xs
xsm
sm
md
lg

ทีวีสาธารณะ : วิญญาณเก่าเกิดใหม่

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เกือบทุกคนในสังคมไทย จะมีความรู้สึกในทางลบเมื่อพูดถึงกิจการสาธารณะที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่หวังผลกำไร ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. คนไทยจะคุ้นเคยกับกิจการสาธารณูปโภค เช่น การให้บริการเดินรถประจำทางในกรุงเทพมหานครภายใต้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก อันเกิดจากการรวมกิจการเดินรถประจำทางของเอกชนที่ประสบปัญหาขาดทุน และขอปรับราคาค่าโดยสาร แต่รัฐบาลในขณะนั้นไม่อนุญาตจึงพากันหยุดเดินรถและเป็นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อน ในที่สุดรัฐบาลได้รับกิจการของเอกชนมาดำเนินการเองโดยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของกิจการ

จากวันนั้นถึงวันนี้ 30 กว่าปีแล้วกิจการสาธารณูปโภคแห่งนี้ก็ยังไม่ได้ก้าวไกลไปถึงไหน ตรงกันข้ามยังย่ำแย่อยู่กับการขาดทุน และที่สำคัญคุณภาพด้านบริการก็ไม่ได้รับการปรับปรุงเท่าที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด เป็นต้น และเป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีกิจการสาธารณูปการ เช่น การท่าเรือฯ เป็นต้น ที่รัฐตั้งขึ้นเพื่อให้บริการและประสบปัญหาในการดำเนินงานไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น

2. นอกจากจะประสบปัญหาขาดทุนและการให้บริการด้อยคุณภาพแล้ว กิจการสาธารณะทั้งหลายที่ว่านี้ยังเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมืองโดยความร่วมมือของบุคลากรในภาครัฐ ทั้งในส่วนของพนักงานในองค์กรนั้นๆ และข้าราชการที่ส่วนราชการส่งเข้ามากำกับดูแลในรูปของกรรมการบริหารหรือบอร์ด

เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งกิจการสาธารณะขึ้นอีกองค์กรหนึ่ง และองค์กรที่ว่านี้ก็คือโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนโดยไม่มีการหารายได้จากการขายโฆษณา แต่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ 2,000 ล้านบาทต่อปี และเงินจำนวนนี้ได้มาจากการจัดเก็บภาษีเหล้า เบียร์ และบุหรี่ ที่เรียกกันว่า ภาษีบาป

อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้มีทีวีสาธารณะในลักษณะดังกล่าวข้างต้น คงไม่จบลงแค่การออกกฎหมายรองรับการเกิดขึ้นขององค์กร และเปิดรับสมัครบุคคลเข้ามาทำงานเพื่อสนองนโยบายองค์กรที่กรรมการบริหารกำหนดเท่านั้น ทั้งนี้จะเห็นได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งเน้นในการให้ข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก และให้มีบันเทิงเพียงเล็กน้อยมิได้เพิ่งเกิดขึ้นในวงการโทรทัศน์ของไทยเป็นครั้งแรก

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา แท้จริงแล้วก็คือสถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่รัฐบาลให้สัมปทานแก่เอกชนเมื่อหลายปีก่อน แต่ผู้ที่ได้รับสัมปทานก็ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องติดค้างค่าสัมปทานที่จะต้องจ่ายให้รัฐตามสัญญา ทั้งการกำหนดผังรายการก็ได้แตกต่างไปจากที่สัญญากำหนดไว้แต่เดิม จึงเป็นเหตุให้รัฐในฐานะคู่สัญญาได้ยึดกิจการกลับมาเป็นของรัฐ และเปิดให้บริการภายใต้ชื่อใหม่คือทีไอทีวี ภายใต้การกำกับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีบุคลากรของไอทีวีเดิมเป็นส่วนใหญ่เป็นผู้ดำเนินการ และกลายเป็นปัญหาให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดการแก้ปัญหาไอทีวีของรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ว่าแก้ปัญหาไม่เบ็ดเสร็จ ทำแบบค้างๆ คาๆ จนคนทั้งหลายเกือบลืมไปแล้วว่าเคยเกิดปัญหานี้ และยังไม่มีการแก้ไข แต่จู่ๆ เมื่อมีการประกาศให้ทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ และเกิดปัญหาขัดแย้งกับกลุ่มพนักงานขึ้น จึงได้รู้ว่าได้มีการหยิบยกปัญหาไอทีวีขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าในครั้งนี้จะแก้โดยการใช้กฎหมายมาจัดการกับปัญหา โดยมิได้มีการเตรียมการจัดการในเชิงบริหารไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนแต่อย่างใด ทั้งนี้เห็นได้จากการที่การให้บริการในรูปแบบของทีวีสาธารณะมิได้เกิดขึ้นในทันที แต่ต้องรอไปอีกระยะหนึ่งและในแง่ของการบริหารงานบุคคล แม้กระทั่งโครงสร้างเงินเดือนก็ต้องรอให้กรรมการบริหารที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ชั่วคราวมากำหนด ทั้งๆ ที่สิ่งที่ว่านี้เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ล่วงหน้าโดยกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้ดูแลกิจการ

