ผู้จัดการรายวัน – สผ. ระบุ โครงการหอดูดาวแห่งชาติที่ดอยอินทนนท์ ยังไม่ส่ง อีไอเอฉบับแก้ไขกลับมา เผยเคยมีการตีกลับมาก่อนหน้าเพราะทำไม่ถูกขั้นตอน ส่วนกรณีมีข่าวผู้จัดทำบิดเบือนข้อมูลประกอบอีไอเอ ยังไม่ได้ตรวจสอบ หากผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามาจะตั้งเรื่องสอบส่วนจะลงโทษหนักเบาขึ้นอยู่กับประเด็น ด้านอดีตประธานมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ชี้หากจงใจโน้มน้าวด้วยการตกแต่งข้อมูลเป็นการไม่เหมาะสม
นายสันติ บุญประคับ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการพิจารณารายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ โครงการหอดูดาวแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ว่า ล่าสุด สผ. ยังไม่ได้รับรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ศึกษาโครงการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งกำหนดจะสร้างขึ้นที่ยอดดอยอินทนนท์
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการตรวจสอบขอข้อมูลรายงานผลกระทบดังกล่าว ควรติดต่อโดยตรงที่หน่วยงานต้นเรื่อง ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพราะในส่วนของ สผ.จะเปิดเผยรายงานดังกล่าว หลังจากที่คณะผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติผ่านแล้วเท่านั้น
ทั้งนี้ รายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการดังกล่าวสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ว่าจ้างให้ บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงาน โดยได้จัดทำ EIA ฉบับสมบูรณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ไปให้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม และอยู่ระหว่างการแก้ไขรายงานที่ถูกตีกลับมา 19 ประเด็น
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ นาย สันติ ระบุ พบว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รายงานอีไอเอฉบับนี้ถูกตีกลับ เพราะก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เคยเสนอรายงานขึ้นไปแต่ผิดขั้นตอนจึงถูกตีกลับ
“ ปัญหาของโครงการนี้ คือ ไม่ได้ใช้ผู้ได้รับอนุญาตมาทำรายงานการศึกษา อีไอเอ ฉบับที่เคยส่งมาก่อนหน้าเขาใช้หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาต จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตแทน”
ต่อข้อถามที่ว่า มีการพบว่ารายงาน อีไอเอฉบับสมบูรณ์ (พ.ย.2550) ที่ส่งให้ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมพิจารณา มีการตัดต่อข้อมูลวิชาการอ้างอิง ซึ่งส่อว่าเพื่อโน้มน้าวให้เข้าใจว่า หอดูดาวสำคัญทั่วโลกล้วนแต่ตั้งบนพิกัดความสูงเกิน 2,400 เมตรทั้งสิ้น โดยได้ตัดส่วนที่ตั้งอยู่บนความสูงต่ำลงมาออกไปทั้งหมดเกือบ 30 แห่ง
นาย สันติ ตอบว่า สผ. ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีการจงใจบิดเบือนข้อมูลวิชาการจริง ผู้ดำเนินการต้องได้รับบทลงโทษซึ่งหนักเบาต้องพิจารณาจากการกระทำ ทั้งนี้จะต้องมีผู้ร้องเข้ามา เช่น หากหน่วยงานเจ้าของเรื่องคือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เห็นว่า บริษัทที่ปรึกษาทำข้อมูลไม่ตรง เกิดความเสียหาย ก็ร้องเข้ามาได้
ต่อกรณีเดียวกัน ผู้บริหารของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับ ผู้สื่อข่าวผู้จัดการประจำศูนย์ข่าวเชียงใหม่ ว่า เป็นเหตุผลทางวิชาการที่ตัดรายชื่อหอดูดาวที่มีพิกัดความสูงต่ำกว่า 2,400 เมตรออกไปจากรายงาน
รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) อธิบายว่า “เหตุผลที่ไม่ได้ส่งข้อมูลประกอบเกี่ยวกับหอดูดาว ที่ตั้งอยู่ในจุดที่มีความสูงต่ำกว่า 2,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เพราะหอดูดาวเหล่านั้น ตั้งอยู่ในประเทศที่มีภูมิประเทศแตกต่างจากประเทศไทย คือไม่มีสภาพภูมิประเทศที่มีภูเขาสูงหรือเป็นพื้นที่ราบ ซึ่งไม่มีจุดที่มีความสูงเหมือนในประเทศไทย ทำให้การตั้งหอดูดาวในประเทศเหล่านั้นต้องตั้งอยู่ในจุดที่มีความสูงต่ำกว่า 2,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล”
