xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยโชคดีหรือโชคดีประเทศไทย (1)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

จากการที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนนำพรรคชนะการเลือกตั้งอย่างมีข้อกังขาตามวัฒนธรรมการเมืองไทย เพราะสมาชิกพรรคผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วชนะการเลือกตั้งในหลายเขตเลือกตั้งโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่ง กกต.ได้ให้ ใบเหลือง ใบแดงบ้าง ตามข้อกล่าวหาทุจริตเลือกตั้ง

แม้กระทั่งนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ อานิสงส์จากการชนะเลือกตั้งครั้งนี้ ได้ตำแหน่งนี้ ก็ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเลือกตั้ง แต่เกิดประเด็นร้ายแรงอาจนำสู่วิกฤตการเมืองขั้นร้ายแรงเพราะถ้าถูก กกต.ตัดสินว่าผิดและได้รับใบแดงมีโทษร้ายแรงถึงยุบพรรคพลังประชาชน

ในช่วงนั้นนายยงยุทธ ติยะไพรัชได้ออกมาแถลงการณ์แก้ข้อกล่าวหาทำให้กระบวนการสอบสวนของฝ่ายสอบสวนตั้งอยู่บนความเสี่ยง เพราะมีพลังกดดันมากถึงขนาดอาจจะเกิดจลาจลทางการเมืองได้ เพราะฝ่ายพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง ได้ตั้งข้อกล่าวหาว่า เป็นการวางแผนสมรู้ร่วมคิดทำลายพรรคพลังประชาชน ทำให้หลักฐานพยานบุคคลเบื้องต้นเกิดความลังเล ขาดความมั่นใจ เพราะอาจจะต้องรับภาระในการรับผิดชอบผลที่อาจจะเกิดตามมาในการเมืองไทยระบอบประชาธิปไตยหากพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งถูกยุบพรรค จึงเปลี่ยนท่าที เรื่องการกล่าวหานายยงยุทธ จึงสงบลง

ดังนั้น ชัยชนะนี้ทำให้พรรคพลังประชาชนสามารถยึดอำนาจนิติบัญญัติไว้ได้ ซึ่งมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นอาณัติของพรรคตามระบอบประชาธิปไตย และทำหน้าที่จัดการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรี และก็เป็นไปตามระบอบเสียงข้างมากในสภาจัดตั้งรัฐบาล บุคคลที่จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง

และด้วยความต้องการหลักประกันเสียงสนับสนุนในสภาฯ เพื่อความเด็ดขาดทำให้พรรคพลังประชาชนต้องเชิญพรรคอื่นที่ต้องการอำนาจรัฐเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมตามหลักนิยมเกมการเมือง แต่อาจจะวิจารณ์ได้ว่า การร่วมรัฐบาลเพื่อต้องการอำนาจรัฐนั้น ไม่ใช่อุดมการณ์การเมืองที่บริสุทธิ์

อนุสนธินี้เองที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับการเสนอชื่อ และสภาฯ มีการลงมติให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 310เสียง ขณะที่พรรคฝ่ายเสนอชื่อนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกให้โดดเดี่ยวทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นยุทธวิธีปกติทางการเมืองได้รับคะแนนสนับสนุน 163 เสียง

ประเด็นแรกที่ต้องการแสดงความคิดเห็นได้แก่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนมีสิทธิเลือกใครก็ได้เป็นทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องยึดติดกับมติของพรรค แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า ในวันเลือกประธานสภาฯ ก็มีการตรวจสอบว่าสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลคนใดไม่สนับสนุนบ้าง และถึงกับมีการตรวจสอบยืนยันกันว่า สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนจะต้องยึดมติพรรคเป็นสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้สามารถวิเคราะห์เบื้องต้นว่า “เงาเผด็จการรัฐสภาก็ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัด และเข้มแข็งไม่เปลี่ยนแปลง”

