xs
xsm
sm
md
lg

กกต.หวั่นเลือกตั้ง ส.ว.หงอย เล็งขอ ครม.ให้หน่วยงานช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกต.เตรียมของบฯ 2,100 ล้านบาทเลือกตั้ง ส.ว. ขณะที่ที่ประชุมหน่วยงานสนับสนุนรุมของบเพิ่ม "อภิชาต" เข้มต้องปรับลด พร้อมขอกรมการปกครองช่วยหายอดผู้มีสิทธิอายุ 18 ปีให้ชัด พร้อมเสนอไอเดีย ซื้อตู้คอนเทนเนอร์เก็บบัตรเลือกตั้ง "ประพันธ์" หวั่นใช้สิทธิไม่ถึงร้อยละ 70 เหตุประชาชนไม่ตื่นตัว เร่งประชาสัมพันธ์ และขอมติ ครม.ให้หน่วยงานราชการช่วย ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัดกำหนดแล้ว 23-24 ก.พ.นี้ เตรียมออกระเบียบการติดป้ายและรายละเอียดการหาเสียงให้ผู้สมัครทราบ "รสนา" เฮ กกต.ไฟเขียวให้ลงสมัคร ส.ว.ได้ ยอดล่าสุดใน กทม.มีแค่ 6 คน

วานนี้ ( 24 ม.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดประชุมหน่วยงาน สนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมีผู้แทน 17 องค์กร อาทิ ผู้แทนจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากกระทรวงต่างประเทศ ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมว่า ขณะนี้มีผู้มาสมัครเลือกตั้ง ส.ว.รวมทั่วประเทศ 205 คน ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะไม่มีผู้มาสมัครนั้น เข้าใจว่าในวันนี้ ( 25) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายการเปิดรับสมัคร จะมีผู้สนใจมาสมัครมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้มีผู้มาสมัครเลือกตั้ง ส.ว.จำนวนไม่มากนัก แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อ กกต.มาก

สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัด กกต.กำหนดเปิดให้มีการ ลงทะเบียนขอใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 3-31 ม.ค. และกำหนดลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ว.ในและนอกเขตเลือกตั้ง จะมีขึ้นในวันที่ 23 - 24 ก.พ. ส่วนการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า นอกราชอาณาจักร จะมีขึ้นในวันที่ 11-24 ก.พ.ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้มีทั้งสิ้น 2,100 ล้านบาท โดยเป็นส่วนที่ กกต.ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล 1,800 ล้านบาท และนำเงินเหลือสะสมของกกต.มาสมทบอีก 300 ล้านบาท เพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารเลือกตั้ง กล่าวว่า ปัญหาของการจัดการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ อยู่ที่ความสนใจของประชาชน คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประชาชน จะมาใช้สิทธิ 70 % ดังนั้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และการจัดการเลือกตั้งส.ว.ครั้งนี้ก็จะนำปัญหาจากการเลือกตั้งส.ส.มาเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงให้การจัดเลือกตั้งสมบูรณ์ เช่น ปัญหาการขึ้นทะเบียนของผู้มาใช้สิทธิยังตกหล่นอยู่ การแจกจ่ายเอกสารถึงเจ้าบ้าน ซึ่งบางบ้านไม่ได้รับหนังสือแนะนำตัวผู้สมัคร หรือ รายชื่อและหมายเลขของผู้สมัครพิมพ์ผิด

"การเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้ กกต.จะขอมติ ครม.อีกครั้งเพื่อให้ส่วนราชการสนับสนุนงานของ กกต.และกำชับให้เจ้าหน้าที่วางตัวเป็นกลาง และอาจจะต้องขอให้กกต. ออกมติให้หน่วยราชการหรือหน่วยงานรัฐวิสากิจที่มาช่วยงานเลือกตั้งของกกต.สนับสนุนงบประมาณให้กับกกต.ได้ เพราะบางหน่วยงานก็อยากช่วยเรื่องนี้กับกกต. แต่ไม่กล้าให้ เกรงจะมีความผิด แต่ถ้าจะขอมติ ครม.ก็ต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. เนื่องจากครม.จะหมดอายุแล้ว"