ศ. ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ให้ความเห็นในนามของอดีตประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ทีอีไอ) ว่า กรณีโครงการสร้างหอดูดาวแห่งชาติ ที่ยอดดอยอินทนนท์ สังคมควรให้ความสำคัญต่อกระบวนการของการถกเถียงด้วยข้อเท็จจริงทางวิชาการที่รอบด้าน เพราะก่อนหน้านี้หลาย ๆ โครงการมีทั้งพวกที่หนุนและค้าน ซึ่งต่างมีชุดข้อมูลที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ประเด็นการถกเถียงในเว็บบอร์ดเฉพาะกลุ่มที่ผ่านมา เป็นสัญญาณและตัวอย่างที่ดีให้แก่สังคม ที่มีการเถียงกันโดยเหตุผล ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และด้วยท่วงทำนองของปัญญาชน และเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “Technical hearing” ซึ่งประเทศไทยน่าจะมีกระบวนการนี้อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของผู้จัดการรายวันพบว่า เว็บบอร์ดที่มีการถกเถียงในลักษณะดังกล่าว ประกอบด้วย กระดานข่าวชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา http://lannabird.org/nuke/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=101&postdays=0&postorder=asc&start=0 ในห้องบลูแพลนเน็ตของพันทิปดอทคอม http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E6150452/E6150452.html และ ในกระดานข่าวของเว็บไซต์ดาราศาสตร์ดอทคอม http://www.darasart.com/webboard/Question.asp?GID=2972
ต่อกรณีที่มีการตัดต่อข้อมูลวิชาการ ศ.ดร.ธงชัย มองว่า มีข้อมูลว่า การสร้างหอดูดาวในพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรนั้นควรจะต้องสูงกว่าพื้นที่ขั้วโลก อย่างไรก็ตาม กรณีการเขียนรายงานอีไอเอ ซึ่งเป็นรายงานวิชาการ ก็ไม่ควรตัดต่อ ดัดแปลง ยิ่งหากทำด้วยความจงใจจะโน้มน้าวให้โครงการผ่าน ยิ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
ศ. เฉลิมพล แซมเพชร ตัวแทนภาคีคนฮักเจียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรประชาชนที่คัดค้านการก่อสร้างหอดูดาวบนจุดยอดดอยอินทนนท์ กล่าวว่า สมาชิกภาคีคนฮักเจียงใหม่จะเดินทางไปดูสภาพแวดล้อมของอ่างกา บนยอดดอยอินทนนท์ที่ทรุดโทรมและขาดน้ำ ในระหว่างสุดสัปดาห์นี้ นอกจากนั้นจะหารือกันว่า จะดำเนินการต่อไปเช่นไรกับปัญหารายงาน อีไอเอ ที่มีความผิดพลาดและบกพร่องมาก
ข้อมูลหอดูดาวจากเอกสารต้นฉบับ ส่วนที่ถูกตัดออกจากรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ (พ.ย.2550)
ที่มา http://astro.nineplanets.org/bigeyes.html เปรียบเทียบกับ เอกสารที่อ้างอิงในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการหอดูดาวแห่งชาติ
1.Gran Telescopio Canarias ประเทศสเปน ความสูง 2,400 ม.
2.SALT ประเทศแอฟริกาใต้ ความสูง 1,759 ม.
3.Hobby-Eberly เทกซัส อเมริกา ความสูง 2,072 ม.
4.Walter Baade ประเทศชิลี ความสูง 2,282 ม.
5.Bolshoi Teleskop Azimutalnyi ประเทศรัสเซีย ความสูง 2,070 ม.
6.LZT ประเทศแคนาดา ความสูง 395 ม.
7.Hale แคลิฟอร์เนีย อเมริกา ความสูง 1,900 ม.
8.Victor Blanco ประเทศชิลี ความสูง 2,200 ม.
9.Anglo-Australian ประเทศออสเตรเลีย ไม่ระบุพิกัด
10.Mayall แอริโซนา อเมริกา ความสูง 2,100 ม.
11.Telescopio Nazionale Galileo ประเทศสเปน ความสูง 2,387 ม.
12.MPI-CAHA ประเทศสเปน ความสูง 2,200 ม.
13.WIYN แอริโซนา อเมริกา ความสูง 2,100 ม.
14.Starfire ประเทศเม็กซิโก ความสูง 1,900 ม.
15.Shane แคลิฟอร์เนีย อเมริกา ความสูง 1,300 ม.
16.Harlan Smith เท็กซัส อเมริกา ความสูง 2,100 ม.
17.BAO ประเทศอาร์เมเนีย ความสูง 1,405 ม.
18.Shajn ประเทศยูเครน ความสูง 600 ม.
19.Hooker แคลิฟอร์เนีย อเมริกา ความสูง 1,700 ม.
20.du Pont ประเทศชิลี ความสูง 2,282 ม.
21.CHARA แคลิฟอร์เนีย อเมริกา ความสูง 1,700 ม.
22.Hiltner แอริโซนา อเมริกา ความสูง 2,100 ม.
23.ANU ประเทศออสเตรเลีย ไม่ระบุพิกัด
24.Bok แอริโซนา อเมริกา ความสูง 2,100 ม.
25.Vainu Bappu ประเทศอินเดีย ความสูง 700 ม.
26.ESO-MPI ประเทศ ชิลี ความสูง 2,335 ม.
27.MPI-CAHA ประเทศสเปน ความสูง 2,200 ม.