xs
xsm
sm
md
lg

‘ไทย’ความสามารถแข่งขันดีขึ้นมาก USยังอันดับ1แต่ถูกสิงคโปร์ไล่กระชั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/ผู้จัดการรายวัน – ผลการสำรวจความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจต่าง ๆในโลกล่าสุด ชี้ว่าสหรัฐฯยังคงอยู่ในอันดับหนึ่ง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเหมือนญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 เพราะความอ่อนแอของโครงสร้างหลายประการ สำหรับประเทศไทยนั้นติดอันดับ 27 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วซึ่งได้ที่ 33
ผลการสำรวจความสามารถการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ประจำปี 2008 โดยสถาบันเพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการ (Institute foe Management Development หรือ IMD) ที่ตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ระบุด้วยว่า แม้สหรัฐฯรักษาตำแหน่งอันดับหนึ่งไว้ได้ แต่อันดับสองและสามซึ่งยังเป็นหน้าเก่าคือสิงคโปร์และฮ่องกง ก็กำลังไล่กระชั้นขึ้นมาชนิดหายใจรดต้นคอ และอาจจะแซงหน้าไปได้ในที่สุด
“สิงคโปร์กำลังเข้าใกล้สหรัฐฯเข้ามาแล้ว และในปีนี้อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนก็ได้ เพราะสหรัฐฯอาจสูญเสียความเป็นผู้นำไป” รายงานของไอเอ็มดีกล่าว
นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มดี สเตฟาน กาเรลลีบอกว่าสถานการณ์ของสหรัฐฯในตอนนี้เหมือนกันญี่ปุ่นเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นญี่ปุ่นดูเหมือนมีความสามารถการแข่งขันที่แข็งแกร่งมาก ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึงหนึ่งทศวรรษเต็ม ๆ และตอนนั้นเองที่ไอเอ็มดีเริ่มเก็บข้อมูลและออกรายงานความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ
“วิกฤตของญี่ปุ่นในอดีตมีลักษณะคล้ายคลึงกับความผันผวนที่ของสหรัฐฯในปัจจุบันนี้” เขากล่าว
เมื่อปี 1989 “ความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นดูราวกับว่า ยากเหลือเกินที่จะถูกทำลายลงได้ เพราะเศรษฐกิจเคลื่อนไปข้างหน้าตลอดเวลา ประสิทธิภาพการผลิตอุตสาหกรรมก็สูง รวมทั้งมีนวัตกรรมหนุนเนื่องความก้าวหน้าไว้ด้วย
“แต่แล้วก็เกิดสถานการณ์นรกแตก ตลาดหลักทรัพย์ดิ่งลงในปี 1989 ราคาที่ดินร่วงกราวรูดในปี 1992 สหกรณ์สินเชื่อและธนาคารส่วนภูมิภาคต่าง ๆได้รับผลกระทบรุนแรงในปี 1994 สามปีต่อมาธนาคารขนาดใหญ่ๆ ต้องดิ้นรนสุดขีดเพื่อให้พ้นภาวะล้มละลาย และในปี 1998 ก็เกิดภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงขึ้น
“สถานการณ์แบบนี้ รู้สึกคุ้นๆ กันไหม?” กาเรลลีถามในระหว่างการแถลงข่าว
เศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น กำลังทรุดลงอันเนื่องมาจากวิกฤตตราสารซับไพรม์ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ก็ออกมาทำนายว่า ภาวะถดถอยระดับไม่รุนแรงจะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ โดยจะมีอัตราการเติบโตราว 0.5% ในปี 2008 นี้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กาเรลลีกล่าวว่าการเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะว่า”เศรษฐกิจสหรัฐเปิดกว้าง, มีความทนทานต่อวิกฤต และมีผู้ประกอบการที่แข็งแกร่ง และมักจะสามารถฟื้นคืนมาได้ในแบบที่ญี่ปุ่นและประเทศยุโรปส่วนใหญ่ไม่มี”
ทางการวอชิงตันเองก็ยังเรียนรู้ความผิดพลาดจากญี่ปุ่นในบางแง่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา
“ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังต่างก็รับรู้ถึงความร้ายแรงของปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และก็ยังคงเดินหน้าใช้ยาแรงต่อไป”
แม้ว่าปัญหาที่จะต้องแก้ไขยังคงอยู่ แต่”การขาดดุลเชิงโครงสร้างของสหรัฐฯ (ดุลการค้า, ดุลงบประมาณ ซึ่งส่งผลต่อจำนวนหนี้ของประเทศ) ควรจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นมิเช่นนั้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็ยังจะอ่อนตัวเช่นนี้ต่อไป” กาเรลลีกล่าว
“ในช่วง 20ปีที่เราได้จัดอันดับและวิเคราะห์ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่างๆมา เราได้เรียนรู้สิ่งหนึ่งว่า ไม่มีประเทศใดแม้ว่าจะมีความสามารถด้านการแข่งขันสูงมาก จะรอดพ้นจากภาวะย่ำแย่ทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดจากภาคการเงิน” กาเรลลีเตือน
ไอเอ็มดีทำการสำรวจความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ รวม 55 แห่ง โดยปรากฏว่า ประเทศไทยอยู่อันดับ 27 ในปีนี้ ดีขึ้นมากจากปีที่แล้วซึ่งได้ที่ 33 สำหรับประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนด้วยกันที่ได้รับการจัดอันดับ มาเลเซียอยู่เหนือไทย คือปีนี้ได้ที่ 19 ขยับขึ้นจากที่ 23 ของปีกลาย ขณะที่ ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 40 ดีขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งได้ที่ 45 และอินโดนีเซียได้อันดับ 51 กระเตื้องขึ้นจากอันดับ 54 ในปี 2007
ทางด้านชาติยักษ์ใหญ่ในเอเชีย จีนปีนี้ตกลงมาอยู่อันดับ 17 จากที่ 15 ในปีที่แล้ว ส่วนอินเดียปีนี้ได้ที่ 29 แย่ลงจากปี 2007 ซึ่งได้อันดับ 27 สำหรับญี่ปุ่นปีนี้อยู่อันดับ 22 ขยับขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้อันดับ 24
กำลังโหลดความคิดเห็น