่ายๆ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าฝ่ายวิจัย) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ "จับตาเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตซับไพรม์" ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) และคาดเดาได้ยากว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด เนื่องจากพัฒนาการของตราสารการเงินในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตค่อนข้างมาก

โดยปัญหาที่ประเมินค่าความเสียหายได้ยาก คือ ปัญหาเกี่ยวกับตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีสินทรัพย์อ้างอิง (CDO) ซึ่งเกิดจากการนำสินทรัพย์หลายชนิดมารวมกันเพื่อออกเป็นตราสารประเภทอื่นๆ

ทั้งนี้ ภาพของเศรษฐกิจโลกในอนาคตจะได้เห็นการเกิดการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ประเทศสหรัฐฯ ค่อนข้างมีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันหลายประเทศในเอเชียจะเข้ามามีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แต่ปัญหาที่ยังถือว่าเป็นแรงกดดันการเติบโตของประเทศในเอเชีย คือ ปัญหาเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ค่อนข้างทรงตัวอยู่ในระดับสูง

"จากบทวิจัยของเมอร์ลิลินช์พบว่า ในปีที่ผ่านมาราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ลดลงประมาณ 7% และปีนี้อาจจะลดลงอีก 15% ในปีหน้าอีก 10% ทำให้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะคาดเดาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ว่ามากน้อยเพียงใด หรือจบลงเมื่อใด รวมถึงใครจะเข้ามาเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบยังตอบได้ยาก"

นายศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า จากค่าเสียหายที่เกิดจากซับไพรม์จนล่าสุดทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งต้องประกาศเพิ่มทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจากปัญหาดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงินในสหรัฐฯ ต้องมีการประกาศเพิ่มทุนอีกครั้ง โดยจะต้องจับตาว่าการเพิ่มทุนเงินทุนที่พร้อมจะใส่เข้ามาเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับสถาบันการเงินจะมาจากที่ใด เพราะจะกระทบต่อการเป็นผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินนั้นๆ
 
นอกจากนี้ สัญญาณจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญเริ่มชี้ไปว่า ภาคธุรกิจอื่นๆ นอกจากสถาบันการเงินเริ่มได้รับผลกระทบต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจรถยนต์การปล่อยกู้เพื่อซื้อรถมีความระมัดระวังมากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจอื่นๆ เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวเนื่องจากเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มหายไปอย่างชัดเจน

สำหรับมาตรการการบรรเทาปัญหาด้วยการคืนภาษีให้กับประชาชนซึ่งมีมูลค่ามากถึง 1.5 แสนล้านเหรียญดอลลาร์นั้น เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้เพียงครึ่งเดียว เนื่องจากประชาชนขาดความมั่นใจชะลอการใช้จ่าย ทำให้อาจจะนำเงินที่ได้รับคืนไปใช้ไม่ทั้งจำนวน โดยจากมาตรการดังกล่าวทำให้สหรัฐฯขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 2.5 แสนล้านดอลลาร์เป็น 4 แสนล้านดอลลาร์

"ถ้าจะถามว่าปัญหาซับไพรม์จะจบเมื่อไหร่ คงต้องรอดูตัวเลขการยึดบ้านในสหรัฐฯ ว่าจะลดลงเมื่อไหร่ โดยเมื่อเทียบปีต่อปีในช่วงที่ผ่านมาการยึดบ้านเพิ่มขึ้นถึง 75% ขณะเดียวกันคงต้องดูตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ประกอบด้วย"

คาดเฟดลดดอกเบี้ยสิ้นปีเหลือ 1%

นายศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ถึง 0.75% และยังมีโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในปีนี้เหลือเพียง 1% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 3.5% โดยคาดว่าในการประชุมของเฟด (29-30 ม.ค.) จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ซึ่งจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทำให้กำไรของสถาบันการเงินสูงขึ้น เนื่องจากส่วนต่างระหว่างเงินฝากและเงินกู้สูงขึ้น ขณะที่ทำให้ปัญหาหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลง เพราะภาระในการจ่ายดอกเบี้ยลดลง แต่จะส่งผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับเศรษฐกิจกับประเทศในเอเชีย พบว่า ประเทศในเอเชียมีความได้เปรียบค่อนข้างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาขาดดุลงบประมาณมาโดยตลอด ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยยังสามารถลดการขาดดุลงบประมาณ คือใช้นโยบายเกินดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้

"มีคำถามเกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพของเงินดอลลาร์ เพราะจากมาตรการต่างๆ ที่ใช้ทำให้ดอลลาร์ด้อยค่าลงไป ทำให้ประเทศผู้เป็นเจ้าหนี้ รวมถึงคนที่ถือครองเงินดอลลาร์มีความเสี่ยงมากขึ้น"นายศุภวุฒิ กล่าว

นายศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับภาคเศรษฐกิจไทยปัญหาที่สำคัญคือ ภาคการลงทุนของเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยปีที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเพียง 3-4% จากที่ควรจะเป็นอยู่ที่ไม่ต่ำ 10% ขณะที่มาตรการที่ภาครัฐฯที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามกลไก เพื่อชะลอการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 10% จะช่วยทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่เกิน 4% ขณะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสหรัฐฯ

พร้อมกันนี้ ธปท. ควรจะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อให้เงินทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะเงินที่จะเข้ามาลงทุนโดยตรงสามารถเข้ามาลงทุนได้ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวธปท.ควรจะยกเลิกทันทีเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าตามกลไลตลาดและเข้าสู่จุดสมดุล ไม่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวจนเกิดจากเข้ามาเก็งกำไร โดยปัญหาหลักของการแข็งค่าของเงินบาทมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากจนเกินไปไม่ใช่มาจากการไหลเข้าของเงินทุน เนื่องจากหากดูตัวเลขการไหลเข้าของเงินทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือว่าน้อยมาก

สำหรับสิ่งที่อยากฝากรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาว่า อยากให้เร่งกระตุ้นการลงทุน โดยอาจจะใช้นโยบายขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกิน 2.5% ของจีดีพีต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีได้ เนื่องจากฐานะการคลังของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี โดยปัจจุบันยังหนี้สาธารณะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำยังสามารถกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการใหม่ที่เป็นประโยชน์ได้ถึง 600-700 ล้านเหรียญดอลลาร์

"หน้าตารัฐมนตรีจะเป็นใครผมไม่ค่อยสนใจ แต่จะมองในระดับนโยบายทางเศรษฐกิจมากกว่า และไม่อยากจะแนะนำอะไรมากเพราะรัฐบาลชุดนี้มีแนวที่จะปฎิบัติอยู่แล้ว"

นอกจากนี้ นโยบายในการควบคุมราคาสินค้าควรจะถูกยกเลิกไป เนื่องจากการเข้ามาควบคุมราคาสินค้าทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรจากการขายสินค้าลดลงส่งผลต่อการลงทุนเพิ่ม และยังทำให้เกิดการกักตุนสินค้าซึ่งหากปล่อยให้ราคาสินค้าที่เป็นอยู่เป็นไปตามกลไกจะเป็นการขับเคลื่อนการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เอง

ลุ้นตัวเลข Q1 ฟื้นการลงทุน

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเชีย พลัส หรือ ASP กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของเฟดเพื่อชะลอความเสียหายจากซับไพรม์ ทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยต้องปรับตัวลดลงเช่นกัน ซึ่งหากธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยเพื่อป้องกันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เม็ดเงินต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศ และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
 
ทั้งนี้ คาดว่าการประชุมเฟดรอบนี้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% และคาดว่าในกลางปีนี้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯจะอยู่ที่ 2-2.5%

ส่วนการเมืองไทยหลังการจัดตั้งรัฐบาลสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การเร่งการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นตามมา

สำหรับนักวิเคราะห์ต่างๆ มองว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 10-20% ส่วนตัวเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีนี้โบรกเกอร์จะมีการทยอยปรับบ้าง โดยตลาดหุ้นไทยปีนี้เชื่อว่ามีความผันผวนสูงตลอดปีนี้ ขณะที่หากรัฐบาลเข้ามาดูแลในเรื่องการลงทุนจะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน โดยในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงนั้นถือว่าเป็นโอกาสที่นักลงทุนควรที่จะเข้าลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและให้ผลตอบแทนที่สูง

ส่วนเรื่องมาตรการการกันสำรอง 30% นั้น รัฐบาลควรที่จะมีการดำเนินการแก้ไขเพื่อเป็นการเชิญชวนให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน แต่การจะผ่อนผันหรือยกเลิกมาตรการดังกล่าวควรทำในช่วงจังหวะที่เหมาะสม เพราะขณะนี้มีความกังวลหากมีการยกเลิกจะทำให้เม็ดเงินต่างประเทศไหลเข้ามาเก็งกำไรพันธบัตร ดังนั้นส่วนตัวมองว่า ควรจะยกเลิกมาตรการ30% ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของไทยมีการปรับตัวลดลงจากผลตอบแทนพันธบัตรลดลง

"สำหรับการที่นักลงทุนต่างประเทศมีการขายหุ้นไทยและถือเงินสดนั้นการ จะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อไรนั้นจะต้องรอให้ตัวเลขต่างๆไตรมาส 1/51 ออกมาก่อนว่าข้อมูลจะออกมาเป็นอย่างไรถึงจะบอกอะไรได้"นายก้องเกียรติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น