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ว.ได้มีการ วางแผนแบบคู่ขนานกับการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.รวมทั้งได้ศึกษาบทเรียนของการ เลือกตั้ง ส.ส.โดยเห็นได้จากการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 17 ชุด เพื่อให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ว.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การตั้งคณะอนุกรรมการแรงงานขึ้นมา เพื่อประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ส.ว. ให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงกรอบการทำงานขององค์กร ต่างๆ ทั้งในด้านงบประมาณที่แต่ละองค์กรจะได้รับ การดูแลรักษาความปลอดภัย โครงสร้างการบริหารจัดการการเลือกตั้ง ส.ว. นอกจากนี้ทีประชุมยังได้ให้ผู้แทน จากส่วนต่างๆ ชี้แจงถึงกรอบการทำงานรวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 23 ธ.ค. ด้วย

โดยตัวแทนสำนักบริหารงานทะเบียนจากกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงว่า การที่กรมการปกครองได้งบประมาณเลือกตั้ง ส.ว.จำนวน 123 ล้านบาท ขอเรียนว่าไม่พอแน่นอน เนื่องจากมีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีอายุ 18 ปี เพิ่มขึ้น จากการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมากว่า 1 ล้านคน จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนบาท

นายอภิชาต กล่าวชี้แจงว่า งบประมาณจำเป็นต้องปรับลดลงกว่าเดิมเนื่องจาก มีงบประมาณแค่ 2,100 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อยากให้กรมการปกครอง ช่วยหายอดของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีที่มีสิทธิเลือกตั้ง และอยากให้ตรวจสอบรายชื่อ ประชาชนที่อยู่จริงในทะเบียนราษฎร์ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีชื่อของคนที่เสียชีวิต ไปแล้วหลายปียังปรากฏอยู่ในทะเบียนราษฎร์ และอยากให้ช่วยปรับปรุงในเรื่องของ ทะเบียนต่อไป เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมายังมีปัญหารายชื่อของประชาชน ตกอยู่ในทะเบียนกลาง ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาและอยากให้ช่วยปรับปรุงให้ดีกว่านี้

ขณะที่ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ขอตั้งข้อสังเกตว่า มี กกต.จังหวัด เอาบัตรเลือกตั้งรวมทั้งหีบบัตรเลือกตั้งไปเก็บไว้ ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และไม่มีคนรักษาความปลอดภัย ซึ่งตนได้บอก เจ้าหน้าที่ไปว่าให้ช่วยดูแลด้วย เพราะไม่อยากมีการตั้งคณะกรรมการสอบไม่เช่นนั้นคนในกระทรวงศึกษาธิการจะโดนไปด้วย

ด้าน ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า มี กกต.บางจังหวัดที่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีการนำบัตร และหีบบัตรเลือกตั้งไปเก็บไว้ยังสถานีตำรวจ ซึ่งบางครั้งมีผู้ต้องหาขโมยบัตรเลือกตั้งไปดูบ้าง ก็จะทำให้เป็นปัญหา ซึ่งประเด็นนี้ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนเพราะสถานีตำรวจบางแห่งไม่สามารถรับภาระในการเก็บรักษาบัตรเลือกตั้งและหีบเลือกตั้งได้

นายอภิชาต ได้กล่าวชี้แจงว่า เรื่องนี้เรามีบทเรียนแล้วคือการเผาบัตรเลือกตั้งที่ จ.ร้อยเอ็ด กกต.ก็ได้มีการปรับปรุง ซึ่งเคยมีคนให้ความเห็นว่า กกต.ควรซื้อตู้ คอนเทนเนอร์ ให้กับ กกต.ทุกจังหวัด ไว้สำหรับเก็บบัตรเลือกตั้ง และหีบเลือกตั้งโดยเฉพาะ หลังจากนั้นค่อยนำไปฝากไว้ที่สถานีตำรวจ ส่วนใครจะนำเต้นท์มากางก็สามารถทำได้

