xs
xsm
sm
md
lg

ปี50 ดัชนีเวทีโลกชี้ไทยแย่ลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**สามารถในการแข่งขันลดลง 2 อันดับ
ดัชนีแรกเป็นสิ่งที่สะท้อนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการทำธุรกิจของภาคเอกชนไทย จากการจัดอันดับของ สถาบันนานาชาติเพื่อการจัดการ(IMD) จำนวน 62 ประเทศ พบว่าในปี 2550 ได้คะแนน 57.76 คะแนน (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) อยู่ในอันดับที่ 34 ของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2549 ได้คะแนน 62.59 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก เท่ากับว่า อันดับความสามารถในหารแข่งขันของประเทศไทยลดลงถึง 2 อันดับ
หันมาดูประเทศอื่นๆ ที่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงในแถบเอเชียแปซิฟิกบ้าง ประเทศสิงคโปร์ ทะยานขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ของโลก ตามมาติดๆ ด้วย ฮ่องกง อยู่อันดับ 3 ประเทศจีน อยู่ในอันดับ 15 ไต้หวัน อันดับ 18 และมาเลเซีย อันดับ 23
ทั้งนี้การจัดอันดับของ สถาบันนานาชาติเพื่อการจัดการ(IMD) มีเกณฑ์การจัดอันดับโดยพิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ด้านด้วยกันคือ 1.เศรษฐกิจ (Economic Performance) 2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) 3. ประสิทธิภาพของภาคเอกชน (Business Efficiency) และ 4.โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยมีอันดับที่ยอดแย่กว่าทุกปี เพราะคะแนนเกี่ยวกับขีดความสามารถในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอยู่ในอันดับรั้งท้ายของกลุ่ม ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

**ความโปร่งใสในสังคม ฮวบ 21 อันดับ
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จัดอันดับระดับความโปร่งใสในสังคม ภายใต้ชื่อ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (The Corruption Perceptions Index: CPI) โดยจัดอันดับประเทศต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2538 ในปี 2550 ประเทศไทยได้คะแนน 3.3 คะแนน (คะแนนเต็ม 10 คะแนน) อยู่ในอันดับ 84 จากการจัดอันดับ 179 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ปี 2549 ประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใส 3.6 คะแนน อยู่ในอันดับ 63 จากการจัดอันดับ 163 ประเทศทั่วโลก เท่ากับว่า อันดับความโปร่งใสลดลงถึง 21 อันดับ อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าอันดับที่ลดลงมากอาจเกิดจากการนำประเทศเข้ามาจัดอันดับมากขึ้นก็ได้ ดังนั้นการพิจารณาจากค่าคะแนน จะมีความเหมาะสมกว่า
สำหรับ การวัดระดับความโปร่งใส จะประเมินการคอร์รัปชั่นในภาครัฐหรือระบบราชการเป็นหลัก ดังนั้นลักษณะคำถามที่ทำการสำรวจจึงเน้นไปที่การใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตน เช่น การติดสินบน การใช้งบประมาณผิดประเภท และ การเบียดบังทรัพย์สินของรัฐ เป็นต้น
ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ประเทศที่มีคะแนนเป็นอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ (9.3 คะแนน) ส่วนประเทศที่มีคะแนนต่ำที่สุดคือ พม่า (1.4 คะแนน) ทั้งนี้ ประเทศที่มีคะแนนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ จีน อินเดีย และปากีสถาน ส่วนประเทศที่มีคะแนนต่ำลง ได้แก่ มาเก๊า ภูฏาน ไทย ลาว และพม่า
**ความเป็นประชาธิปไตยอยู่กลุ่มกลาง
ปี 2550 นิตยสาร The Economist จัดอันดับ ความเป็นประชาธิปไตย (Democracy Index) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 167 ประเทศ โดยประเมินจาก กระบวนการการเลือกตั้ง อำนาจหน้าที่ของรัฐบาล การมีส่วนร่วมทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง และการเคารพสิทธิมนุษยชน ปรากฏว่า ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 90 ของโลก ได้คะแนนเฉลี่ย 5.67 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ถือว่าเกินครึ่งมาเล็กน้อย
เมื่อพิจารณาจากคะแนนทั้ง 5 ด้านโดยละเอียด จะพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนกระบวนการการเลือกตั้งต่ำสุด 4.83 คะแนน ส่วนคะแนนการมีส่วนร่วมทางการเมือง 5.0 คะแนน วัฒนธรรมทางการเมือง 5.63 คะแนน อำนาจหน้าที่ของรัฐบาล 6.43 คะแนน และคะแนนการเคารพสิทธิมนุษยชนได้สูงสุด 6.47 คะแนน
ทั้งนี้ เมื่อทำการเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน ไทยจะอยู่ในอันดับที่ 5 เป็นรองแม้กระทั่งประเทศที่มีรัฐบาลพรรคเดียวอย่างสิงคโปร์ (อันดับ 84) สำหรับ ประเทศที่มีอันดับสูงสุด 3 อันดับแรก คือ สวีเดน ไอซ์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ที่หลายคนเปรียบเทียบว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย อยู่ในอันดับที่ 17

**การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์วูบ4 อันดับ
ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Index:HDI) จัดทำโดย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โดยประเมินจากข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ ประกอบด้วย อัตราการออกเขียนได้ ความยืนยาวของชีวิต ระดับการศึกษา และระดับมาตรฐานการครองชีพ ทั้งนี้ จากรายงานในปี 2550 ประเทศไทยได้คะแนน 0.781 อยู่ในอันดับ 78 ของโลก โดยมีอันดับลดลงจากเดิม 4 อันดับ ส่วนประเทศที่มีอันดับสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย แคนาดา และไอร์แลนด์ ตามลำดับ

**ไทยปล่อยคาร์บอนมากเป็นอันดับ 22
สำหรับประเทศที่ปล่อยสารคาบอนไดออกไซด์ สูงสุด 5 อันดับแรกของโลก ประกอบไปด้วย อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา ปล่อยสาร 22% อันดับ 2 ประเทศจีน 18.4% อันดับ 3 สหภาพยุโรป 11.4% อันดับ 4 ประเทศรัสเซีย 5% และ อันดับ 5 ประเทศอินเดีย 4.9% แน่นอนว่า การที่ประเทศสหรัฐอเมริกาปล่อยสารคาบอนไดออกไซต์ เป็นจำนวนมากจึงลังเลใจที่จะให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต เพราะจะต้องเสียต้นทุนอีกมหาศาลให้การกำจัดมลพิษ ตามข้อกำหนดในพันธสัญญา ส่วนประเทศไทย ปล่อยสารมากที่สุดเป็นอันดับ 22 ของโลก คิดเป็น 1% ของปริมาณการปล่อยสารรวมทั้งโลก

**อันดับความสุขค่อนข้างดี
การจัดอันดับความสุขโลก (Happy Planet Index: HPI) เกิดจากแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ทางเลือก และองค์กรพัฒนาเอกชนกลุ่มหนึ่ง ที่ปฏิเสธแนวคิดตัวชี้วัดด้วยตัวเลข จีดีพี เพราะมองว่าประเทศที่มีจีดีพีเติบโตอย่างมาก ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสุขเสมอไป และตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน
นักคิดกลุ่มนี้จึงคิดค้นดัชนีชนิดใหม่ที่พวกเขาคิดว่าเป็นตัวชี้วัดที่ดีกว่ายั่งยืนกว่าโดยประเมินจากความสุขของสังคม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายอยู่ในอันดับรั้งท้ายทุกประเทศ เพราะเป็นประเทศที่เผาผลาญและใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดนั่นเอง
ประเทศสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก ได้อันดับ 150 จาก 178 ประเทศ ญี่ปุ่น อันดับ 90 เยอรมัน อันดับ 84 ส่วนประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 131 ต่ำที่สุดในประเทศอาเซียนด้วยกัน สำหรับประเทศไทย อันดับความสุขค่อนข้างดี อยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ในปี 2550 ประเทศไทยมีสถานะในเวทีโลกไม่ดีเท่าไรนัก แน่นอนว่าการจัดอันดับต่างๆ เป็นข้อมูลที่สำคัญที่ทำให้คนต่างชาติรู้จักประเทศไทย ข้อมูลดังกล่าวอาจไม่เป็นผลดีนัก หากอันดับแย่จนเกินไป ทั้งในด้านการลงทุน การท่องเที่ยว หรือ การติดต่อทำธุรกิจในประเทศไทย คงต้องรอลุ้นต่อไปว่าในปี 2551 อันดับต่างๆ เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น