คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อรับชมและฟัง ในรูปแบบ Photo Slide Show
1.“ในหลวง”ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 15 วัน พระราชทานพระศพ”พระพี่นางฯ”!
เมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 ม.ค.และช่วงสายวันที่ 17 ม.ค.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนาง เจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ ยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร(ทักษิณานุปทาน 15 วัน)พระราชทานถวายพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีประชาชนจำนวนมากเฝ้ารับเสด็จ ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้ ครม.ทราบว่า หลังครบกำหนดไว้อาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นเวลา 15 วันแล้ว ขอให้เป็นเรื่องของความสมัครใจและความสำนึกของข้าราชการและประชาชนว่าจะไว้อาลัยจนครบ 100 วันตามพระราชพิธีหรือไม่ ขณะที่ประชาชนจากทั่วประเทศยังคงหลั่งไหลไปเข้าสักการะพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททุกวัน ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยประชาชนที่ไปรอถวายสักการะพระศพ จึงได้มีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังนำปะรำมาติดตั้งบริเวณสนามหญ้าหน้าศาลาสหทัยสมาคม หน้าศาลาลูกขุน และหน้าศูนย์ศิลปาชีพ ในพระบรมมหาราชวังจำนวน 9 หลัง เพื่อให้ประชาชนได้นั่งพักหลบแดด ยังความซาบซึ้งแก่ประชาชนที่ไปรอถวายสักการะพระศพเป็นอันมาก สำหรับความคืบหน้าการเตรียมก่อสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพนั้น นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร บอก คาดว่าจะสามารถปลูกโรงทำแบบพระเมรุและลงเสาเอกพระเมรุได้ในช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้ สำหรับประชาชนที่สนใจการก่อสร้างพระเมรุ สามารถติดตามได้ที่ www.finearts.go.th
พสกนิกรเฝ้าฯ รับเสด็จ "ในหลวง-ราชินี"บำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร
"ในหลวง-ราชินี" เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมาวาร
พสกนิกรถวายสักการะพระศพอย่างไม่ขาดสาย
2. “สมัคร”ล็อค 5 พรรคประกาศจัดตั้ง รบ.แล้ว 315 เสียง!
ในที่สุด รัฐบาลผสม 6 พรรค 315 เสียง คือ พรรคพลังประชาชน-พรรคชาติไทย-พรรคเพื่อแผ่นดิน-พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา-พรรคมัชฌิมาธิปไตย-พรรคประชาราช ก็ได้ฤกษ์แถลงประกาศร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้(19 ม.ค.) ที่โรงแรมสุโขทัย โดยแกนนำของแต่ละพรรคที่มาร่วมแถลงส่วนใหญ่คือหัวหน้าพรรค เช่น นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ,นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ,นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ,พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ขณะที่ทางพรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคไม่ได้มา แต่ส่ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ มาร่วมแถลงแทน ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตย มีนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เลขาธิการพรรค มาร่วมแถลง สำหรับการเปิดแถลงร่วม 6 พรรคในวันนี้ มีขึ้นหลังจากที่แกนนำพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินได้เปิดแถลงอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 ม.ค.ว่ายินดีจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน โดยวันนั้น นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ประกาศเหตุผลที่พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนว่า เพราะปล่อยให้ประเทศไทยเกิดสุญญากาศต่อไปไม่ได้ ต้องมีรัฐบาลและ ครม.โดยเร็วเพื่อเข้ามาบริหารงาน ส่วนฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ไป ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ถามนายบรรหารในวันดังกล่าวว่า พรรคพลังประชาชนไม่แสดงจุดยืน 5 ข้ออย่างชัดเจนตามที่พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินประกาศไปก่อนหน้านี้ ทำไมถึงยังเข้าร่วมรัฐบาล นายบรรหาร บอกว่า การตอบคงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ แค่คำพูดก็เชื่อถือได้ ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะชี้แจงผู้ใหญ่ที่นับถือมา 30 ปีอย่างไร นายบรรหาร ตอบว่า วันนี้ยังนับถือไม่เสื่อมคลาย ต้องว่ากันเป็นกรณีไป ส่วนทางด้านพรรคเพื่อแผ่นดินซึ่งกรรมการบริหารพรรคได้มีมติเอกฉันท์ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.ว่า จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน ก็ให้เหตุผลในการเข้าร่วมรัฐบาลว่า เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังเกิดสุญญากาศทางการเมือง รวมทั้งเพื่อสร้างความสมานฉันท์และยุติปัญหาความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ทางด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทย ที่สนามซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ถึงกระแสข่าวที่ว่า สมาชิกพรรคพลังประชาชนส่วนหนึ่งไม่สนับสนุนนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ตามกติกาสากล พรรคที่มาที่หนึ่ง หัวหน้าพรรคจะเป็นนายกฯ ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวคิดว่านายสมัครเหมาะสมจะเป็นนายกฯ หรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบว่า “ท่านเป็นรัฐมนตรีมาไม่รู้กี่กระทรวง เป็นรองนายกฯ มาหลายสมัย ท่านมีประสบการณ์มากกว่าผมอีก” พ.