xs
xsm
sm
md
lg

เฟดหั่นดอกเบี้ยหนุนหุ้นรีบาวด์ช่วงสั้น กูรูชี้มีสิทธิ์เจอบิ๊กเซอร์ไพร์สิ้นปีจบที่2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการกองทุนชี้เฟดลดดอกเบี้ย 0.75% กระตุ้นตลาดหุ้นทั่วโลกแค่ระยะสั้น แต่ระยะยาวยังมีโอกาสผันผวนสูง ระบุสะท้อนความเลวร้ายของเศรษฐกิจแดนมะกันอย่างแท้จริง คาดประชุมครั้งหน้าหั่นดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ชะลอเศรษฐกิจถดถอย "ปริทรรศน์" เชื่อ ทั้งปีเฟด ฟันด์ เรส มีสิทธิ์ติดดินเหลือ 2% แนะนักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้น รอผลประชุมครั้งต่อไปออกมาก่อน

นายพนุกร จันทรประภาพ ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยถึง 0.75% น่าจะส่งผลบวกในระยะสั้นต่อตลาดหุ้น เพราะอย่างน้อยที่สุดจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวน้อยลง ซึ่งนักลงทุนคาดว่าในการประชุมครั้งต่อไป เฟดจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ทำให้มองว่าในระยะสั้นทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ อาจจะมองว่าเป็นการส่งสัญญาณไม่ดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเฟดไม่ได้ใช้มาตราการรุนแรงในการแก้ไขเศรษฐกิจเช่นนี้มาเป็นระยะเวลานาน การที่ลดดอกเบี้ยถึง 0.75% อาจจะเป็นการแสดงว่าในความเป็นจริงแล้วตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจเลวร้ายกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้

นายพนุกร กล่าวต่อว่า ประเมินว่าตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้จะยังคงความผันผวนสูง เพราะส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) และข่าวร้ายเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ น่าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นนักลงทุนควรจะใช้ความระมัดระวังในการลงทุน

"ปัญหาซับไพรม์นั้นไม่มีใครรู้ว่าจริงๆแล้ว มันใหญ่เพียงใด ดังนั้นนักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุน อย่างไรก็ตามไม่อยากให้นักลงทุนหนีออกไปจากตลาดหุ้นเลย แต่ควรเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสมากกว่า การจะไปเหมารวมว่าทุกตลาดจะแย่ไปหมดเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ควรจะเลือกมองว่าตลาดหุ้นของประเทศใด ที่น่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้น้อยที่สุดหรือในระยะยาวแล้วดัชนีมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปได้มากกว่า" นายพนุกร กล่าว

สำหรับมาตราการการลดดอกเบี้ยลง 0.75% จะสามารถแก้ไขปัญหาการชลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้หรือไม่นั้น นายพนุกร กล่าวว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดอีก 0.75% รวมทั้งมาตราการบรรเทาผลกระทบที่ภาครัฐของสหรัฐฯประกาศใช้ จะสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ เพราะ ผลกระทบจากซับไพรม์นั้น ยังไม่มีใครที่สามารถประเมินว่าว่ามีความรุนแรงเพียงใด

นายปริทรรศน์ เหลืองอุทัย CFA, FRM Series 3&7 กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอสซีบี ควอนท์ กล่าวว่า การที่เฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยฉุกเฉินอีก 0.75% สร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาดเป็นอย่างมาก ส่งผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะสั้นปรับตัวขึ้นเพื่อตอบรับข่าวดีดังกล่าว แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาข่าวผลกระทบเกี่ยวกับปัญหาซับไพรม์ จะออกมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการประชุมของเฟดในครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในปลายเดือนนี้นั้น คาดว่าทางการคงจะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ย เฟด ฟันด์ เรต ของประเทศสหรัฐอเมริกา ลดลงเหลือ 3% และคาดว่าตลอดปี 2551 มีแนวโน้มว่าเฟดมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงไปอีก จนอัตราดอกเบี้ยเฟด ฟันด์ เรส เหลือ 2% อย่างไรก็ตาม ถ้าในการประชุมครั้งหน้า เฟดไม่ลดดอกเบี้ยลงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ อาจส่งผลทำให้เกิดแรงเทขายรุนแรงในตลาดหุ้นทั่วโลกแทน

ทั้งนี้ สาเหตุที่เฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงกระทันหันถึง 0.75% นั้น ส่วนตัวเชื่อว่า เกิดมาจากเฟดต้องการหยุดความตื่นตระหนกของนักลงทุนทั่วโลก หลังจากที่ช่วงที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และอีกสาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจจะน่ากลัวกว่าที่คาดไว้ ทำให้ต้องมีการแบ่งการลดดอกเบี้ยลงเป็น 2 ช่วง เพื่อให้สามารถลดดอกเบี้ยในอัตราที่สูง เนื่องจากโดยปกติแล้วเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมแต่ละครั้งไม่เกิน 1% เท่านั้น

ด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นายปริทรรศน์ กล่าวแนะนำว่า นักลงทุนควรชะลอการเข้ามาลงทุน จนกว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการประชุมของเฟดในปลายเดือนนี้ก่อน เพราะแม้ว่าโครงสร้างของตลาดหุ้นไทยอาจจะไมผูกกับสหรัฐฯ มากนัก แต่ปัจจัยเรื่องปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯนับเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ส่วนนักลงทุนที่ปัจจุบันยังไม่มีการลงทุนในหุ้น แนะนำว่าอย่างพึ่งเข้ามาลงทุนในขณะนี้ เนื่องจากคาดว่าตลอดปีนี้ ตลาดหุ้นจะเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวน และค่อนไปทางการปรับตัวลดลงมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในระยะสั้นการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดจะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้น แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาซับไพรม์ที่เกิดขึ้นเท่าไรนัก เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบไปจนถึงเศรษฐกิจจริงของสหรัฐแล้ว ทั้งนี้ มองว่าขอบเขตความเสียหายจากปัญหาเครดิตเรสติ้งของทางสหรัฐฯนั้น น่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงกลางปี แต่ปัญหาที่ลุกลามออกไปอาจจะส่งผลกระทบยาวไปจนตลอดปีนี้ โดยปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะดำเนินไปยาวนานเพียงใด คงจะต้องขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายจากซับไพรม์และผลกระทบที่บานปลายออกไปจากปัญหาดังกล่าวว่ากระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
กำลังโหลดความคิดเห็น