xs
xsm
sm
md
lg

รัฐดันศก.ปี’51 ฝ่าวิกฤตไฟใต้ หวังสูงติดสปริงจชต.โตถึง 3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – เศรษฐกิจชายแดนใต้ปีหนู “ศอ.บต.” และ “สศช.” วาดหวังไว้สูงจะติดสปริงการเติบโตได้ถึง 2-3% ด้วยการขับเคลื่อน 4 แนวทางคือ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก สินค้าฮาลาล แปรรูปยางและไม้ยาง ควบคู่กับพัฒนาเมืองชายแดนและระบบคมนาคมขนส่ง ขณะที่ภาคเอกชนกลับเชื่อว่าตัวเลขการขยายตัวจะถูกแช่แข็งไว้ที่ 0% ไร้เงาการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ก็ยังหวังเห็นรัฐบาลใหม่เข้าใจปัญหาและแก้ไขได้ตรงจุด ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้

ท่ามกลางวิกฤตปัญหาความไม่สงบระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 และคาดหมายกันว่าตลอดช่วงปี 2551 ปัญหาต่างๆ ก็ยังยากที่จะคลี่คลายลงไปได้ “ผู้จัดการรายวัน” ประมวลทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ และจากการสอบถามแกนนำภาคเอกชนและนักวิชาการ พบว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงมีความพยายามที่จะทุ่มทุกสรรพกำลังความสามารถ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ให้ก้าวไปข้างหน้าได้ต่อไป

 ศอ.บต.-สศช.เชื่อเศรษฐกิจโตได้ 2-3%

ข้อมูลจากสำนักประสานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และศูนย์พัฒนาภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงทิศทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2551 ตรงกันว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจให้ทัดเทียมกับพื้นที่อื่น โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าหมายคือ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากกิจกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2-3 พันล้านบาทต่อปี และส่งผลให้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก 2-3% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจเติบโตในระดับ 1-2% ต่อปี และสร้างงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2-3 พันคนต่อปี

สำหรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะมุ่งเน้น ประกอบด้วย 1. พัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก โดย จ.นราธิวาสจะพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมพลังงานไบโอดีเซล (Bio-diesel) จากปาล์มน้ำมัน เพื่อสนองแนวพระราชดำรัสในหลวง โดยมีแนวทางสำคัญคือ เพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มอีก 1 แสนไร่ในปี 2554, ผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มทั้งระดับชุมชนและระดับอุตสาหกรรม, ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงกะลาปาล์ม

ส่วน จ.ปัตตานีจะพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมพลังงานจากธรรมชาติ (Green Energy) เพื่อชี้นำการลงทุนรูปแบบใหม่ให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาล เพื่อสร้างคุณค่าเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) โดยมีแนวทางสำคัญคือ สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมบริเวณชายทะเล และการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์

2. พัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาลให้มีตราสินค้าของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้จุดเด่นด้านวัฒนธรรม สังคม และการใช้พลังงานสีเขียว (Green Energy) โดยมีแนวทางดังนี้ พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานและหีบห่อสินค้าชุมชนหรือวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs), พัฒนาการเลี้ยงแพะ เป็นวัตถุดิบผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล, พัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ 20 ใน จ.ปัตตานี, พัฒนาศูนย์แสดงสินค้า (Outlet) ของจังหวัดชายแดนใต้ในจีน อินโดนีเซียและมาเลเซีย และพัฒนาสถาบันเฉพาะทางเพื่อผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล และการผลิตพ่อครัว-แม่ครัวมุสลิม

3. พัฒนาการแปรรูปยางและไม้ยางพาราให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาตลาดกลางยางพาราที่ จ.ยะลา โดยมีแนวทางดังนี้ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสหกรณ์พัฒนาคุณภาพผลผลิตยาง, ส่งเสริมการรับช่วง (Sub-contract) การผลิตไม้แปรรูปยางพาราของชุมชนจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์

และ 4. พัฒนาเมืองชายแดนและระบบการคมนาคมขนส่ง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและรองรับความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีแนวทาง ดังนี้ พัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงด่านบูเก๊ะตา-บ้านประกอบ เพื่อเปิดพื้นที่ตอนใน และพัฒนาด่านพรมแดนทั้ง 2 ให้สะดวกต่อการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน, พัฒนาพื้นที่ชายแดนตามแนว อ.ตากใบ - อ.สุไหงโก-ลก - อ.สุไหงปาดี - อ.แว้ง เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนด้านตะวันออกเชื่อมโยงกับมาเลเซีย โดยพัฒนาสะพานตากใบและสะพานสุไหงโก-ลก