2. การกำหนดให้องค์กรแห่งนี้ไม่สามารถหารายได้จากการดำเนินงานเอง แต่ให้ดำเนินการโดยอาศัยเงินอุดหนุนจากรัฐในวงเงินที่จำกัด ถ้าดูในเชิงของการบริหารแล้วก็เท่ากับใช้เงินกำหนดยึดความสามารถในการดำเนินการให้อยู่กับที่ โดยแต่ละปียากที่จะทำให้กิจการก้าวหน้าเท่าทันกับความต้องการทางด้านข้อมูลข่าวสารของสังคม เพราะในวงเงินที่จำกัดนี้ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ก็เกือบจะหมดแล้ว ดังนั้นคงเหลือที่จะนำมาลงทุนในกิจการใหม่ได้น้อยเต็มที และเมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนจะคาดหวังคุณภาพของการให้ข้อมูลข่าวสารจากสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งนี้ก็คงจะยากเต็มที

สุดท้ายแล้วคงหนีไม่พ้นเป็นกิจการที่อยู่รอดแต่ไม่เติบโต หรือพูดให้เป็นภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่าไม่ตายแต่ก็ไม่โต เหมือนกับที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในกิจการสาธารณูปโภค เช่น รถเมล์ และรถไฟ เป็นต้น

3. ในแง่ของการให้บริการ ในฐานะสื่อกิจการที่เป็นของรัฐจะกระทำให้มีคุณภาพ และเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนได้ยาก เพราะนอกจากจะถูกแทรกแซงด้วยการเมืองที่เข้ามามีอำนาจรัฐแล้ว ยังต้องแข่งขันกับธุรกิจสื่อของเอกชนที่นับวันจะก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านอุปกรณ์การสื่อสาร และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ แต่สถานีโทรทัศน์ภายใต้ข้อจำกัดในด้านงบประมาณแห่งนี้จะแข่งขันกับเอกชนในด้านต่างๆ ได้อย่างไร และเมื่อแข่งขันไม่ได้เพราะด้วยข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว สุดท้ายก็ดำเนินการไปแบบซังกะตาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วประชาชนผู้เสียภาษี และถึงแม้จะไม่มีส่วนในการจ่ายภาษีที่มาอุดหนุนสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ แต่ก็มีส่วนที่จะได้รับประโยชน์จากภาษีก้อนนี้ถ้านำไปลงทุนในกิจการสาธารณะอื่นๆ เช่น ขนส่งมวลชน เป็นต้น จะได้อะไร

ในฐานะคนที่อยู่วงการสื่อ ผู้เขียนเองเห็นด้วยในหลักการที่จะให้มีสื่อสาธารณะที่มุ่งเน้นในด้านการให้บริการข่าวสาร และสาระน่ารู้ที่ก่อให้เกิดปัญญาแก่ผู้ชมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

แต่ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบของการบริหารจัดการที่ขีดวงให้ต้องอยู่กับงบอุดหนุนจากรัฐเพียงประการเดียว แต่น่าจะเปิดโอกาสให้สถานีแห่งนี้มีการลงทุนในการผลิตรายการที่มีเนื้อหาสาระ และขายให้แก่สื่อรายอื่นทั้งใน และนอกประเทศเพื่อเป็นการหารายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ดังเช่นที่สถานีโทรทัศน์ต่างประเทศผลิตสารคดีแล้วขายออกไปทั่วโลก เป็นต้น

นอกเหนือจากการเปิดโอกาสให้มีการหารายได้โดยการผลิตรายการออกขายแล้ว โทรทัศน์แห่งนี้ควรจะดำเนินการเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อสอนวิชาที่นักศึกษาสนใจ แล้วคิดค่าให้บริการทางวิชาการ จากผู้ที่ต้องการรับสัญญาณ โดยมีสัญญาผูกพันในฐานะนิติบุคคลกับนิติบุคคล ก็จะช่วยให้องค์กรแห่งนี้มีรายได้ ทั้งยังได้สนองนโยบายรัฐในฐานะเป็นองค์กรสื่อที่ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้พร้อมให้สาระแก่ประชาชนไปพร้อมๆ กัน

แต่ถ้าองค์กรแห่งนี้ทำสัญญาว่าจะทำตามอำนาจหน้าที่ และวงเงินที่กำหนด คงไม่ให้อะไรใหม่ และสุดท้ายก็คงจบลงด้วยการเป็นสื่อที่ไม่มีใครดู เสียเงินไม่คุ้มแก่การลงทุน ดังที่เกิดขึ้นแล้วกับหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา สมัยรัฐบาลหอย ที่ออกมาได้ไม่นานก็ต้องปิดตัวลงเพราะแข่งกับเอกชนไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น