xs
xsm
sm
md
lg

มุมมองนักบริหารหนี้ : ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นตัวถ่วงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแข่งขันในเวทีโลก?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่ "การฉ้อราษฎร์บังหลวง" หรือคอรัปชั่นจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการท้าทายระบบการตรวจสอบที่ได้รับการสร้างขึ้นมา รวมทั้งจริยธรรมของผู้บริหารประเทศและท้องถิ่นด้วย หากมิได้มีการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามอย่างจริงจังและเด็ดขาดแล้ว ยากที่เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง จนสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

ผู้คอรัปชั่นนอกจากจะเบียดบัง เงินภาษีที่จ่ายผ่านงบประมาณและนอกงบประมาณแล้ว ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย ในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจว่า ผลของการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นต้นทุนทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจหรือสินค้าแต่ละประเภทอย่างไรและเท่าไร และผลของต้นทุนดังกล่าวถูกผลักด้วยการบวกเข้าไปกับราคาสินค้าให้กับผู้บริโภคเท่าไร แต่จากการสำรวจถึงภาพลักษณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวงขององค์กรเพื่อความโปร่งใส ของโลกในปี 2549 พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 63 จากประเทศที่สำรวจทั่วโลก 163 ประเทศ

ในประเทศภูมิภาคเอเชียด้วยกัน เมื่อวัดในระดับโลกนั้นไทยมีการคอรัปชั่นมากกว่า มาเลเซีย เกาหลีใต้ ใต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยประเทศเหล่านั้นอยู่ในลำดับที่ 44 ที่ 42 ที่ 34 ที่ 17 ที่ 15 และ ที่ 5 ตามลำดับ โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์นั้น หากวัดเฉพาะในเอเชียอยู่ในลำดับที่หนึ่งมาโดยตลอด ในขณะที่อยู่ที่ลำดับ 5 ของโลกติดต่อกันมาถึง 8 ปีแล้ว ทั้งนี้เพราะสิงคโปร์มีกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างชัดเจนและจริงจัง มีธรรมาภิบาลที่โปร่งใสในการบริหารจัดการประเทศชาติ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไม?ไทยเรานำเงินเข้าจากสิงคโปร์มาลงทุนเป็นจำนวนมากมาย แต่มิได้นำวิธีและกระบวนการการปราบปรามคอรัปชั่นมาประยุกต์ใช้ด้วยเลย…

จากการสำรวจดังกล่าว ประเทศที่มีภาพลักษณ์การคอรัปชั่นแย่กว่าประเทศไทย คืออินเดียและ จีน โดยประเทศทั้งสองได้รับจัดอันดับ ที่ 70 เท่ากัน หากประเทศไทยไม่เอาจริงเอาจังเรื่องนี้ อีกไม่นานคงเห็นทั้ง อินเดียและ จีน ไต่อันดับ แซงหน้าประเทศไทย หรือประเทศไทยจะตกต่ำมากกว่านี้

อนึ่ง จากผลการสำรวจดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นว่า การคอรัปชั่นมีอยู่ทั่วไปในหลากหลายประเทศ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา และเทคโนโลยีการพัฒนาได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

การมีกฎหมายที่ชัดเจน และเข้มแข็ง พร้อมกับการป้องกัน และปราบปรามอย่างจริงจัง ต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมด้วย จึงจะสามารถลดการคอรัปชั่นได้

การพัฒนาเทคโนโลยีการคอรัปชั่นนี้คงมีมาเป็นร้อยๆพันๆปีแล้ว จากระบบอุปถัมภ์ การโกงกิน ถึงการคอรัปชั่นทางนโยบาย จนถึงยุค ไฮเทค ที่นำมาซึ่ง ระบบ อี ออคชั่น ประมูลผ่านอินเทอร์เน็ท เป็นต้น ดูเสมือนว่าการพัฒนาวิธีคอรัปชั่นนั้นสลับซับซ้อนและก้าวหน้ากว่าการพัฒนาระบบตรวจสอบ ระบบการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามมาก จึงเปิดโอกาสให้มีการคอรัปชั่นได้ทุกยุคทุกสมัย

นอกจากนี้ การคอรัปชั่นจะทำให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐอ่อนแอ และส่งผลให้ระสิทธิภาพภาคธุรกิจเอกชนอ่อนแอตามไปด้วย แล้วไทยจะสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีโลกได้อย่างไร???

จากการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันของไทยในเวทีโลกเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา ฃองสถาบัน IMD ปรากฏว่า ความสามารถในการแข่งขันของไทยหล่นไปอยู่ที่ อันดับ 33 จากอันดับที่ 28 เมื่อปี 2546 ในการนี้ ปัจจัยที่เป็นประสิทธิภาพของภาครัฐได้หล่นจากอันดับที่ 18 ในปี 2546 มาอยู่ที่อันดับ 27 ในปี 2550

ปัจจัยหลักอื่นๆที่ IMD ใช้วัดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและ และสมรรถนะทางเศรษฐกิจโดยรวม ก็ร่วงลงมาทั้งสิ้น

ประเทศไทยจึงต้องจริงจังกับการป้องกัน และปราบปรามคนที่คอรัปชั่นก่อนที่ความสามารถการแข่งขันของไทยจะอ่อนแอมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น