ต.ท.ทักษิณ ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า คุณหญิงพจมานพูดคุยกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ถึงเงื่อนไขการกลับประเทศไทยโดยห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วยว่า “ไม่มี ไม่จริง ไม่มีใครมากำหนดเงื่อนไขผม มีแต่ผมเองวางตัวเองว่าจะยังไง แค่ไหน”
6 พรรคสลอนอ้างชอบธรรมตั้งรัฐบาล"หมัก"ฉุนถูกซักโหวตนายกฯ
3.“ศาลฎีกาฯ”ยกฟ้อง”เลือกตั้งโมฆะ” ส่วนปม”นอมินี” ไม่มีอำนาจชี้!
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้นัดฟังคำคดีที่นายสราวุท ทองเพ็ญ อดีตผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 3 พรรคความหวังใหม่ ยื่นฟ้อง กกต.ว่าจัดเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลสั่งให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ โดยศาลได้มีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าและออกประกาศต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 95 ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ด้านนายสราวุท บอก น้อมรับคำสั่งศาล เพราะถือเป็นที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ศาลจะบอกว่า กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่า เมื่อ กกต.มีอำนาจแล้ว ต้องจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย จึงได้ยื่นคำร้องประเด็นนี้ต่อศาลฎีกาฯ ไปแล้วอีกคดีหนึ่ง ให้ศาลวินิจฉัยพฤติการณ์จัดการเลือกตั้งที่มีการอนุญาตให้บุคคลเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้โดยไม่มีการสอบสวนว่ามีความจำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ โดยศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 21 ม.ค. นอกจากนี้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ยังได้ยกคำร้องของนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยื่นฟ้อง กกต.,พรรคพลังประชาชน ,นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 3 ของพรรคพลังประชาชนจำนวน 2 คน คือ นายสนอง เทพอักษรณรงค์ และประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล โดยศาลให้เหตุผลว่า คำร้องประเด็นที่ 1.และ 2 เกี่ยวกับเรื่องนอมินีที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการส่งผู้สมัครในนามพรรคพลังประชาชนเป็นโมฆะ เพราะพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย และนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนเป็นตัวแทนของอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ดังนั้นการลงนามส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของนายสมัครจึงเป็นโมฆะนั้น ศาลให้เหตุผลที่ยกคำร้องว่า เรื่องความเป็นนอมินีไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลฎีกา ส่วนประเด็นที่ 3.ที่ผู้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งขอให้เพิกถอนการนับคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า กกต.ออกประกาศกำหนดวันเวลาเลือกตั้งล่วงหน้าชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไม่แสดงเหตุผลและความจำเป็นถึงขนาดมีแบบพิมพ์เปล่าให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากรอกข้อความเอง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการที่ผู้ร้องอ้างว่าพรรคพลังประชาชนนำซีดีปราศรัยของอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยไปแจกจ่ายให้ประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นคุณแก่พรรคพลังประชาชนนั้น ศาลเห็นว่า คำร้องดังกล่าวเป็นการคัดค้านการเลือกตั้ง ผู้ที่จะร้องต่อศาลฎีกาได้ก็คือ กกต. ด้านนายไชยวัฒน์ กล่าวหลังทราบคำสั่งศาลว่า จะปรึกษาทนายความในประเด็นนอมินี เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าจะดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายได้อย่างไรอีก และว่า “เรื่องของบ้านเมืองไม่มีคำว่าได้หน้าหรือเสียหน้า มีแต่ว่าเราทำเต็มที่แล้ว” ทั้งนี้ ก่อนทราบคำสั่งศาล นายไชยวัฒน์ได้เปิดแถลงที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และให้มีผลตั้งแต่ศาลฎีกาอ่านคำพิจารณาคดีที่ตนยื่นฟ้องเสร็จสิ้นแล้ว นายไชยวัฒน์ยังเผยเหตุผลที่ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า เพื่อสนองตอบต่อเลขาธิการพรรค(สุเทพ เทือกสุบรรณ) ที่ขอให้ตนถอนฟ้องเรื่องให้การเลือกตั้งล่วงหน้าโมฆะ หากไม่ถอนฟ้องก็ต้องลาออก ซึ่งตนไม่ถอนฟ้อง จึงขอสนองตอบด้วยการลาออก
ยกคำร้อง “พปช.นอมินี” อ้างผู้ร้อง-ศาลฯ ไม่มีอำนาจ
“ไชยวัฒน์” ยอมลาออก ไม่ยอมถอนฟ้องเลือกตั้งโมฆะ
4. “กกต.”รับรอง ส.ส.เพิ่ม- ผ่านเกณฑ์เปิดประชุมสภาแล้ว อ้างเหตุปล่อยผี”ยงยุทธ”ยังไม่รู้ผิดหรือไม่!