รวมถึงการใช้กลยุทธ์สภาผู้แทนราษฎรในการสกัดกั้นการเสนอข้อคิดต่อสภาฯ ในเรื่องพฤติกรรมบุคคล บุคลิกภาพ ความสามารถ จริยธรรม คุณธรรม และความเป็น “คน” ที่สังคมปัญญาชนคนไทยที่ปกติทั่วไปยอมรับบุคคลทั้งในแง่บวกและลบ แต่ที่สำคัญมีข้อเท็จจริงปรากฏในโลกไซเบอร์ ใครๆก็สามารถอ่านประวัติของบุคคลสำคัญในสังคมไทยได้ในอินเทอร์เน็ต เช่นในวิกิพีเดีย ก็จะพบว่านายยงยุทธ ติยะไพรัช มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลไม่สมบูรณ์ไปประกอบแผนบุกโจมตีถล่มราษฎรไทยวัยคุณปู่ คุณย่าที่อยุธยาเกือบเสียชีวิต แต่รอดมาได้เพราะ “ตู้เย็น” เป็นโล่กำบังไว้ให้จึงเป็นเหตุให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยได้รับฉายาว่า “ยุทธตู้เย็น” ซึ่งในอดีต 2 ปีที่แล้วเป็นเรื่องแค่ระดับภูมิภาค แต่บัดนี้เป็นระดับนานาชาติไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนนายสมัคร สุนทรเวช ที่เพิ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 แห่งประเทศไทย ซึ่งต้องคำพิพากษาร่วมกับนายดุสิต ศิริวรรณ จัดรายการโทรทัศน์ “เช้าวันนี้ที่ช่อง 5” และ “สมัคร-ดุสิตคิดตามวัน” ทางช่อง 9 ถูกนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ขณะเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ด้วยการโฆษณาโดยทั้งสองกล่าวหาว่า นายสามารถ ทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม.ทางโทรทัศน์ ซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของทั้งคู่เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจริง

ทั้งนี้นายสมัคร สุนทรเวช ได้เคยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทมาแล้วหลายครั้ง โดยศาลปรานีให้รอลงโทษไว้เพื่อให้ปรับตัวเป็นคนดี แต่นายสมัคร สุนทรเวช กลับกระทำผิดซ้ำในความผิดเดิมอีก ศาลมีคำสั่งจำคุกนายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ รวม 4 กระทงๆ ละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 24 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และขณะนี้คดีกำลังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

แต่ขณะที่นายสมัคร สุนทรเวช และพลพรรคพลังประชาชนกำลังชื่นมื่นกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเอง ซึ่งในวันเดียวกัน นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ป.ป.ช.ว่าที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีการกล่าวหานายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ข้อหามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในโครงการจ้างเหมาเอกชนขนขยะมูลฝอยไปทำลาย 3 โครงการ วงเงิน 9,589 ล้านบาท ตามที่ สตง.ร้องเรียนมาโดยมีนายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ ซึ่งกรณีดังกล่าว สตง.ได้สรุปผลการสอบสวนว่านายสมัคร สุนทรเวช ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานในการดำเนินการโครงการดังกล่าว

ซึ่ง ป.ป.ช.แถลงว่า วาระการประชุมของ ป.ป.ช.เป็นแผนงานที่มีปฏิทินงานอย่างชัดเจนมิได้จัดฉากเพื่อเป็นการกลั่นแกล้ง หรือเป็นเกมการเมือง คงเป็นงานปกติของ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อใคร ดำเนินการตามแผนงานการสอบสวนไม่ขึ้นต่อครรลองการเมือง ผิดว่าตามผิด ถูกว่าตามถูก และโครงการที่ว่านี้คือ โรงงานกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช สถานีขนถ่ายมูลฝอยท่าแร้ง และโรงงานกำจัดมูลฝอยหนองแขม

ทำให้ในขณะนี้นายกรัฐมนตรีไทยมีคดีความถึงสองคดีที่ ต้องแก้ต่างเอาตัวรอด โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาทก็รออีกสองศาลว่าผู้พิพากษาท่านจะมีคำพิพากษาอย่างไรถ้ายืนคำพิพากษาของศาลชั้นต้น นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยก็ต้องเข้าคุก
กำลังโหลดความคิดเห็น