xs
xsm
sm
md
lg

ถามจริยธรรมนักวิชาการตัดต่อ EIA โครงการหอดูดาวเผชิญปัญหาใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – โครงการหอดูดาวแห่งชาติ เผชิญกับปมใหม่ EIA ฉบับสมบูรณ์ที่ส่งให้ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม สผ.พิจารณา ตัดต่อข้อมูลอ้างอิง โดยตัดส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเองออกไปซึ่งเป็นปัญหาคาบเกี่ยวกับจริยธรรมทางวิชาการ ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาแจง เป็นข้อมูลที่ทางสถาบันฯจัดส่งมาให้ ระบุ สผ.ตีกลับหลายประเด็น ต้องรื้อใหม่ ให้รอดู EIA ฉบับใหม่ก่อนจะโต้แย้ง เชื่อเป็นโครงการมีประโยชน์ผลกระทบไม่มาก

โครงการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งกำหนดจะสร้างขึ้นที่ยอดดอยอินทนนท์ บริเวณหน่วยพิทักษ์ยอดดอย ซึ่งจะมีการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร เพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์ของชาติ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โดยได้จัดทำ EIA ฉบับสมบูรณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ไปให้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม และอยู่ระหว่างการแก้ไขรายงานที่ถูกตีกลับมา 19 ประเด็น

ประเด็นปัญหาที่โครงการดังกล่าวถูกคัดค้านจากนักอนุรักษ์ เช่น ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และ ภาคีคนฮักเจียงใหม่ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 เอ. อยู่บนจุดที่สูงที่สุดของดอยอินทนน์ซึ่งเริ่มมีความเสื่อมโทรมและอาจเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวม นอกจากนั้นโครงการนี้ต้องผ่านด่านเงื่อนไขข้อกฎหมาย ที่ระบุว่า ต้องผ่านการพิจารณา EIA เสียก่อนเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ. ซึ่งได้มีข้อถกเถียงในทางวิชาการถึงประเด็นข้อดีข้อเสียอยู่ในเวลานี้

ล่าสุด “ผู้จัดการรายวัน” ได้ตรวจสอบพบประเด็นใหม่ จากเอกสารรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ฉบับสมบูรณ์ (พฤศจิกายน 2550) ซึ่งเป็นรายงานที่จัดส่งไปให้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมพิจารณา โดยพบว่า มีความบกพร่องของเอกสารตัวอย่างการติดตั้งกล้องทั่วทุกประเทศในโลก ในภาคผนวก ก-4 ชื่อเอกสารต้นฉบับ The World Largest Optical Telescope อ้างอิงมาจาก เว็บไซต์ http://astro.nineplanets.org/bigeyes.html

ทั้งนี้ พบว่า ข้อมูลการนำเสนอกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ของโลกดังกล่าว ไม่ตรงกับต้นฉบับโดยได้ตัดส่วนนำเสนอหอดูดาวซึ่งมีพิกัดความสูงต่ำกว่า 2,400 เมตรออกไปทั้งหมด เพราะรายงานการศึกษาพยายามชี้ว่า การสร้างหอดูดาวควรสูงกว่า 2,400 เมตรซึ่งมีเพียงจุดเดียวเท่านั้นคือที่ดอยอินทนนท์

เมื่อพิจารณาจากรายงานการศึกษา บทที่ 1 เรื่องความเหมาะสมด้านกายภาพ (หน้า 1-4) ที่ระบุอย่างชัดเจน ว่า “การตรวจสอบหอดูดาวของทั่วทุกประเทศในโลก พบว่า จะดำเนินการติดตั้งหอดูดาวที่ระดับความสูงไม่น้อยกว่า 2,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล (ม.รทก.) และในประเทศไทยมีเพียงยอดดอยอินทนนท์ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565 เมตร ทำให้การติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ที่ระดับความสูง 2,565 ม.รทก.ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของประเทศไทย มีความจำเป็นและเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ได้แนบเอกสารการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ของทั่วทุกประเทศในโลกดังแสดงไว้ในภาคผนวก ก.”

ถ้อยความดังกล่าวที่ปรากฏในเอกสาร EIA ได้อ้างถึงสถิติเปรียบเทียบของหอดูดาวระดับโลก เพื่อโน้มน้าวและสร้างความเชื่อว่า เป็นเหตุผลในทางวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่ต้องเลือกจุดตั้งยอดดอยอินทนนท์ เพราะเมื่อพิจารณาจุดที่มีความสูงรองลงมาเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย คือ ดอยผ้าห่มปก มีระดับความสูงเพียง 2,285 เมตรเท่านั้น จึงมีจุดเหมาะสมเพียงจุดเดียวที่เลี่ยงไม่ได้

เมื่อ “ผู้จัดการรายวัน” ตรวจสอบไปยังต้นตอข้อมูลเอกสาร ที่ http://astro.nineplanets.org/bigeyes.html พบว่า มีข้อมูลของกล้องและหอดูดาว ที่ไม่ปรากฏใน EIA ถึง 27 แห่ง และทั้งหมด เป็นหอดูดาวซึ่งตั้งอยู่ในพิกัดความสูงต่ำกว่า 2,400 เมตร จากระดับน้ำทะเลทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในระยะความสูงประมาณ 1,700-2,300 เมตรโดยประมาณ

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชี้แจงเรื่อง ว่า ตนแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำ EIA สำหรับข้อสังเกตเรื่อง เอกสารอ้างอิงในภาคผนวก ก. เรื่องกล้องดูดาวจากทั่วโลกนั้น ตนเองก็ไม่ได้ทราบเรื่อง เข้าใจว่า เป็นเอกสารที่ เจ้าหน้าที่ในสำนักงานดำเนินการ