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้มีมติประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปเพิ่มเติมอีก 29 คน จากเดิมที่ประกาศรับรองไปแล้ว 431 คน รวมเป็น 460 คน ซึ่งถือว่าผ่านเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดว่า ต้องมี ส.ส.ผ่านการรับรองร้อยละ 95 หรือ 456 คน จึงจะสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยสภาจะต้องเปิดประชุมภายใน 30 วันหลังเลือกตั้ง หรือวันที่ 21 ม.ค.นี้ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ว่าที่ ส.ส.ที่ กกต.ประกาศรับรองเพิ่มอีก 29 คนนี้ มีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ว่าที่ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชนรวมอยู่ด้วย ทั้งที่นายยงยุทธถูกผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติไทยร้องคัดค้านฐานทุจริตเลือกตั้งผ่านกำนันเชียงราย และอนุกรรมการสอบสวนของ กกต.ที่มีนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ เป็นประธาน อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม หลังอนุกรรมการชุดแรกมีหลักฐานเป็นเอกสารและวีซีดีว่านายยงยุทธซื้อเสียงผ่านกำนันจริง ซึ่งนายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม ชี้แจงกรณีที่ กกต.ประกาศรับรองนายยงยุทธไปก่อนว่า เนื่องจากผลการสอบสวนยังไม่สามารถระบุได้ว่านายยงยุทธมีความผิดหรือไม่ แต่หากภายหลังพบว่ามีความผิด ก็จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ส่วนว่าที่ ส.ส.ที่ยังไม่ได้รับการประกาศรับรองนั้น นายสุเมธ บอกว่า เป็นผู้ที่ได้รับใบเหลืองใบแดง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 20 ม.ค.และ 27 ม.ค.นี้ ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.บอก หลังเลือกตั้งใหม่เสร็จสิ้น กกต.จะต้องพิจารณาว่ามีเรื่องร้องคัดค้านหรือไม่ เพราะ รธน.มาตรา 93 ให้อำนาจ กกต.จัดการเลือกตั้งและรับรอง ส.ส.ได้ภายใน 180 วันนับแต่วันเลือกตั้งครั้งแรก ถือว่า กกต.สามารถสั่งให้มีการเลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้ ส่วนความคืบหน้ากรณีทุจริตที่เชียงรายของนายงยุทธ ติยะไพรัช ว่าที่ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชน หลังจาก กกต.ได้ตั้งอนุกรรมการสอบสวนชุดใหม่ตามคำขอของนายยงยุทธที่อ้างว่า อนุกรรมการชุดแรกไม่เป็นกลางนั้น ปรากฏว่า หลังอนุกรรมการชุดแรกส่งมอบสำนวนและเอกสารหลักฐานการสอบให้อนุกรรมการชุดใหม่ได้แค่ 3 วัน(14 ม.ค.) ดร.วิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงราย เขต 3 พรรคชาติไทย ที่เป็นผู้ร้องคัดค้านต่อ กกต.ไม่ให้ประกาศรับรองผลเลือกตั้งของนายยงยุทธก่อนหน้านี้ ก็ได้ชิงถอนคำร้องดังกล่าว โดยอ้างว่า เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า เหตุผลที่แท้จริงของการขอถอนคำร้องคัดค้านนายยงยุทธของผู้สมัครพรรคชาติไทย ก็เพราะพรรคชาติไทยกำลังจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนมากกว่า ขณะที่นายมงคล จงสุทธนามณี อดีตผู้สมัคร ส.ส.เชียงราย เขต 2 พรรคชาติไทย อ้างว่า ดร.วิจิตรถอนคำร้องคัดค้านนายยงยุทธ เพราะ ดร.วิจิตรและครอบครัวถูกคุกคามอย่างหนัก ไม่ใช่เพราะได้รับผลประโยชน์หรือเป็นคำสั่งจากผู้ใหญ่ในพรรคแต่อย่างใด ด้าน กกต.ได้มีมติให้อนุกรรมการสอบที่มีนายสุวิทย์เป็นประธาน เป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ผู้ร้องถอนเรื่องคัดค้านได้หรือไม่ โดย กกต.จะพิจารณาเป็นด่านสุดท้ายว่าจะให้ถอนหรือไม่ ซึ่ง กกต.หลายคนเห็นว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะถอนคำร้องได้ เพราะการสอบสวนดำเนินมาใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ขณะที่นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ ในฐานะประธานสอบ ก็ได้ลงพื้นที่เชียงรายเพื่อสอบผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องการสอบ ดร.วิจิตรถึงเหตุผลที่ถอนคำร้อง และประเด็นที่อ้างว่ามีการถูกข่มขู่คุกคามเพื่อนำมาประกอบสำนวนด้วย
