xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องมีเงื่อนไข 5 ประการ

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

nidd.riddhagni@gmail.com

นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่คนไทยทั้งชาติต้องอยู่ในภวังค์เศร้าสลดอาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2551 เวลา 02.54 น. รวมพระชันษา 84 พรรษา ซึ่งพสกนิกรทุกหมู่เหล่าต้องสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยตลอดพระชนมชีพ พระองค์ทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยทั้งปวงด้วยความเรียบง่าย ไม่ถือพระองค์ด้วยพระเมตตาที่กว้างใหญ่ไพศาลคุ้มครองชนชาวไทย โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่มีโรงเรียนเรียนหนังสือ และคนพิการขาขาดก็มีขาเทียมใส่ จึงนับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาติอีกวาระหนึ่ง เพราะพระองค์ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่วนรวมในหลายแขนงตั้งแต่ปี 2493ด้วยทรงเริ่มต้นเป็นอาจารย์นิสิต นักศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอีกหลายสถาบัน ทั้งยังทรงเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เมื่อยังทรงเจริญพระชนม์ตามเสด็จไปเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอโดยทรงนำคณะแพทย์อาสาไปให้การรักษาผู้เจ็บป่วยครั้นเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสืบพระปณิธานอุปถัมภ์องค์กรเพื่อปวงประชา ทั้งยังทรงก่อตั้งองค์กรเพื่อมวลชนขึ้นใหม่รวม 63 มูลนิธิ อันเพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงทวยราษฎร์ทั้งสิ้นและเมื่อสิ้นพระชนม์ จึงนำมาซึ่งความโศกเศร้าทั่วกัน

อย่างไรก็ดี วิถีการเมืองย่อมเคลื่อนไปข้างหน้า จึงจำเป็นต้องเขียนเรื่องนี้เพื่อการดำรงรักษาสัจธรรมแห่งพระบรมเดชานุภาพอันบริสุทธิ์ จึงต้องย้อนวิเคราะห์ประเด็นเงื่อนไข 5 ประการที่พรรคชาติไทย และพรรคเพื่อแผ่นดินร่วมกันออกมาประกาศยืนยันเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาล 5 ประการ คือ

1. จะต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ จะล่วงละเมิดมิได้และจะต้องทำความกระจ่างให้ชัดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุด

2. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีถือเป็นรัฐบุรุษที่สูงสุดในบรรดาผู้คนทั้งหลาย และเป็นที่เคารพของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งตรงนี้ต้องรักษาไว้และจะต้องไม่ก้าวล่วง

3. จะต้องไม่มีการล้างแค้นซึ่งกันและกัน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ควรจะลืมเพราะหากมีการล้างแค้นเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเกิดการล้างแค้นไม่สิ้นสุด และไม่สามารถหาข้อยุติได้

4. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะต้องเดินทางเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยไม่มีการแทรกแซงและก้าวก่าย

5. คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.จะต้องไม่ยุบไม่เลิกและต้องไม่ไปแตะต้อง

การแถลงของนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยในฐานะผู้อาวุโสของสองพรรคพันธมิตรที่มีเสียงของ ส.ส.เป็นอันดับ 3 และ 4 ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะเข้าร่วมรัฐบาล หรืออยู่เป็นพรรคฝ่ายค้านก็ตาม แต่นัยสำคัญว่าทำไมต้องตั้งเงื่อนไข 5 ประการนี้ ซึ่งข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติในการดำรงความสามัคคีของคนในชาติ แต่ข้อ 1 และข้อ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงและมีข้อกำหนดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับไว้ชัดเจนอยู่และว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่เมื่อมีเงื่อนไขข้อที่ 1 แล้ว พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินจะต้องสร้างความกระจ่างให้คนไทยทั้งชาติได้รับรู้ถึงเหตุผลที่กำหนดเป็นเงื่อนไขนี้ และโดยนัยสำคัญทั้งปวงแล้วเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยว่า จะต้อง “จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์” ด้วยความจริงใจ

มีผู้คนไม่น้อยที่ต้องการรับรู้ความลับของ “อดีตคนใหญ่โตในรัฐบาล” ที่บังอาจกล่าวประโยคนั้นขณะที่อยู่สหรัฐอเมริกาและพูดภายหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งคุณสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้รับรู้ ได้ยินและไม่สบายใจ ทั้งยังถูกประณามว่าเป็นผู้ทรยศต่อพรรคไทยรักไทยหลายกรณี โดยเฉพาะการเป็นพยานเรื่องการขยายวงเงินกู้ให้กับรัฐบาลพม่า แต่กรณีลึกๆ นั้นคุณสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ก็ยังไม่ได้ให้ความกระจ่างต่อสาธารณชนเมื่อวันที่เชิญนักข่าวมารับฟังการแถลงข่าว เพียงบอกว่า “เห็นแก่ชาติบ้านเมืองมากกว่าบุคคลหรือพรรค” และ “ไม่ได้หักหลังพรรคไทยรักไทย แต่เป็นเพราะไม่อยากทรยศและอกตัญญูต่อแผ่นดิน”

