กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ยืนยันเหตุเพลิงไหม้ห้างร้างโตคิว รัชดา ไม่ใช่การลอบวางเพลิง แต่อาจเกิดจากความประมาทของคนงานที่ทิ้งเศษบุหรี่ไปติดฟิล์มกรองแสงกระจก หรือไฟฟ้าลัดวงจร ขณะที่ กทม.ร่วมกับสภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานฯเข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคารโตคิวอีกครั้งวันนี้
วานนี้ (10 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้อาคารโตคิว ถนนรัชดาภิเษกซอย 10 ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขารัชดาฯ แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. เมื่อเวลา 03.00 น.วันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานได้สรุปการตรวจสอบออกมาแล้ว
ทั้งนี้ พ.ต.อ.สุรชัย วัชรโยธิน รองผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน (รอง ผบก.พฐ.) กล่าวว่า จากการเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุอีกครั้งพบว่า ต้นเพลิงอยู่ระหว่างตึกเอและตึกบี พบรอกไฟฟ้า มอเตอร์ และพบร่องรอยการลอกฟิล์มกระจก เศษฟิล์ม เศษกระจก อุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งฟิล์มกระจกเป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี
พ.ต.อ.สุรชัย ยืนยันว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุอย่างละเอียด ขอยืนยันว่าไม่ใช่การวางเพลิงอย่างแน่นอน เพราะจุดเกิดเหตุเป็นช่วงหลังคา สาเหตุน่าจะเกิดจากความประมาท เช่น ทิ้งบุหรี่ไปโดนฟิล์มกระจก เพราะมีคนงานทำงานอยู่จำนวนมาก หรืออาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม กองพิสูจน์หลักฐาน จะต้องเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ไปตรวจในห้องแล็บเพื่อทราบผลที่แน่นอนอีกครั้งต่อไป
ด้าน พ.ต.ท.ยิ่งยศ อินทบุหรั่น รอง ผกก.สส.สน.ห้วยขวาง เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตเพลิงไหม้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต้องรอผลจากเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานอีกครั้งว่า สาเหตุของเพลิงไหม้นั้นเกิดจากสาเหตุอะไร แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นการวางเพลิง เนื่องจากภายในอาคารที่เกิดเหตุดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ รปภ.คอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว
พ.ต.ท.ยิ่งยศ กล่าวต่อว่า ได้มีชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงที่เกิดเหตุที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ ได้เดินทางเข้าแจ้งความเพิ่มเติมกับ พ.ต.ต.เชาวลิต รักการค้า พนักงานสอบสวน (สบ.2) แล้วกว่า 10 ราย โดยส่วนใหญ่จะได้รับความเสียหายเล็กน้อย
นอกจากนี้ชาวบ้านยังกลัวว่า หากมีการรื้อกระจกที่ได้รับความเสียหายทิ้ง ก็อาจจะทำให้เศษกระจกหล่นใส่บ้านเรือนของตัวเองจนได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ทางสำนักงานเขตห้วยขวาง กับเจ้าของอาคาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็จะต้องวางแผนการในการรักษาความปลอดภัยระหว่างการซ่อมแซมอาคาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน พนักงานของบริษัทฤทธา ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุ ได้เดินทางเข้าไปเก็บกวาดทำความสะอาด พร้อมทั้งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนใกล้เคียงที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวแล้ว
นางภาวิณี อามาตย์ทัศ ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าวว่า ทางเจ้าของอาคารได้เสนอวิธีการแก้ไขอาคารดังกล่าวมาให้ทางเขตห้วยขวางพิจารณาก่อนที่จะเข้าดำเนินการปรับปรุงดังนี้คือ เจ้าของอาคารและผู้รับเหมาได้นำโครงเหล็กพร้อมแผงไม้รองรับเศษวัสดุตั้งแต่ชั้น 10 ขึ้นไปที่อาจหลุดล่วงมาใส่ประชาชนและบ้านเรือน โดยจะมีการยึดกับอาคารทุก ๆ 3 ชั้น ตลอดความสูงของอาคาร รวมถึงจัดทำผ้าใบคลุมมิให้เศษวัสดุปลิวกระจาย และจัดคนงานเก็บกวาดเศษวัสดุและเคลื่อนย้ายออกไปกำจัดตามมาตรการป้องกันมลพิษ ซึ่งเจ้าของอาคารและผู้รับเหมาจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์