กกต.ปล่อยผี “ยุทธ ตู้เย็น” พร้อม 21 ส.ส.สีเทาเข้าสภา
5. ปิดฉาก”ทีไอทีวี”แปลงเป็น”ทีวีสาธารณะ”แล้ว ด้าน พนง.แห่ฟ้องศาล แต่ศาลไม่คุ้มครอง!
หลังเที่ยงคืนวันที่ 14 ม.ค.เป็นต้นมา สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีได้หยุดแพร่ภาพรายการตามปกติของทางสถานี และเปลี่ยนเป็นการลิงค์สัญญาณจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์แทน โดยเป็นไปตามคำสั่งของนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ประกาศว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการแปลงสภาพทีไอทีวีเป็น”ทีวีสาธารณะ”โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ส.ส.ท.)หรือทีวีสาธารณะที่เริ่มมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 14 ม.ค. ทั้งนี้ การหยุดออกอากาศของทีไอทีวีส่งผลให้พนักงานไม่พอใจเป็นอันมาก จึงได้แจ้งความต่อตำรวจ สน.พหลโยธินทันทีที่ทีไอทีวีหยุดออกอากาศ โดยร้องให้ดำเนินคดีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 นอกจากนี้พนักงานทีไอทีวีกว่า 100 คนยังได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่ให้ทีไอทีวียุติการออกอากาศ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณประโยชน์ และละเมิดอำนาจศาลปกครองกลางที่ให้กิจการวิทยุโทรทัศน์ ระบบยูเอชเอฟให้บริการอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังอ้างว่า คำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข่าวทีไอทีวี ซึ่งขัดต่อ รธน.มาตรา 46 และขัดต่อมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและการกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทย(ทีวีสาธารณะ) ซึ่งพนักงานทีไอทีวีได้ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองให้ทีไอทีวีออกอากาศได้อย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้าย ศาลได้มีคำสั่ง(เมื่อ 17 ม.ค.)ยกคำร้องในส่วนที่พนักงานต้องการให้ทีไอทีวีออกอากาศได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีคำสั่งให้รับคำร้องที่พนักงานขอให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่สั่งยุติการออกอากาศทีไอทีวีไว้พิจารณา โดยศาลให้เหตุผลที่ยกคำร้องเรื่องขอทุเลาการยุติออกอากาศหรือการคุ้มครองให้ทีไอทีวีได้แพร่ภาพต่อไปว่า เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้งที่จะรับฟังได้ว่า คำสั่งยุติการแพร่ภาพทีไอทีวีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ นอกจากพนักงานทีไอทีวีจะร้องศาลปกครองแล้ว ยังได้ไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล(เมื่อ 15 ม.ค.)