ด้าน นายประพันธ์ กล่าวว่า การปราศรัยเวทีกลางพรรคการเมือง ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา มีประชาชนมาฟังการปราศรัยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ในการเลือกตั้ง ส.ว. อยากให้กรมประชาสัมพันธ์ช่วยทำการถ่ายทอดการปราศรัยผ่านทางโทรทัศน์ และวิทยุท้องถิ่น ซึ่งตนเชื่อว่าหากมีการถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุแล้ว ประชาชนก็จะมาฟังการปราศรัยที่เวทีกลางมากขึ้น

ผู้แทนจากกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้มีอยู่ในแผนการ ดำเนินงานแล้ว ขอเพียงแค่ กกต.กำหนดวันมาเท่านั้น ว่าจะให้ออกอากาศวันไหน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ กกต.จะออกระเบียบเกี่ยวกับการติดป้ายประกาศหาเสียงของผู้สมัครส.ว. เพราะเกรงว่า ผู้สมัครอาจสับสนในเรื่องของการหาเสียง เนื่องจากการเลือกตั้งส.ว.ครั้งที่ผ่านมา ให้ผู้สมัครทำได้เพียงแนะนำตัวเท่านั้น แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้สมัครหาเสียงได้ แต่การหาเสียงต้องเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ ส.ว.เท่านั้น ดังนั้นกกต.จะทำรายละเอียดว่า จะหาเสียงในเรื่องใดได้บ้าง เช่นการหาเสียงที่กล่าวถึงการทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เพราะหากใช้คำถ้อยคำ หรือการหาเสียงที่สื่อสารผิด อาจส่งผลให้ถูกใบเหลืองใบแดงได้

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ให้สัมภาษณ์ถึงการสมัครรับเลือกตั้งส.ว. ว่า ไม่เป็นห่วงเรื่องจำนวนผู้สมัครในภาพรวม แต่ห่วงในบางจังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว จะทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกตั้ง จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้มาสมัครกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กกต.ไม่มีแนวคิดที่จะขยายเวลาการรับสมัครออกไป เพราะต้องทำงานตามกรอบเวลาทีกำหนดไว้ แต่ถ้าที่สุดแล้วมีผู้สมัครน้อย ประชาชนไม่มีทางเลือกก็ต้องยอมรับ กกต.คงไปช่วยไม่ได้ คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามความจริง ตามสภาพ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่ายเพื่อนผู้บริโภค และบอร์ด อสมท เปิดเผยว่า ได้ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.เรียบร้อยแล้วโดยได้เบอร์ 5 หลังจาก กกต.รับรองแล้วว่า ตนสามารถลงเลือกตั้ง ส.ว.ได้

ทั้งนี้ในการสมัครตนได้นำหลักฐานที่เลขาธิการ กกต.กทม.ยืนยันคุณสมบัติของตนมายื่นประกอบการสมัคร รวมทั้งเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2543 กรณีที่ผู้สมัครจากสภาทนายความยื่นสมัครเลือกตั้ง ส.ว.กับกกต.ชุดแรก แต่ติดขัดในเรื่องคุณสมบัติว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ซึ่งเมื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลได้วินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่จะต้องตีความอย่างแคบ เช่นการกินเงินเดือน แต่กรณีได้รับเบี้ยประชุมไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

"ในการรับสมัครส.ว. ถือเป็นดุลพินิจของกกต.กทม. ซึ่งภายหลังการตรวจสอบเอกสาร ก็ตอบรับให้เป็นผู้สมัคร"

นายไชยณรงค์ เทียนมงคล ผอ.กกต.กทม.เปิดเผยว่าล่าสุดกทม.มียอดผู้สมัครสว.แล้วจำนวน 6 คนประกอบด้วย 1. นายประทีป พิทยะวรพงศ์ 2. ร.อ.พรชัย รัศมีแพทย์ 3.นายธนช รัตนศาสตร์สุข 4.นายสมควร บลูมินเหนทร์ 5.น.ส.รสนา โตสิตระกูล 6. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ

อย่างไรก็ตาม กทม.ขอเชิญประชาชนที่สนใจและมีคุณสมบัติตามกฏหมาย มาสมัครกันให้มาก ซึ่งขณะนี้มีผู้มาขอแบบฟอร์มสมัครไปดูรายละเอียดประมาณ 20 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น