xs
xsm
sm
md
lg

คาดค่าเงินบาทแข็งแตะ33.20 แนะธปท.หยุดแทรก-ชะลอเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่เปิดทำการ 2 ม.ค. ล่าสุดแข็งแตะ 33.45 บาทต่อดอลล์ จากแรงขายดอลลาร์หลังดัชนีภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯที่ประกาศออกมาต่ำกดเศรษฐกิจชะลอกว่าที่คาดไว้ ชี้ในระยะสั้น 1-2 สัปดาห์มีโอกาสแตะ 33.20 บาทต่อดอลล์ เตือนแบงก์ชาติควรปล่อยตามกลไกจะช่วยชะลอเงินเฟ้อได้

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน สายงานธุรกิจทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นวานนี้นั้น เป็นผลมาจาก เงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงภายหลังดัชนีอุตสาหกรรมของสหรัฐฯที่ประกาศออกมาอยู่ในระดับ 44.7 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 50.8 จุด ซึ่งดัชนีดังกล่าวที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 จุดบ่งชี้ถึงภาคการผลิตของสหรัฐฯที่ไม่น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น และส่งสัญญาณต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ค่าเงินดอลลาร์จึงยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

"การชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ของเศรษฐกิจสหรัฐฯทำให้มีการประเมินของตลาดว่าเฟดจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงลึกโดยในเดือนกันยายนอาจจะอยู่ในระดับ 2.75% จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 4.25% ซึ่งอัตราดังกล่าวเป็นการประเมินจากอัตราดอกเบี้ยของตราสารอนุพันธ์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า และอาจจะต้องดูท่าทีของเฟดในถ้อยแถลงครั้งหน้าว่าจะมีแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในทิศทางใดต่อไป"นายกอบสิทธิ์กล่าว

จากปัจจัยต่างๆดังที่กล่าวแล้วเงินบาทจึงยังมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมีความผันผวนมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่ถือครองตราสารต่างๆของสหรัฐฯจะทยอยลดการถือครองลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลงซึ่งจะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะเวลา 2 ปีอยู่ที่ระดับ 2.85% และอัตราดอกเบี้ยเฟด ฟันด์ เรทอยู่ที่ 4.25% บ่งชี้ถึงการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลงอีก โดยธนาคารกสิกรไทยยังคงประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2551 ไว้ที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับในระยะสั้นช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ คาดว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าแตะระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปลายปีก่อน ซึ่งการแข็งค่าขึ้นดังกล่าวก็เป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค และการแข็งค่าของเงินบาทก็ยังช่วยชะลอการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคอยู่ในระดับ 3.2% และอัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตอยู่ที่ระดับ 7.9%

"ความจริงเงินบาทน่าจะแตะ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่อาจเป็นเพราะมีการแทรกแซงจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป ทำให้เงินบาทยังอยู่ในระดับ 33 บาทปลายๆ แต่ในปีนี้น่าจะเปิดทางให้เงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่ามากขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบกับอัตราเงินเฟ้อที่อาจมีการเพิ่มในอัตราที่เร่งขึ้นมากกว่าปีก่อน”นายกอบสิทธิ์กล่าว

นักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวานนี้ ( 3 ม.ค.) ปิดตลาดที่ระดับ 33.45-33.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยเป็นผลมาจากค่าเงินสหรัฐมีการปรับตัวอ่อนค่าลงเนื่องจากการประกาศตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมประจำเดือนธ.ค.ของสหรัฐออกมาแย่กว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ สำหรับระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดอยู่ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าสุดที่ระดับ 33.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้(4 ม.ค.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.42-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น