พัฒนาเส้นทางปัตตานี – ยะลา – เบตง เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงท่าเรือบัตเตอร์เวอร์ธของประเทศมาเลเซีย และรองรับการพัฒนาเมืองเบตงเป็นเมืองตากอากาศ โดยเส้นทางยะลา - เบตง จะเป็นถนนท่องเที่ยว (Scenic Road) สามารถชมวิวทิวทัศน์อ่าวบางลางและป่าดิบชื้นบาลา-ฮาลาในอนาคต, พัฒนาสนามบินนราธิวาสและส้นทางเชื่อมโยงสู่เมืองนราธิวาสและเมืองยะลา เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเชื่อมโยงสู่โลกมุสลิม ทั้งการไปแสวงบุญฮัจญ์และขนส่งสินค้าจากพื้นที่สู่ตลาด, ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณปัตตานีและนราธิวาส เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม และศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ภาคเอกชนหวังฝีมือรัฐบาลใหม่

ด้านนายทวี ปิยะพัฒนา ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผยว่า หากในปี 2551 สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงระดับเดิม ขณะที่ปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ภาคเอกชนหมดกำลังใจกันแน่ ที่ผ่านๆ มาเศรษฐกิจทรงตัว ผู้ประกอบการก็พยายามประคองตัวให้อยู่รอดกันให้ได้เท่านั้น ไม่มีการลงทุนเพิ่มใดๆ ยังดีที่ยังพอมีความหวังจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาว่า เราน่าจะได้รัฐบาลใหม่ที่เข้าใจและแน่วแน่แก้ปัญหา โดยมีการมอบหมายผู้รับผิดชอบชัดเจน อีกทั้งสามารถสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในฝ่ายทหารและพลเรือนได้

สำหรับในสายตาของนายทวีแล้วเห็นว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2550 แทบไม่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเลย และในปี 2551 ตัวเลขของอัตราการเติบโตน่าจะยังอยู่ที่ 0% เท่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตเฉลี่ยของทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 3% และทั้งประเทศที่มีตัวเลขอยู่ที่ 4.5-5% ถือว่าน่าใจหาย ซึ่งการที่เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่โตนั้น เราก็ต้องถือว่ามันเป็นภาวะที่ติดลบแล้ว

นายศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ในปี 2551 เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้นหรือเลวลงขึ้นอยู่กับการเมืองหลังมีรัฐบาลใหม่ ถ้าการเมืองนิ่งเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มดีขึ้น เท่าที่มองในตอนนี้เหตุการณ์ไม่ได้ถี่เหมือนก่อน จึงคาดว่าน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น ในส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการรัฐที่มากับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อาทิ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลดหย่อนภาษี และมีผลปี 2552 ก็ได้ช่วยพยุงให้อยู่รอดไปได้ และเมื่อได้รัฐบาลใหม่เราก็จะรู้ว่า ควรจะนำเสนออะไรให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่อไป

นายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าวว่า เวลานี้คนในพื้นที่รู้สึกขาดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจโดยตรง แม้หลายหน่วยงานโดยเฉพาะ ศอ.บต.จะเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน แต่ก็ยังมีอุปสรรคมากมาย อย่างสินค้าที่ผลิตออกมาไม่มีตลาดรองรับ แม้กองทัพจะเปิดยุทธการล้อมจับ ทำให้ผู้ประกอบการใจชื้นขึ้นมาบ้าง แต่ก็มีจำนวนมากที่ต้องปล่อยตัวไป การลงทุนใหม่ๆ จึงยังไม่เกิด เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่น มีเพียงคนในท้องถิ่นที่ลงทุนธุรกิจเล็กและเคลื่อนย้ายได้สะดวก ไม่มีการลงทุนใหญ่เกิดขึ้นมานานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในรอบปี 2550 รัฐบาลภายใต้การผลักดันของ ศอ.บต.ได้มีนโยบายและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่อง รวมถึงแผนงานและโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากมาย โดยเฉพาะการกำหนดให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จากนั้นก็มีการเพิ่มเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดหย่อนภาษี ผ่อนปรนแรงงาน ฯลฯ ซึ่งในปี 2551 ก็ยังมีแผนจะผลักดันนโยบายและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น