ด้วย เพื่อให้ทบทวนคำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ บอก การเปลี่ยนแปลงทีไอทีวีจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทีวีสาธารณะ และพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมกับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ขณะที่เครือข่ายกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ได้ขู่ฟ้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีทีไอทีวีถูกสั่งให้ยุติการออกอากาศ และจะฟ้องต่อตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เพิกถอน พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะด้วย หลังทีไอทีวีเริ่มแปลงสภาพเป็นทีวีสาธารณะ ซึ่งจะมีชื่อใหม่ว่า “สถานีโทรทัศน์ไทย พีบีเอส หรือทีพีบีเอส”(ไทย พับลิค บรอดแคสติ้ง เซอร์วิส) ปรากฏว่า ทาง ครม.ก็ได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวของทีวีสาธารณะขึ้นมา 5 คน ประกอบด้วย นายเทพชัย หย่อง บ.ก.เครือเนชั่น ,นางนวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นายขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นายอภิชาติ ทองอยู่ เลขาธิการมูลนิธิสวัสดี และนักวิชาการอิสระ และนายณรงค์ ใจหาญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะมีหน้าที่กำหนดกฎ กติกา และกรอบระเบียบในการบริหารงาน แนวทางการทำงาน รวมทั้งมีอำนาจในการกำหนดจัดผังรายการ การคัดเลือกพนักงาน โครงสร้างเงินเดือน รวมทั้งต้องสรรหา ผอ.สถานีด้วย โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งต่อมา คณะกรรมการทั้ง 5 ก็ได้เปิดแถลงข่าว โดยนายเทพชัย ซึ่งได้รับเลือกเป็น ผอ.ยืนยันว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่มีการแบ่งเค้กผลประโยชน์แน่ พร้อมย้ำไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะหลัง ครม.มีมติให้ตนเป็นกรรมการชั่วคราวทีวีสาธารณะ ก็ได้ลาออกจากเนชั่นทันทีและขายหุ้นเนชั่นที่ตนมีอยู่ทั้งหมด ขณะที่ทางด้านผู้บริหารเนชั่น ก็ได้แสดงความโปร่งใสไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยการยืนยันว่า เนชั่นขอสละสิทธิไม่เสนอรายการใดใดให้คณะกรรมการชั่วคราวทีวีสาธารณะพิจารณาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากทีไอทีวีเป็นทีพีบีเอส นายเทพชัย ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของการรับพนักงานเข้าร่วมงานกับทีวีสาธารณะนั้น นายเทพชัย บอกว่า จะเปิดรับตั้งแต่วันที่ 16-19 ม.ค.โดยเน้นรับคนที่มีประสบการณ์ เพื่อจะได้ทำงานข่าวแพร่ภาพได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า พนักงานทีไอทีวีประมาณ 300 คนนำโดยนายจอม เพ็ชรประดับ ได้เหมารถเมล์ 3 คันแห่ไปสมัครเป็นพนักงานของทีพีบีเอสเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา สำหรับผังรายการนั้น นายเทพชัย บอกว่า คงไม่ทำประชาพิจารณ์ แต่จะทำเหมือนเวทีสมัชชารับฟังความเห็นจากหลายๆ กลุ่มก่อนสรุป ส่วนสถานที่ทำงานของทีวีสาธารณะนั้น นายอภิชาติ ทองอยู่ 1 ในกรรมการฯ บอกว่า จะมีการใช้ที่เดิมไปก่อน เพราะสัญญาเช่ามีอยู่ถึงเดือน พ.ย. และหลังหมดสัญญาอาจจะเช่าต่อ เพราะหากขนย้ายอุปกรณ์ มีโอกาสเสียหายสูงมาก ด้านนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีคลัง ไฟเขียวให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีสุราและยาสูบเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.5 ของมูลค่าภาษีที่เสียอยู่ในปัจจุบัน เพื่อนำเงินไปจัดตั้งกองทุนทีวีสาธารณะ โดยการขึ้นภาษีสรรพสามิตดังกล่าวเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.เป็นต้นไป โดยเป็นที่คาดว่า ปีนี้จะได้เม็ดเงินจากภาษีดังกล่าวเพื่อโอนเข้ากองทุนจำนวน 1,700 ล้านบาท
ปิดฉาก “ทีไอทีวี” ศาลไม่คุ้มครองฉุกเฉิน กรมประชาฯ สั่งหยุดแพร่ภาพ
รอลุ้นคำสั่งศาลปกครองบ่ายนี้-รับสมัครวันที่ 2 เริ่มคึกคัก
แต่งตั้ง “ขวัญสรวง” นั่ง ปธ.TPBS ลั่นพร้อมออนแอร์ 1 ก.พ.