ผู้เขียนได้เสนอบทความเรื่อง “บทบาทของศาลยุติธรรมกับการคุ้มครองผู้บริโภค” เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายนั้น มีประเด็นที่ควรศึกษาต่อว่าผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองที่ว่านั้นอย่างไร ไม่ว่าเรื่องเขตอำนาจศาล ความรับผิดในสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง และความรับผิดสำหรับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้บริโภค
ฟ้องผู้บริโภคได้ที่ภูมิลำเนาผู้บริโภคเท่านั้น
ในเรื่องเขตอำนาจศาล กฎหมายกำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาลที่มูลคดีเกิดซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ หรือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจ เช่น โจทก์ที่เป็นผู้ออกบัตรเครดิตจะฟ้องผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกหนี้ผู้ใช้บัตรเครดิต ส่วนใหญ่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลที่เป็นภูมิลำเนาของโจทก์เองเพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เป็นการผลักภาระในการเดินทางมาต่อสู้คดีในศาลให้แก่ลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ผู้สมัครขอใช้บัตรเครดิตอยู่ที่จังหวัดสงขลา โจทก์อนุมัติบัตรเครดิตที่กรุงเทพฯ ในกรณีนี้หากโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลในเขตศาลที่มูลคดีเกิดซึ่งตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ จะทำให้ลูกหนี้ผู้บริโภคซึ่งอยู่ที่จังหวัดสงขลาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาต่อสู้คดีที่กรุงเทพฯ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจึงกำหนดว่า “หากผู้ประกอบธุรกิจที่จะฟ้องผู้บริโภคมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลอื่นนอกเหนือจากศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ ให้ผู้ประกอบธุรกิจเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้เพียงแห่งเดียว” เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาลเพื่อต่อสู้คดีของผู้บริโภคในกรณีที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ห่างไกล
การฟ้องด้วยวาจา
เนื่องจากในคดีผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคอาจขาดความพร้อมและความชำนาญในการทำคำฟ้องให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คู่กรณีด้วยการกำหนดให้การฟ้องคดีผู้บริโภคนั้นโจทก์จะทำคำฟ้องเป็นหนังสือหรือฟ้องคดีด้วยวาจาก็ได้ โดยในกรณีที่โจทก์ประสงค์จะฟ้องด้วยวาจาให้ “เจ้าพนักงานคดี” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของศาลและแต่งตั้งโดยเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมจัดให้มีการทำบันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้องแล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญเพื่อความสะดวกในการดำเนินคดีของโจทก์
การยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม
ในคดีที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคจะฟ้องผู้ประกอบธุรกิจ กฎหมายได้ยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนผู้บริโภค คือ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค
ความรับผิดในสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง
ในคดีที่ฟ้องร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้า หากศาลเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องดังกล่าวมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้านั้นและไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพใช้งานได้ตามปกติหรือถึงแม้จะแก้ไขแล้ว แต่หากนำไปใช้บริโภคอาจเกิดอันตราย ให้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้นได้ เช่น ซื้อรถใหม่แต่หลังจากใช้งานมาได้ไม่นานกลับต้องเข้าอู่เป็นประจำ เป็นเหตุการณ์ที่ผิดวิสัย ซึ่งกรณีนี้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องซื้อขายนั้นผู้ขายจะไม่รับผิดเพราะอ้างว่าความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิดต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการส่งมอบสินค้าเท่านั้น นอกจากนี้สินค้าที่ส่งมอบไปแล้วสินค้านั้นย่อมเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ได้ตกเป็นของผู้บริโภคแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ซื้อเสนอให้มีการเปลี่ยนรถคันใหม่ผู้ขายจึงปฏิเสธได้ แต่สำหรับความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของการรับประกันเป็นเรื่องที่ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบในการซ่อมแซมแต่ผู้ซื้อไม่อาจเรียกร้องให้ผู้ขายเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ตนได้ เห็นได้ชัดว่ากรณีนี้แม้จะไม่เห็นถึงความชำรุดบกพร่องในระหว่างส่งมอบสินค้าแต่ก็ประมาณได้จากสภาพปัญหาว่าปัญหาน่าจะมีอยู่ก่อนอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตไม่ใช่เกิดจากเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งตามร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคกำหนดให้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้นได้ ถ้าผู้ถูกฟ้องไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้านั้นมาร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดแก่ผู้บริโภคได้ แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความสุจริตของผู้บริโภคในการเรียกร้องสิทธิด้วย
ความรับผิดต่อความเสียหายที่ไม่ปรากฏขึ้นในทันที
อาจมีบางกรณีที่ต้องใช้ระยะเวลากว่าความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย จะแสดงออกมาให้เห็น เช่น ผลของการสะสมสารพิษในร่างกายซึ่งผู้บริโภคอาจได้รับสารพิษนั้นมาโดยตรงจากการอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีโรงงานที่ปล่อยสารมลพิษตั้งอยู่ หรือโดยทางอ้อมจากการได้รับสารพิษจากการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เจือปนสารพิษ เป็นต้น ซึ่งหากร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องแทนผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายหรือตัวผู้รับผิด แต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย นอกจากนี้ หากผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจอยู่ระหว่างตกลงเรื่องค่าเสียหายกันก็ไม่ต้องกังวลว่าคดีจะขาดอายุความเพราะร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้อายุความฟ้องร้องหยุดนับในระหว่างเจรจากันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกการเจรจานั้นอายุความจึงเริ่มนับต่อไป
