xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ ‘เด่นดัง’ ต้นเหตุเด็กหญิงน้ำหนักขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานะทางสังคมในโรงเรียนอาจเป็นดัชนีบ่งชี้น้ำหนักตัวในอนาคตของเยาวชน โดยผลศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 คนพบเด็กหญิงวัยแรกรุ่นที่เชื่อว่าตัวเองไม่เด่นดังในหมู่เพื่อนๆ จะอ้วนขึ้นภายในสองปีเมื่อเทียบกับเด็กที่มองว่าตัวเองเป็นที่นิยมในโรงเรียน

งานวิจัยที่เขียนโดยเอดินา ลีมโชว์ ขณะยังเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ด สกูล ออฟ พับลิก เฮลท์ และตีพิมพ์อยู่ในวารสารอาร์ไคฟ์ส ออฟ เพเดียทริกส์ แอนด์ อะโดเลสเซนต์ เมดิซินฉบับเดือนมกราคม ใช้ข้อมูลการศึกษาที่นักวิจัยจำนวนมากใช้เพื่อศึกษาโรคอ้วนในเด็ก

อย่างไรก็ดี นักวิจัยยอมรับว่าการศึกษานี้มีจุดอ่อนตรงที่ข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูงที่ปรากฏอยู่เป็นข้อมูลจากการเปิดเผยของตัวเด็กเอง ไม่ใช่จากการวัดและชั่งน้ำหนักของแพทย์

ในการวิจัย ทีมงานพิจารณาน้ำหนักตัวและดัชนีมวลกาย (บีเอ็มไอ) ของเด็กหญิงเมื่อเริ่มต้นการศึกษา ตลอดจนข้อมูลโภชนาการ รายได้ของครอบครัว เชื้อชาติ และการแตกเนื้อสาว

นักวิจัยวัดระดับความป๊อปปูลาร์ของเด็กเหล่านี้ในปี 1999 ด้วยการให้เด็กจัดอันดับเพื่อนที่โรงเรียนที่เป็นที่ชื่นชอบที่สุดจนถึงเด็กที่ไม่มีใครสนใจอยากคบหา โดยแบ่งระดับเป็นบันได 10 ขั้น จากนั้นจึงให้เด็กจัดอันดับตัวเอง

ต่อมา นักวิจัยแยกเด็กออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่บอกว่าตัวเองอยู่บนบันไดขั้นที่ 5 ขึ้นไป ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนถึง 4,264 คน ส่วนกลุ่มหลังอยู่บนบันไดขั้นที่ 4 ลงมา แล้วจึงนำน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาพิจารณาประกอบ

สิ่งที่พบคือ แม้เด็กหญิงทั้งหมด ซึ่งอายุเฉลี่ย 15 ปีระหว่างการศึกษา มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มที่มองตัวเองว่าไม่ป๊อปปูลาร์มีแนวโน้มมากกว่าเด็กอื่นๆ ถึง 69% ที่จะมีดัชนีบีเอ็มไอเพิ่มขึ้น 2 จุด หรือน้ำหนักขึ้น 11 ปอนด์

คลี แมกนีลี จากจอห์นส์ ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก สกูล ออฟ พับลิก เฮลท์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยแต่เขียนบทบรรณาธิการประกอบรายงานชิ้นนี้ บอกว่าต้องการรู้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็ก 4% ที่ให้คะแนนความป๊อปปูลาร์ตัวเองต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเด็กกลุ่มนี้น้ำหนักขึ้นเร็วกว่าช่วงที่มองตัวเองไม่เด่นดังหรือไม่ เนื่องจากสถานะทางสังคมถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพของเด็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น