ในฐานะที่คุณสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่เป็นนักวิชาการระดับดุษฎีบัณฑิตที่มีฐานะใกล้ชิดกับราชวงศ์ และดำรงตำแหน่งทั้งทางการเมืองในระดับรองนายกรัฐมนตรี และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมีระดับทางการศึกษาได้รับการยกย่องมาก่อน ย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง ย่อมมีวิจารณญาณชัดเจนในเรื่องอุดมการณ์ชาติ โดยนัยสำคัญของทุกคนที่เป็นคนไทยแล้วสถาบันชาติที่ยอมร่วมกัน คือ ความเป็นชาติไทยที่มีบูรณภาพเดียวกัน มีอำนาจอธิปไตย มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ที่สำคัญยิ่งคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ร้อยดวงใจไทยไว้ด้วยกันมาตั้งแต่เกิดเป็นชาติไทย และไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร สถาบันนี้ก็ดำรงอยู่รอดได้อย่างปาฏิหาริย์และศักดิ์สิทธิ์

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินปี 2475 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทยทำให้พระราชอำนาจการปกครองบางประการเป็นของปวงชนชาวไทย มิใช่ของใครคนหนึ่งคนใด แต่ยังคงดำรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทรงแต่งตั้งองคมนตรี และดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

การใช้รัฐสภาเป็นเวทีการเมืองเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วในระบอบประชาธิปไตย แต่ในอดีตมีการใช้รัฐสภาเป็นเวทีโจมตีฝ่ายตรงข้ามในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น ครั้งหนึ่งในห้วงความมืดมนของการเมือง 2500 เมื่อวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม พรรคฝ่ายค้าน 5 พรรค นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคสหภูมิร่วมกันเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อที่จะลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรคมนังคศิลา

หนึ่งในเก้าหัวข้อประเด็นการบริหารบ้านเมืองผิดพลาดได้แก่ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจซึ่งล่วงลับไปแล้วตกเป็นของการโจมตีอย่างหนักหลายเรื่อง โดยเฉพาะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปล่อยให้หนังสือพิมพ์ที่ตนสนับสนุนอยู่ได้แก่ หนังสือพิมพ์ “ไทยเสรี” ซึ่งมีการพาดหัวข่าวในลักษณะต่างๆ หรือเพิกเฉยให้มีการปล่อยข่าวที่กระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งรายละเอียดผู้สนใจสามารถอ่านได้ในหนังสือ “การเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสมัยของคณะรัฐประหาร (2490-2500)” ของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หน้า 504 และกรณีนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแตกแยกของพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และนำสู่การรัฐประหาร 2500 ซึ่งเมื่อเริ่มต้นถือว่าเป็น Popular Coup d’ Etat หรือรัฐประหารประชานิยม(Guardian Coup d’ Etat)

จึงเห็นได้ว่าไม่ว่าฝ่ายใด ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เผด็จการ เสรีนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐหรืออนาธิปไตยก็ตาม ครั้นเมื่อเถลิงอำนาจรัฐแล้วก็ลืมหมดว่าจุดยืนของชาติอยู่ที่ใดเกิดลัทธิอัตตานิยมทันทีโดยคิดว่าตัวเองวิเศษสุด แต่ความน่ากลัวอยู่ที่กลุ่มอนาธิปไตย เพราะกลุ่มนี้สามารถแทรกซึมไปได้ทั่วจนไม่รู้ว่าใครเป็นอนาธิปไตย และอนาธิปไตยต่อต้านทุกระบบ

หลังจากที่อำนาจรัฐถูกทำลายและอนาธิปไตยครองเมืองซึ่งส่วนใหญ่แล้วเมืองนั้นประเทศนั้นจะอยู่ในยุคมิคสัญญี เช่น ยุคหฤโหดในห้วงปฏิวัติฝรั่งเศสตั้งแต่ 5 กันยายน 1793-28 กรกฎาคม 1794 ซึ่งมีผู้คนถูกฆ่า 40,000 คนหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชาติบ้านเมืองเราคือกรณี 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการยั่วยุนำสู่ความโหดที่คนบริสุทธิ์ถูกฆ่าได้ง่ายดาย และประการสำคัญคนที่หิวโหยอำนาจเกิดขึ้นในทุกแผ่นดิน สัญลักษณ์ที่ได้ชัดเจนคือ ความก้าวร้าวนิยม ชอบการท้าทาย
กำลังโหลดความคิดเห็น