การเรียกผู้ถือหุ้นเข้าร่วมรับผิด
ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกฟ้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต มีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภคหรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคลเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของนิติบุคคลมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง ซึ่งเดิมตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลไม่อาจเรียกผู้ถือหุ้นเข้ามาร่วมรับผิดได้เพราะผู้ถือหุ้นจำกัดความรับผิดเฉพาะส่วนที่ค้างชำระค่าหุ้นเท่านั้น ทำให้เมื่อคดีเสร็จสิ้นลงแล้วผู้บริโภคกลับไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากทรัพย์สินของบริษัทได้ถูกถ่ายเทไปเสียแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเวลาที่ผู้บริโภคใช้ในการต่อสู้คดีก็สูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยเหตุนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงกำหนดให้ศาลมีอำนาจเรียกหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลหรือผู้รับมอบทรัพย์สินของนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยมีเจตนาทุจริตเข้าเป็นจำเลยร่วม และมีอำนาจพิพากษาให้บุคคลนั้นร่วมรับผิดในหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคด้วย เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคซึ่งถูกหลอกลวง
การอุทธรณ์ ฎีกา คดีผู้บริโภค
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้วคู่ความอาจอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภคได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยทั่วไปถือว่าคดีเป็นที่สุด
ส่วนคู่กรณีที่ประสงค์จะฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ สามารถยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาทหรือในปัญหาข้อกฎหมายได้โดยให้ยื่นฎีกาไปยังศาลชั้นต้นที่มี
คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นเพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้โดยเฉพาะคดีที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะหรือปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย จึงอาจกล่าวได้ว่าคดีผู้บริโภคมีระบบตรวจสอบของศาลทั้งสามชั้นเช่นเดียวกับคดีแพ่งทั่วไปแต่ศาลฎีกาจะรับพิจารณาเฉพาะคดีที่เป็นเรื่องสำคัญเท่านั้น
สรุป
จะเห็นได้ว่าร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการดำเนินคดีผู้บริโภคหลายประการด้วยกันดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยหลักสำคัญมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ด้วยความสะดวก ประหยัด เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในทางปฎิบัติร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงกำหนดให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้บังคับใช้โดยใช้กฎหมายเดิมต่อไปจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
บทบาทของศาลยุติธรรมกับการคุ้มครองผู้บริโภค
ฟ้องผู้บริโภคได้ที่ภูมิลำเนาผู้บริโภคเท่านั้น
ในเรื่องเขตอำนาจศาล กฎหมายกำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาลที่มูลคดีเกิดซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ หรือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจ เช่น โจทก์ที่เป็นผู้ออกบัตรเครดิตจะฟ้องผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกหนี้ผู้ใช้บัตรเครดิต ส่วนใหญ่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลที่เป็นภูมิลำเนาของโจทก์เองเพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เป็นการผลักภาระในการเดินทางมาต่อสู้คดีในศาลให้แก่ลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ผู้สมัครขอใช้บัตรเครดิตอยู่ที่จังหวัดสงขลา โจทก์อนุมัติบัตรเครดิตที่กรุงเทพฯ ในกรณีนี้หากโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลในเขตศาลที่มูลคดีเกิดซึ่งตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ จะทำให้ลูกหนี้ผู้บริโภคซึ่งอยู่ที่จังหวัดสงขลาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาต่อสู้คดีที่กรุงเทพฯ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจึงกำหนดว่า “หากผู้ประกอบธุรกิจที่จะฟ้องผู้บริโภคมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลอื่นนอกเหนือจากศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ ให้ผู้ประกอบธุรกิจเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้เพียงแห่งเดียว” เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาลเพื่อต่อสู้คดีของผู้บริโภคในกรณีที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ห่างไกล
การฟ้องด้วยวาจา
เนื่องจากในคดีผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคอาจขาดความพร้อมและความชำนาญในการทำคำฟ้องให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คู่กรณีด้วยการกำหนดให้การฟ้องคดีผู้บริโภคนั้นโจทก์จะทำคำฟ้องเป็นหนังสือหรือฟ้องคดีด้วยวาจาก็ได้ โดยในกรณีที่โจทก์ประสงค์จะฟ้องด้วยวาจาให้ “เจ้าพนักงานคดี” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของศาลและแต่งตั้งโดยเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมจัดให้มีการทำบันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้องแล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญเพื่อความสะดวกในการดำเนินคดีของโจทก์
การยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม
ในคดีที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคจะฟ้องผู้ประกอบธุรกิจ กฎหมายได้ยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนผู้บริโภค คือ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค
ความรับผิดในสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง
ในคดีที่ฟ้องร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้า หากศาลเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องดังกล่าวมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้านั้นและไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพใช้งานได้ตามปกติหรือถึงแม้จะแก้ไขแล้ว แต่หากนำไปใช้บริโภคอาจเกิดอันตราย ให้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้นได้ เช่น ซื้อรถใหม่แต่หลังจากใช้งานมาได้ไม่นานกลับต้องเข้าอู่เป็นประจำ เป็นเหตุการณ์ที่ผิดวิสัย ซึ่งกรณีนี้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องซื้อขายนั้นผู้ขายจะไม่รับผิดเพราะอ้างว่าความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิดต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการส่งมอบสินค้าเท่านั้น นอกจากนี้สินค้าที่ส่งมอบไปแล้วสินค้านั้นย่อมเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ได้ตกเป็นของผู้บริโภคแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ซื้อเสนอให้มีการเปลี่ยนรถคันใหม่ผู้ขายจึงปฏิเสธได้ แต่สำหรับความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของการรับประกันเป็นเรื่องที่ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบในการซ่อมแซมแต่ผู้ซื้อไม่อาจเรียกร้องให้ผู้ขายเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ตนได้ เห็นได้ชัดว่ากรณีนี้แม้จะไม่เห็นถึงความชำรุดบกพร่องในระหว่างส่งมอบสินค้าแต่ก็ประมาณได้จากสภาพปัญหาว่าปัญหาน่าจะมีอยู่ก่อนอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตไม่ใช่เกิดจากเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งตามร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคกำหนดให้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้นได้ ถ้าผู้ถูกฟ้องไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้านั้นมาร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดแก่ผู้บริโภคได้ แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความสุจริตของผู้บริโภคในการเรียกร้องสิทธิด้วย
ความรับผิดต่อความเสียหายที่ไม่ปรากฏขึ้นในทันที
อาจมีบางกรณีที่ต้องใช้ระยะเวลากว่าความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย จะแสดงออกมาให้เห็น เช่น ผลของการสะสมสารพิษในร่างกายซึ่งผู้บริโภคอาจได้รับสารพิษนั้นมาโดยตรงจากการอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีโรงงานที่ปล่อยสารมลพิษตั้งอยู่ หรือโดยทางอ้อมจากการได้รับสารพิษจากการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เจือปนสารพิษ เป็นต้น ซึ่งหากร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องแทนผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายหรือตัวผู้รับผิด แต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย นอกจากนี้ หากผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจอยู่ระหว่างตกลงเรื่องค่าเสียหายกันก็ไม่ต้องกังวลว่าคดีจะขาดอายุความเพราะร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้อายุความฟ้องร้องหยุดนับในระหว่างเจรจากันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกการเจรจานั้นอายุความจึงเริ่มนับต่อไป
การเรียกผู้ถือหุ้นเข้าร่วมรับผิด
ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกฟ้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต มีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภคหรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคลเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของนิติบุคคลมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง ซึ่งเดิมตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลไม่อาจเรียกผู้ถือหุ้นเข้ามาร่วมรับผิดได้เพราะผู้ถือหุ้นจำกัดความรับผิดเฉพาะส่วนที่ค้างชำระค่าหุ้นเท่านั้น ทำให้เมื่อคดีเสร็จสิ้นลงแล้วผู้บริโภคกลับไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากทรัพย์สินของบริษัทได้ถูกถ่ายเทไปเสียแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเวลาที่ผู้บริโภคใช้ในการต่อสู้คดีก็สูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยเหตุนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงกำหนดให้ศาลมีอำนาจเรียกหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลหรือผู้รับมอบทรัพย์สินของนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยมีเจตนาทุจริตเข้าเป็นจำเลยร่วม และมีอำนาจพิพากษาให้บุคคลนั้นร่วมรับผิดในหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคด้วย เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคซึ่งถูกหลอกลวง
การอุทธรณ์ ฎีกา คดีผู้บริโภค
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้วคู่ความอาจอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภคได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยทั่วไปถือว่าคดีเป็นที่สุด
ส่วนคู่กรณีที่ประสงค์จะฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ สามารถยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาทหรือในปัญหาข้อกฎหมายได้โดยให้ยื่นฎีกาไปยังศาลชั้นต้นที่มี
คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นเพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้โดยเฉพาะคดีที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะหรือปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย จึงอาจกล่าวได้ว่าคดีผู้บริโภคมีระบบตรวจสอบของศาลทั้งสามชั้นเช่นเดียวกับคดีแพ่งทั่วไปแต่ศาลฎีกาจะรับพิจารณาเฉพาะคดีที่เป็นเรื่องสำคัญเท่านั้น
สรุป
จะเห็นได้ว่าร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการดำเนินคดีผู้บริโภคหลายประการด้วยกันดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยหลักสำคัญมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ด้วยความสะดวก ประหยัด เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในทางปฎิบัติร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงกำหนดให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้บังคับใช้โดยใช้กฎหมายเดิมต่อไปจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
บทบาทของศาลยุติธรรมกับการคุ้มครองผู้บริโภค