xs
xsm
sm
md
lg

เงินนอกดันหุ้นพุ่ง 20 จุด นักวิเคราะห์ลดเป้าดัชนีปี้นี้เหลือ 958 จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักลงทุนต่างชาติ-กองทุนแห่ซื้อหุ้นไทย รับเฟดประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% บวกกับการเมืองเริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ดันดัชนีพุ่ง 20 จุด ด้านสมาคมนักวิเคราะห์ เผย ผลสำรวจปรับลดดัชนีปีนี้เหลือ 958 จุด จากเดิม 1,030 จุด-ลดเป้าจีดีพีเหลือ 4.8% พร้อมชี้อีพีเอสหุ้นกลุ่มพลังงานปีนี้โตสูงสุด 171% เชียร์ซื้อหุ้น แบงก์ พลังงาน อสังหาริมทรัพย์

บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทย วานนี้ (31 ม.ค.) ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งวัน แม้จะมีแรงเทขายทำกำไรออกมาเล็กน้อยจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ย 0.50% รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศเริ่มมีความจัดเจน จากการจัดตั้งรัฐบาลและรายชื่อคณะรัฐมนตรีเริ่มมีความพร้อมแล้ว

โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดระหว่างวันที่ 787.74 จุด ต่ำสุดที่ 760.75 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 784.23 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 20.75 จุด หรือ 2.72% มูลค่าการซื้อขาย 33,868.05 ล้านบาท มีนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 3,776.85 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 189.66 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 3,966.51 ล้านบาท

นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ การปรับลดดอกเบี้ยเฟด 0.5% และการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีทำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 787.74 จุด

หลังจากนั้น ได้มีแรงเทขายทำกำไรออกมาเป็นระยะๆ จากที่ตลาดหุ้นในแถบภูมิภาคมีการปรับตัวลดลง รวมถึงการที่ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าของอเมริกาปรับตัวลดลง และหลังจากนี้ จะไม่มีข่าวดีเข้ามากระตุ้นจะทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาและตลาดหุ้นในภูมิภาครวมถึงตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับฐาน เพราะกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีการดำเนินงานนโยบายต่างๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ หากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในวันนี้ (1 ก.พ.) จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย ทำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่จะมีแรงเทขายทำกำไรออกมา หากยังไม่สามารถจัดตั้งได้ก็จะเป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ยังจะได้รับแรงกดดันจากการประกาศงบการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไฟรม์)

ทั้งนี้ บริษัทประเมินแนวรับที่ระดับ 770-775 จุด แนวต้านที่ระดับ 790-795 จุด ซึ่งแนะนำให้มีการขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นและซื้อลงทุนหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีในช่วงตลาดหุ้นปรับตัวลดลง

**เฟดลด ดบ.ดันตลาดหุ้นระยะสั้น

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า การที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นเพียง 2 วัน จากนั้นจะต้องติดตามในเรื่องปัญหาซับไพรม์ที่ทางการสหรัฐฯ จะมีมาตรการรับมืออย่างไร รวมทั้งในช่วง 1-2 วันนี้ จะต้องมีการติดตามในเรื่องรายชื่อคณะรัฐมนตรี และรวมนโยบายการด้านเศรษฐกิจที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดทุนด้วย

ทั้งนี้ คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยอีกในครั้งถัดไป ไม่ใช่การลดในการประชุมในครั้งนี้ เพราะมั่นใจว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเหลือ 2.50% โดยคาดว่าธปท.จะลดดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งหากไทยไม่ปรับลดดอกเบี้ยจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนซึ่งมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยมีการแข็งค่าขึ้น

***นักวิเคราะห์หดเป้า SET ปีนี้เหลือ 958 จุด

นายสมบัติ กล่าวว่า จากผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2551 จากนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 21 แห่ง พบว่า นักวิเคราะห์ได้ปรับลดการคาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้เฉลี่ยเหลือ 958 จุด จากเดิมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 อยู่ที่ 1,030 จุด และมีผู้มองว่าดัชนีสูงสุดจะอยู่ที่ 1,200 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 699จุด

ทั้งนี้ คาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ 4.8% ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนอยู่ที่ 4.9% อัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้น (EPS) เฉลี่ยอยู่ที่ 18.9% สูงขึ้นจากเดิมที่ 18.4% โดยกลุ่มธนาคารยังคงมีอัตราการเติบโตสูงสุด เฉลี่ย 171.0% อันดับสอง คือ อสังหาริมทรัพย์ เฉลี่ย 15.1% และอันดับสาม กลุ่มปิโตรเคมี เฉลี่ย 13.7% ขณะที่มองอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 32.2 บาท และอัตราดอกเบี้ย RP 1 วัน ในปลายปี 2551 อยู่ที่ 3.1%

สำหรับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 76% เชื่อว่า ปัญหาซับไพรม์จะส่งผลกระทบระดับปานกลาง และ 19% เชื่อว่า กระทบรุนแรงมาก ส่วนที่เหลืออีก 5% เชื่อว่าจะกระทบรุนแรงน้อย

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาซับไพรม์ไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับไทย แต่มีผลให้เงินทุนไหลออกจากแรงเทขายหุ้นของต่างชาติ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวบางส่วนน่าจะสะท้อนและรับรู้ในตลาดหุ้นแล้ว และเชื่อว่า สหรัฐฯ จะมีมาตรการแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังเห็นว่า การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ มีสัดส่วนที่ลดลง จึงคาดว่าผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงไม่น่าจะมากนัก แต่อาจทำให้การส่งออกเติบโตช้าลงได้ในช่วงต้น

นายสมบัติ กล่าวว่า มาตรการสำคัญที่นักวิเคราะห์เสนอแนะให้รัฐบาลใหม่ ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม อันดับแรก 62% การผลักดันและเร่งรัดการลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐเช่นโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และขนส่งมวลชน อันดับที่สอง 48% มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและนักลงทุน เช่น ผลักดันมาตรการทางด้านลดภาษีบริษัทจดทะเบียนและส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น อันดับที่สาม 19% ให้มีมาตรการสร้างเสถียรภาพให้ค่าเงินบาท และลดการแทรกแซงค่าเงิน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังเสนอแนะให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนให้เข้มแข็ง โดยควรมีมาตรการจูงใจให้บริษัทขนาดใหญ่ พื้นฐานดี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี เป็นต้น ซึ่งมีผู้ตอบ 29% ซึ่งอีก 24% ยังเสนอแนะให้มีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% และรัฐบาลควรส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อขยายฐานนักลงทุนให้ครอบคลุมถึงกลุ่มใหม่ เช่น ผู้มีเงินออม บริษัทประกัน เป็นต้น ซึ่งมีผู้ตอบ 19%

สำหรับที่หุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำลงทุน คือ ธนาคาร พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เชื่อว่ากลุ่มธนาคารจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ช่วยให้ผลประกอบการเติบโตสูงขึ้น และจากการตั้งสำรองที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ พลังงานจะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ช่วยให้ผลประกอบการแข็งแกร่ง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น BANPU, BAY, KBANK, PTT, SCB เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนควรระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากตลาดมีความผันผวนสูง โดยสำหรับการลงทุนระยะยาว ให้ทยอยสะสมหุ้นเมื่ออ่อนตัวลง เน้นลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเติบโตของกำไรที่ดี มีเงินปันผลสูง และมีปัจจัยพื้นฐานดี นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก อาจลงทุนระยะสั้นได้ แต่ไม่ควรมากกว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ต และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น