นอกจากนี้ขณะรื้อถอนผนังอาคารที่เสียหายจะมีการติดตั้งนั่งร้านที่มั่นคงแข็งแรงยึดติดกับโครงสร้างของอาคารที่พื้นทุกชั้นและมีราวกันตกป้องกันอันตรายสำหรับคนงานขณะทำการรื้อถอนผนังเดิม ตลอดความสูงอาคารทุกด้านของผนังที่ทำงานโดยจะมีผ้าใบคลุมตลอดความสูงของอาคารทุกด้านของผนังที่ทำงานเช่นกัน ในส่วนของการติดตั้งผนังอาคารใหม่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ยอดตึกลงสู่ชั้นที่ 10 ซึ่งจะมีการติดตั้งนั่งร้าน คลุมผ้าใบเหมือนวิธีการขณะรื้อผนังเดิมออก อย่างไรก็ตามเบื้องต้นเจ้าของอาคารและผู้รับเหมาได้นำโครงเหล็กพร้อมแผงไม้รองรับเศษวัสดุมาติดตั้งเพื่อป้องกันเศษวัสดุที่อาจหลุดล่วงมาใส่ประชาชนและบ้านเรือนทางด้านหลังอาคารแล้ว
ในส่วนมาตรการป้องกันมลพิษจากเศษวัสดุที่ถูกเพลิงไหม้เจ้าของอาคารและผู้รับเหมาก่อสร้างจะดำเนินการตลอดระยะเวลารื้อถอนและทำความสะอาด วัสดุชิ้นใดที่นำไปรีไซเคิลได้ก็จะขายให้กับผู้ซื้อ ส่วนที่ต้องล้างทำความสะอาดภายในอาคารซึ่งน้ำจากการชำระล้างจะถูกนำไปสู่บ่อบำบัดน้ำเสียของอาคารเพื่อขจัดตะกอนและเพื่อการบำบัด ส่วนน้ำที่ชำระล้างนอกอาคารจะสร้างบ่อตกตะกอนชั่วคราวเพื่อขจัดตะกอน และตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนปล่อยลงสู่บ่อระบายน้ำสาธารณะ ส่วนตะกอนที่กักเก็บได้จากกระบวนการข้างต้นจะเก็บรวบรวมขนส่งโดยรถบรรทุกที่มีภาชนะปิดไปโรงงวานกำจัดน้ำเสียกทม.หรือของเอกชนเช่นเดียวกับเศษกระจก พลาสติก รวมทั้งขยะเขม่าควัน
ผอ.เขตห้วยขวางกล่าวอีกว่า วันนี้(11 ม.ค.) เวลา 16.00 น. ทางคณะกรรมการตรวจสอบสภาพการใช้อาคาร ที่เขตได้แต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเขตห้วยขวางซึ่งมีนายธงชัย เมฆประเสริฐสุข วิศวกรโยธา 8 วช.เป็นประธาน จะเข้าตรวจสอบโครงสร้างของอาคารร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสถ.) เนื่องจากตั้งแต่เกิดเหตุเพลิงไหม้ยังไม่ได้มีการเข้าตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคารเพราะทางกองพิสูจน์หลักฐานต้องตรวจหาสาเหตุก่อนจึงจะเข้าไปได้.
วานนี้ (10 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้อาคารโตคิว ถนนรัชดาภิเษกซอย 10 ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขารัชดาฯ แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. เมื่อเวลา 03.00 น.วันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานได้สรุปการตรวจสอบออกมาแล้ว
ทั้งนี้ พ.ต.อ.สุรชัย วัชรโยธิน รองผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน (รอง ผบก.พฐ.) กล่าวว่า จากการเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุอีกครั้งพบว่า ต้นเพลิงอยู่ระหว่างตึกเอและตึกบี พบรอกไฟฟ้า มอเตอร์ และพบร่องรอยการลอกฟิล์มกระจก เศษฟิล์ม เศษกระจก อุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งฟิล์มกระจกเป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี
พ.ต.อ.สุรชัย ยืนยันว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุอย่างละเอียด ขอยืนยันว่าไม่ใช่การวางเพลิงอย่างแน่นอน เพราะจุดเกิดเหตุเป็นช่วงหลังคา สาเหตุน่าจะเกิดจากความประมาท เช่น ทิ้งบุหรี่ไปโดนฟิล์มกระจก เพราะมีคนงานทำงานอยู่จำนวนมาก หรืออาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม กองพิสูจน์หลักฐาน จะต้องเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ไปตรวจในห้องแล็บเพื่อทราบผลที่แน่นอนอีกครั้งต่อไป
ด้าน พ.ต.ท.ยิ่งยศ อินทบุหรั่น รอง ผกก.สส.สน.ห้วยขวาง เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตเพลิงไหม้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต้องรอผลจากเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานอีกครั้งว่า สาเหตุของเพลิงไหม้นั้นเกิดจากสาเหตุอะไร แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นการวางเพลิง เนื่องจากภายในอาคารที่เกิดเหตุดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ รปภ.คอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว
พ.ต.ท.ยิ่งยศ กล่าวต่อว่า ได้มีชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงที่เกิดเหตุที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ ได้เดินทางเข้าแจ้งความเพิ่มเติมกับ พ.ต.ต.เชาวลิต รักการค้า พนักงานสอบสวน (สบ.2) แล้วกว่า 10 ราย โดยส่วนใหญ่จะได้รับความเสียหายเล็กน้อย
นอกจากนี้ชาวบ้านยังกลัวว่า หากมีการรื้อกระจกที่ได้รับความเสียหายทิ้ง ก็อาจจะทำให้เศษกระจกหล่นใส่บ้านเรือนของตัวเองจนได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ทางสำนักงานเขตห้วยขวาง กับเจ้าของอาคาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็จะต้องวางแผนการในการรักษาความปลอดภัยระหว่างการซ่อมแซมอาคาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน พนักงานของบริษัทฤทธา ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุ ได้เดินทางเข้าไปเก็บกวาดทำความสะอาด พร้อมทั้งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนใกล้เคียงที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวแล้ว
นางภาวิณี อามาตย์ทัศ ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าวว่า ทางเจ้าของอาคารได้เสนอวิธีการแก้ไขอาคารดังกล่าวมาให้ทางเขตห้วยขวางพิจารณาก่อนที่จะเข้าดำเนินการปรับปรุงดังนี้คือ เจ้าของอาคารและผู้รับเหมาได้นำโครงเหล็กพร้อมแผงไม้รองรับเศษวัสดุตั้งแต่ชั้น 10 ขึ้นไปที่อาจหลุดล่วงมาใส่ประชาชนและบ้านเรือน โดยจะมีการยึดกับอาคารทุก ๆ 3 ชั้น ตลอดความสูงของอาคาร รวมถึงจัดทำผ้าใบคลุมมิให้เศษวัสดุปลิวกระจาย และจัดคนงานเก็บกวาดเศษวัสดุและเคลื่อนย้ายออกไปกำจัดตามมาตรการป้องกันมลพิษ ซึ่งเจ้าของอาคารและผู้รับเหมาจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์
นอกจากนี้ขณะรื้อถอนผนังอาคารที่เสียหายจะมีการติดตั้งนั่งร้านที่มั่นคงแข็งแรงยึดติดกับโครงสร้างของอาคารที่พื้นทุกชั้นและมีราวกันตกป้องกันอันตรายสำหรับคนงานขณะทำการรื้อถอนผนังเดิม ตลอดความสูงอาคารทุกด้านของผนังที่ทำงานโดยจะมีผ้าใบคลุมตลอดความสูงของอาคารทุกด้านของผนังที่ทำงานเช่นกัน ในส่วนของการติดตั้งผนังอาคารใหม่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ยอดตึกลงสู่ชั้นที่ 10 ซึ่งจะมีการติดตั้งนั่งร้าน คลุมผ้าใบเหมือนวิธีการขณะรื้อผนังเดิมออก อย่างไรก็ตามเบื้องต้นเจ้าของอาคารและผู้รับเหมาได้นำโครงเหล็กพร้อมแผงไม้รองรับเศษวัสดุมาติดตั้งเพื่อป้องกันเศษวัสดุที่อาจหลุดล่วงมาใส่ประชาชนและบ้านเรือนทางด้านหลังอาคารแล้ว
ในส่วนมาตรการป้องกันมลพิษจากเศษวัสดุที่ถูกเพลิงไหม้เจ้าของอาคารและผู้รับเหมาก่อสร้างจะดำเนินการตลอดระยะเวลารื้อถอนและทำความสะอาด วัสดุชิ้นใดที่นำไปรีไซเคิลได้ก็จะขายให้กับผู้ซื้อ ส่วนที่ต้องล้างทำความสะอาดภายในอาคารซึ่งน้ำจากการชำระล้างจะถูกนำไปสู่บ่อบำบัดน้ำเสียของอาคารเพื่อขจัดตะกอนและเพื่อการบำบัด ส่วนน้ำที่ชำระล้างนอกอาคารจะสร้างบ่อตกตะกอนชั่วคราวเพื่อขจัดตะกอน และตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนปล่อยลงสู่บ่อระบายน้ำสาธารณะ ส่วนตะกอนที่กักเก็บได้จากกระบวนการข้างต้นจะเก็บรวบรวมขนส่งโดยรถบรรทุกที่มีภาชนะปิดไปโรงงวานกำจัดน้ำเสียกทม.หรือของเอกชนเช่นเดียวกับเศษกระจก พลาสติก รวมทั้งขยะเขม่าควัน
ผอ.เขตห้วยขวางกล่าวอีกว่า วันนี้(11 ม.ค.) เวลา 16.00 น. ทางคณะกรรมการตรวจสอบสภาพการใช้อาคาร ที่เขตได้แต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเขตห้วยขวางซึ่งมีนายธงชัย เมฆประเสริฐสุข วิศวกรโยธา 8 วช.เป็นประธาน จะเข้าตรวจสอบโครงสร้างของอาคารร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสถ.) เนื่องจากตั้งแต่เกิดเหตุเพลิงไหม้ยังไม่ได้มีการเข้าตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคารเพราะทางกองพิสูจน์หลักฐานต้องตรวจหาสาเหตุก่อนจึงจะเข้าไปได้.