ทั้งนี้ รศ. บุญรักษา ยืนยันว่า จะพยายามดำเนินการทุกอย่างโดยระมัดระวังเพราะตนและทีมงานทั้งหมดห่วงใยในสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน นี่เป็นเงื่อนไขตามมติ ครม. ที่ให้ทำรายงาน EIA ซึ่งจะเป็นกระบวนการศึกษาที่ทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ หากไม่ผ่านความเห็นชอบก็พร้อมจะปรับเปลี่ยน ขอให้เชื่อใจว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ทางวิชาการและออกแบบอย่างรอบคอบที่สุด

“ผู้จัดการรายวัน” สอบถามทางโทรศัพท์ไปยัง บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA ผู้ที่ชี้แจงเรื่องไม่ประสงค์จะออกนาม ได้อธิบายต่อกรณีดังกล่าวว่า เป็นเอกสารที่ได้มาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งจัดส่งมาจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์

ทั้งนี้ บริษัทกำลังเร่งทำรายงาน EIA ฉบับแก้ไขจากการที่ คณะผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ได้ตีกลับให้ศึกษาทบทวนใหม่หลายประเด็น ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากฉบับเดิมจนแทบจำเค้าไม่ได้ เช่น เรื่องการศึกษารายละเอียดด้านสัตว์ และ พืช ตนอยากให้ผู้เกี่ยวข้องไปดูสถานที่จริงและดูข้อเท็จจริงว่า ตัวอาคารนั้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 9 เมตร สูง 11 เมตร แทบจะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อสภาพแวดล้อมเลย เมื่อเทียบกับกิจกรรมของมนุษย์ที่มีอยู่เดิมแล้วยิ่งจะเห็นความแตกต่าง เพราะปัจจุบันก็มีร้านค้า ร้านกาแฟ และห้องสุขาตรงจุดนั้น เมื่อโครงการจัดตั้งจะปรับปรุงห้องสุขาเดิมและร้านค้ามาเป็นห้องนิทรรศการ ไม่ได้ก่อสร้างใหม่แต่อย่างใด

รายงานแจ้งว่า กลุ่มอนุรักษ์ที่ติดตามโครงการนี้ได้หารือร่วมกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมประเด็นข้อสงสัยต่อรายงาน EIA และเตรียมจัดส่งให้แก่ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมต่อไป มีรายงานว่า ในระหว่างการประชุมมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รายงาน EIA ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการ “ตัดต่อพันธุกรรมข้อมูล” ซึ่งหากไม่สังเกตลงลึกจะไม่พบสิ่งผิดปกติ และหากเป็นเช่นนั้นจริงมีเรื่องที่ต้องพิจารณาเพิ่มขึ้นในประเด็น “จริยธรรมทางวิชาการ” ของผู้จัดทำรายงาน EIA ด้วย.

สำหรับ ข้อมูลหอดูดาวจากเอกสารต้นฉบับส่วนที่ถูกตัดออก
ที่มา http://astro.nineplanets.org/bigeyes.html เปรียบเทียบกับ เอกสารที่อ้างอิงในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการหอดูดาวแห่งชาติ


1.Gran Telescopio Canarias ประเทศสเปน ความสูง 2,400 ม.
2.SALT ประเทศแอฟริกาใต้ ความสูง 1,759 ม.
3.Hobby-Eberly เทกซัส อเมริกา ความสูง 2,072 ม.
4.Walter Baade ประเทศ ชิลี ความสูง 2,282 ม.

5.Bolshoi Teleskop Azimutalnyi ประเทศรัสเซีย ความสูง 2,070 ม.
6.LZT ประเทศแคนาดา ความสูง 395 ม.
7.Hale แคลิฟอเนีย อเมริกา ความสูง 1,900 ม.
8.Victor Blanco ประเทศชิลี ความสูง 2,200 ม.

9.Anglo-Australian ประเทศออสเตรเลีย ไม่ระบุพิกัด
10.Mayall แอริโซนา อเมริกา ความสูง 2,100 ม.
11.Telescopio Nazionale Galileo ประเทศสเปน ความสูง 2,387 ม.
12.MPI-CAHA ประเทศสเปน ความสูง 2,200 ม.

13.WIYN แอริโซนา อเมริกา ความสูง 2,100 ม.
14.Starfire ประเทศเม็กซิโก ความสูง 1,900 ม.
15.Shane แคลิฟอร์เนีย อเมริกา ความสูง 1,300 ม.
16.Harlan Smith เทกซัส อเมริกา ความสูง2,100 ม.

17.BAO ประเทศ อาร์เมเนีย ความสูง 1,405 ม.
18.Shajn ประเทศยูเครน ความสูง 600 ม.
19.Hooker แคลิฟอร์เนีย อเมริกา ความสูง 1,700 ม.
20.du Pont ประเทศชิลี ความสูง 2,282 ม.

21.CHARA แคลิฟอร์เนีย อเมริกา ความสูง 1,700 ม.
22.Hiltner แอริโซนา อเมริกา ความสูง 2,100 ม.
23.ANU ประเทศออสเตรเลีย ไม่ระบุพิกัด
24.Bok แอริโซนา อเมริกา ความสูง 2,100 ม.

25.Vainu Bappu ประเทศอินเดีย ความสูง 700 ม.
26.ESO-MPI ประเทศ ชิลี ความสูง 2,335 ม.
27.MPI-CAHA ประเทศสเปน ความสูง 2,200 ม.
กำลังโหลดความคิดเห็น