xs
xsm
sm
md
lg

สหพัฒน์ผวาทุนหนีไทยท้า NGO ต้านนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- “สหพัฒน์”หนุนนิวเคลียร์เต็มพิกัดหวั่นไทยตกขบวนอาเซียน หลังเวียดนาม อินโดฯประกาศลุยแล้ว ย้ำนักลงทุนต้องการต้นทุนการผลิตที่ต่ำนิวเคลียร์คือคำตอบ ท้าเอ็นจีโอหารือทุกเมื่อ จวกชอบค้านตอนก่อสร้างทำให้เสียหาย ขณะที่หอการค้าหนุนอีกทางหวั่นรัฐบาลใหม่กลัวเอ็นจีโอแผนหายไปอีก

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง” โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” จัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยวานนี้(24ม.ค.) ว่า ขณะนี้เวียดนามและอินโดนีเซียประกาศเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วหากไทยยังคงนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ การลงทุนจะย้ายไปยังประเทศเหล่านี้แทนเนื่องจากต้นทุนค่าไฟจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ต้นทุนภาคการผลิตมีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อการส่งออก ดังนั้นจึงต้องการเห็นไทยเร่งดำเนินการเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านนิวเคลียร์อาเซียนหรือฮับในการดึงดูดการลงทุน

“เมืองไทยไม่มีใครกล้าพูด ผมกล้าพูดที่จะสนับสนุนนิวเคลียร์เพราะเห็นว่าในที่สุดแล้วจะไม่มีพลังงานทางเลือกอื่นๆที่จะสะอาดและมีต้นทุนต่ำเท่านิวเคลียร์อีก 5-6 ปีนี้แล้ว และผมจำเป็นต้องพูดเพราะมองประโยชน์ของประเทศเพราะต้องการจะบอกให้กับคนที่มาคัดค้านหรือเอ็นจีโอไม่สนับสนุนมาคุยกับผมให้เข้าใจเพราะเอกชนยังไม่ตัดสินใจลงทุน ซึ่งเอ็นจีโอชอบคัดค้านตอนที่เขาลงทุนแล้วอย่างนี้ก็เสียหาย ผมเองก็ตั้งใจให้เอ็นจีโอเข้ามาซักถามผมถึงตอนนี้ก็ยังรออยู่”นายบุณยสิทธิ์กล่าว

สำหรับเครือสหพัฒน์ฯสนใจที่จะลงทุนสร้างนิวเคลียร์เพราะเป็นผู้ผลิตและส่งออกที่ต้องการต้นทุนที่ต่ำในการแข่งขันกับต่างประเทศเช่นกันแต่จะเป็นอย่างไร ที่ไหนทุกอย่างคงต้องรอความชัดเจนหลายด้าน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องออกมากระตุ้นให้คนไทยได้รับรู้ความจริงก่อนและรัฐบาลใหม่มาก็หวังว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้ โดยส่วนตัวต้องการเห็นเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างน้อยไม่ได้เป็นผู้นำเอเชียทั้งที่คิดมาก่อนกว่า 30 ปีแต่น่าจะเป็นผู้นำในอาเซียนได้แม้ว่าจะประกาศหลังเวียดนามก็ตาม

ทั้งนี้ หลังจากที่สหพัฒน์ฯประกาศจะลงทุนนิวเคลียร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศได้สอบถามเข้ามามาก เพราะนักลงทุนส่วนหนึ่งเขาก็ห่วงความมั่นคงด้านไฟฟ้าของไทย เพราะเขาทราบดีว่าไทยต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลักเนื่องจากไม่มีแหล่งพลังงานเป็นของตนเอง ขณะที่ถ่านหินแม้จะมีต้นทุนต่ำแต่ก็มีปัญหาภาวะโลกร้อน ส่วนความปลอดภัยหลายคนเกรงกลัวเพราะที่ผ่านมานำไปใช้เป็นปรมณูในสงครามแต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว ประกอบกับเพื่อนบ้านก็พร้อมจะสร้างก็เปรียบเสมือนอยู่หน้าประตูบ้านเราอยู่ดีคนไทยจึงไม่ควรจะโง่ไปโง่มาแล้วท้ายสุดก็หนีไม่พ้นอยู่ดี

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการรองเลขาธิการ และรองประธานคณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย กล่าวว่า ไทยพูดถึงนิวเคลียร์มา 30 ปีแล้วการที่หอการค้าเปิดเวทีครั้งนี้ก็เพื่อแสดงจุดยืนและกล้าที่จะออกมาพูด ซึ่งเอกชนเองจะต้องผลักดันเพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดขึ้น โดยหวังว่ารัฐบาลใหม่และรัฐบาลในอนาคตจะเห็นความสำคัญในจุดนี้ หากรัฐบาลกลัวเอ็นจีโอหรือถูกคัดค้านแผนนี้ก็จะหายไปละเลยไม่ตัดสินใจ

“เราได้แจ้งไปยังหอการค้าทั่วประเทศเพื่อให้เห็นและตระหนักถึงการให้ความรู้ซึ่งหากมีเอกชนตัดสินใจลงทุนที่ใดก็พร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุน”นางกอบกาญจน์กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงานกล่าวว่า การผลักดันนิวเคลียร์ให้อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2563 คงจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ซึ่งจะต้องวางแผนตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป โดยนิวเคลียร์มีเงื่อนไขที่ต่างจากอดีตเพราะช่วง 2-3 ปีนี้ราคาน้ำมันแพงประกอบกับภาวะโลกร้อนทำให้นิวเคลียร์เริ่มกลายมาเป็นคำตอบของพลังงานในอนาคตเพราะนอกจากจะไม่ทำให้โลกร้อนแล้วราคายังต่ำไม่ถึง 2 บาทต่อหน่วย ขณะที่ก๊าซธรรมชาติราคาได้ปรับสูงขึ้นตามน้ำมันส่งผลให้ต้นทุนผลิตไฟจากก๊าซฯแหล่งใหม่จาก 2 บาทต่อหน่วยเป็น 2.5 บาทต่อหน่วยแล้ว ขณะที่ผลิตจากน้ำมันเตาต้นทุน 4.5 บาทต่อหน่วย ซื้อไฟจากเพื่อนบ้าน 2 บาทต่อหน่วย

“เราต้องเตรียมการเรามีเวลาแค่ 6 ปีถึงวันนั้นเรายังเลือกได้ว่าจะเอาอะไรหากมีเทคโนโลยีใหม่เราก็ทิ้งนิวเคลียร์แต่ถ้าไม่มีจะทำอย่างไร ต้องหันไปใช้น้ำมันเตาค่าไฟจะแพงมาก ก๊าซฯนำเข้า ถ่านหิน ก็หายากและราคาแพงมากแล้ว “นายปิยสวัสดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น