xs
xsm
sm
md
lg

นอนหลับไม่สนิทมีสิทธิ์เป็นเบาหวาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การนอนหลับเต็มอิ่มอาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ ในทางกลับกัน หนุ่มสาวสุขภาพดีแต่ไม่ได้หลับลึกแบบ slow-wave sleep (ช่วงที่หลับสนิท คลื่นสมองจะเป็นแบบคลื่นช้า) เพียง 3 คืน ร่างกายจะผลิตสารต้านอินซูลิน ซึ่งเป็นลักษณะที่เชื่อมโยงกับเบาหวานประเภท 2 และมีผลเทียบเท่าการอ้วนขึ้น 20-30 ปอนด์

อีฟ แวน คอเตอร์ ศาสตราจารย์แพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่าผลวิจัยนี้สะท้อนว่า การนอนหลับลึกไม่ได้มีประโยชน์ต่อสมองเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย

“เราพบว่า การหลับลึกมีนัยสำคัญต่อการเผาผลาญกลูโคสและความเสี่ยงเบาหวาน”

โรคเบาหวานประเภท 2 เกี่ยวโยงกับการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป อาหารอุดมไขมัน และการใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งๆ นอนๆ นอกจากนั้น ขณะที่การนอนหลับไม่สนิทเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเผาผลาญอาหารและความอยากอาหาร

ทีมนักวิจัยภายใต้การนำของแวน คอเตอร์อยากรู้ว่า การนอนหลับไม่สนิทจะเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2 หรือไม่ จึงทำการศึกษาผู้ใหญ่ 9 คนอายุระหว่าง 20-31 ปี ที่ถูกขอร้องให้นอนในห้องปฏิบัติการ 2 คืนติดต่อกัน โดยแต่ละคืนอาสาสมัครเหล่านี้จะได้นอนหลับยาวโดยไม่ถูกรบกวนนานถึง 8 ชั่วโมงครึ่ง

จากนั้นต่อไปอีก 3 คืน นักวิจัยจะรบกวนการนอนหลับของอาสาสมัครโดยการใช้เสียงในระดับเพียงแค่ทำให้คลื่นสมองหลุดออกจากวงจรการหลับลึก แต่ไม่ถึงขั้นทำให้อาสาสมัครตื่นขึ้นมาจริงๆ

เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยฉีดสารละลายกลูโคสหรือน้ำตาลให้อาสาสมัครแต่ละคน และวัดระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงการตอบสนองต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับกลูโคสในร่างกาย

หลังจากนอนหลับไม่สนิทติดต่อกัน 3 คืน อาสาสมัคร 8 ใน 9 คนไวต่ออินซูลินน้อยลง ทว่า ร่างกายไม่ได้ผลิตอินซูลินเพิ่มแต่อย่างใด

เนื่องจากอินซูลินมีหน้าที่บอกร่างกายว่ามีการบริโภคพลังงานเข้าไป ดังนั้น ความบกพร่องนี้จึงอาจนำไปสู่ภาวะน้ำหนักขึ้นและเบาหวานได้

การนอนน้อยบ่อยครั้งเป็นผลจากโรคอ้วนและวัย ขณะที่แต่ละคืนหนุ่มสาวส่วนใหญ่หลับลึกเป็นเวลา 80-100 นาที แต่สำหรับผู้ใหญ่อายุ 60 ปีเป็นต้นไป เวลาในการหลับลึกจะลดเหลือเพียง 20 นาทีเท่านั้น

“ผลศึกษานี้บ่งชี้ชัดเจนว่า อาการใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเวลาในการหลับลึกที่หดสั้นลง เชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงเบาหวาน” แวน คอเตอร์ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น