xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่ : ผลกระทบของการแทรกแซงค่าเงิน (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์
fsa@fpo.go.th

ถึงแม้ว่าการแทรกแซงค่าเงินจะทำให้แบงก์ชาติขาดทุน และส่วนทุนติดลบ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการขาดทุนของแบงก์ชาติและฐานะเงินกองทุนที่ ติดลบไม่ได้มีผลต่อประสิทธิภาพของแบงก์ชาติในการดำเนินนโยบายการเงินนัก แบงก์ชาติยังสามารถควบคุมเงินเฟ้อรักษาเป้าหมายอันเกิดจากเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี แต่อาจจะมีปัญหาบ้างเล็กน้อยในการสื่อสารทำความเข้าใจกับสาธารณชนถึงนัยสำคัญของการขาดทุนอันเกิดจากแทรกแซงค่าเงินบาท

ประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งคือ หนี้สินอันเกิดจากการแทรกแซงค่าเงินบาทในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้กู้ยืมเงินบาทในประเทศด้วยการออกพันธบัตรธปท. และกู้ยืมผ่านธุรกรรม RP เพื่อใช้ในขบวนการแทรกแซงค่าเงินไปแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท และถ้าจำเป็นก็อาจออกพันธบัตรกู้ยืมเงินได้อีก 500,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินและยอดคงค้างหากออกพันธบัตรครบตามจำนวน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 20 ของ GDP และมากกว่า 2 เท่าของปริมาณฐานเงินในระบบเศรษฐกิจ ในเรื่องนี้มองได้ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือ เป็นการออกพันธบัตรเพื่อ ดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจเพื่อไม่เกิดปัญหาเงินเฟ้อ เพราะการแทรกแซงค่าเงินทำให้แบงก์ชาติซื้อดอลลาร์ขายเงินบาทออกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งแบงก์ชาติจำเป็นต้องดึงเงินบาทกลับ เพื่อรักษาปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม หากมองในลักษณะที่สอง เป็นวิธีการ Financing ในการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะในการแทรกแซงค่าเงินนั้น แบงก์ชาติต้องออกพันธบัตรเพื่อหาเงินบาท (กู้เงินบาท) มาใช้ในการซื้อดอลลาร์สหรัฐจำนวนมาก ซึ่งไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ตาม ก็คือหนี้สินของแบงก์ชาติที่จะต้องใช้ในอนาคต แต่หากมองถึงแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังอ่อนค่าลง ประกอบกับฐานะทางการเงินของแบงก์ชาติที่ยังมีหนี้สินอันเกิดจากการที่กองทุนฟื้นฟูฯ ไปพยุงสถาบันการเงินในช่วงวิกฤต ปี 40 จำนวนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ทำให้แนวโน้มที่จะชำระหนี้ก้อนนี้ได้ด้วยผลกำไรของแบงก์ชาติเองภายใน 15 ปีข้างหน้า เป็นไปได้ยากมาก ค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มลดลงเป็นแรงกดดันให้แบงก์ชาติต้องแทรงแซงค่าเงินเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องออกพันธบัตรกู้ยืมเงินบาทเพิ่มขึ้นอีก จึงเป็นสถานการณ์ที่ ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องนี้จะจบที่ไหนและอย่างไร วิธีการที่ทำได้คือ ขายสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศออกมาบางส่วนในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้เงินบาทมาชำระหนี้พันธบัตรภายในประเทศ

ผู้ที่น่าเห็นใจและเข้าใจมากที่สุด ก็คือ แบงก์ชาติซึ่งอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะบริหารจัดการลำบาก ถ้าไม่แทรกแซงค่าเงินก็ขาดทุนจากการปรับราคาอัตราแลกเปลี่ยนตามราคาตลาดอยู่แล้ว แต่ถ้าแทรกแซงแล้วไม่สำเร็จ เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น ก็จะยิ่งขาดทุนหนัก เนื่องจากการที่จะขาดทุนมากหรือน้อย นอกจากจะขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังขึ้นกับปริมาณดอลลาร์สหรัฐฯ ที่สะสมเพิ่มขึ้นจากการแทรกแซงค่าเงิน และเป็นที่น่าสังเกตว่าการขาดทุนของแบงก์ชาติส่วนใหญ่ในปีนี้ เกิดขึ้นในช่วง 8 เดือนแรกของปี เพราะหลังจากนั้น แบงก์ชาติสามารถแทรกแซงค่าเงินค่อนข้างได้ผล ทำให้ค่าเงินบาทไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง (ไม่แข็งขึ้นมาก)

อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงค่าเงินบาทคราวนี้ก็ยังดีกว่าเมื่อคราวที่แล้ว (ปี 2540) เพราะทำให้ประเทศมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 35 พันล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากสิ้นปีที่แล้ว) จนประเทศเรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกินแสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก ซึ่งเราต้องพยายามบริหารจัดการให้ดี ทั้งต้องตระหนักถึงแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีค่าลดลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง การรักษามูลค่าและการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในยามนี้ให้เกิดดอกออกผลที่มั่นคง จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของประเทศไทยเรา
กำลังโหลดความคิดเห็น