xs
xsm
sm
md
lg

ททท.-ส.โรงแรมไทย"งัดข้อ" ท้าพิสูจน์อัตราเข้าพักจริงปี2550

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถูกยกขึ้นมาให้เป็นหัวหอกในการสร้างเงินตราเข้าประเทศไปพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้เกิดการหมุนเวียน โดยรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ก็บรรจุเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจนำพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ว่ากันไปแล้ว ประเทศไทยเริ่มตื่นตัวที่จะหาเงินตราเข้าประเทศจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล”ทักษิณ” ดูได้จากนโยบายวางนโยบายการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น ศูนย์กลางทางการบิน(ฮับ) ,ศูนย์กลางทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ศูนย์กลางด้านการจัดประชุมสัมมนา ศูนย์กลางเมืองแฟชั่น และ การท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ด้วยภูมิประเทศที่หลากหลาย

***รัฐ-เอกชนทำงานไม่สมดุล***
ความชัดเจนของนโยบายดังกล่าว ก่อให้เกิดการลงทุนของภาคเอกทั้งจากแหล่งเงินทุนในประเทศและเงินทุนจากต่างประเทศ ธุรกิจหวานหอมที่น่าลงทุนที่สุดเมื่อมองถึงอุตสาหกรรมนี้ คือ โรงแรมที่พัก จะเห็นได้ว่า เมื่อรัฐบาลวางโปรเจคด้านการท่องเที่ยวลงไปในพื้นที่ใดก็ตาม การกว้านซื้อที่ดิน และ การลงทุนสร้างโรงแรม จะเกิดขึ้นมากมาย เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ หรือ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกหรือ โครงการริเวียร่า ซึ่งปัจจุบันถูกชะลอแผนออกไปก่อน เป็นต้น

การผุดขึ้นมากมายของโรงแรม ก่อให้เกิดการแข่งขันตามกลไกทางการตลาด ผู้ประกอบการต่างชูจุดขายสร้างความแตกต่าง การแยกย่อยเซกเมนต์ที่มากกว่าการวัดที่ระดับดาว เช่น บูติกโฮเทล ,ฮิบโฮเทล ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยว

แต่การลงทุนที่ถาโถมเข้ามาของภาคเอกชน กลับมาสอดคล้องกับความลังเลและยืดเยื้อของรัฐบาลในการที่จะสานต่อนโยบายที่ได้ประกาศไว้ เช่น โครงการสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ จ.เชียงใหม่ ที่ล่าสุด ททท. ขอให้รัฐบาลทบทวนใหม่ เพราะ เวลาผ่านมา 5 ปี ก็ยังไม่มีสิ่งใดเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ภาคเอกชนที่ลงทุนโรงแรมที่พัก เริ่มทยอยก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ โดยการเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในธุรกิจโรงแรม ของ จังหวัดเชียงใหม่ คือ มีโรงแรมระดับเชน จากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น รวมถึง โรงแรมระดับไฮเอนด์ 5-6 ดาว อย่าง ดาราเทวี โฟร์ซีซั่น ปานวิมาน เป็นต้น

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ก็มีโรงแรมผุดขึ้นมากมายเช่นกันในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับนโยบายที่ต้องการให้ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับต้องมาเจอกับปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ เช่น การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย การปฎิวัติเปลี่ยนแปลงผู้นำ และ เหตุลอบวางระเบิด เป็นปัจจัยลบ ที่เข้ามากระทบให้ภาคธุรกิจและการลงทุนต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้ปริมาณห้องพัก ของโรงแรมที่มีอยู่เก่า กับโรงแรมที่ผุดขึ้นใหม่ เกิดโอเวอร์ซัพพลาย

นายประกิจ ชินอมรพงษ์ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมเป็นสิ่งที่หวานหอม นักลงทุน หรือ คนมีฐานะ ก็หันมาลงทุนในธุรกิจนี้ แม้ไม่ใช่มืออาชีพก็ตาม ทำให้สถานการณ์โดยรวมของธุรกิจโรงแรม เกิดโอเวอร์ซัพพลาย ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ตามต้นทุนที่แท้จริง แถมเหรดราคาก็ยังถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สิงคโปร์ และ เวียดนาม ราว 10-15% เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน

ยอมรับว่าในปี 2550 ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี กับการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจ ส่งผลให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมเกือบทุกภาค เติบโตติดลบและเมื่อมองเป็นภาพภาพรวมตลอดปี 2550 ธุรกิจโรงแรมน่าติดลบ 8% เทียบกับปี 2549 แต่ปี 2551 หากสถานการณ์ปกติ ธุรกิจจะเติบโตราว 10%

**ส.โรงแรมสวนทาง ททท.***
ปัจจุบัน ในกรุงเทพมหานคร มีโรงแรมเปิดใหม่จำนวนมาก ทั้งขนาดเล็ก และ ขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีห้องพักเพิ่มขึ้นอีก กว่า 2,000 ห้อง และ ในปี 2551-2552 ประเมินว่าจะมีห้องพักใหม่เพิ่มขึ้นเฉพาะในเขตกรุงเทพฯอีกไม่น้อยกว่า 3,000 ห้อง ไม่นับรวมห้องพักที่จะทยอยเกิดขึ้นใหม่ ในเมืองท่องเที่ยว เช่น สมุย เชียงใหม่ และ ภูเก็ต ซึ่งสมาคมมองว่า จำนวนโรงแรมที่พักที่เพิ่มขึ้นใหม่จำนวนมากนี้ ไม่สมดุล กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี และ ยิ่งรัฐบาลมีนโยบายคัดนักท่องเที่ยวคุณภาพ เน้นที่รายได้ ไม่เน้นปริมาณ ทำให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยยิ่งลดลง ซึ่งปี 2550 จะอยู่ประมาณ 65-70%

“ตัวเลขที่เกิดขึ้นนี้เป็นตัวเลขจริง ที่สมาคมได้สอบถามไปยังสมาชิก และ สนามบิน ว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยน้อยกว่าปี 2549 แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังยืนยันว่า ธุรกิจนี้ยังเติบโต หากมองว่า โรงแรมที่เกิดใหม่ ระดับหรูหรา ที่ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก ทีเอชเอ มีผลประกอบการที่ดี ก็จะขอบอกว่า โรงแรมระดับราคา 2 หมื่นถึง 2 แสนบาทต่อคืนนั้น แท้จริงแล้ว มีจำนวนห้องพักกี่ห้อง และ ใน 1 ปี มีผู้เข้าพักกี่วัน จึงต้องการให้ผู้เกี่ยวข้อง หันมาควบคุมการขออนุญาตก่องสร้างโรงแรมบ้าง ให้เติบโตแบบสอดคล้องกับตัวเลขนักท่องเที่ยวด้วย”

**ททท.สอนมวยธุรกิจต้องปรับตัว***
ทางด้านนางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่ประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า จากการสอบถามภาคเอกชน ที่เป็นเจ้าของ หรือบริหารโรงแรมระดับหรู พบว่า จำนวนแขกผู้เข้าพักมีการเติบโตต่อเนื่อง หลายโรงแรมตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ระบุว่า การจองห้องพักขณะนี้ มียอดจองเต็มไปถึง กลางปีหน้า ย่อมแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้ฟื้นกลับคืนมาแล้ว และ ขอยืนยันว่า จำนวนนักท่องเที่ยวมีการเติบโตจริง ตามตัวเลข ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกด่าน ถึงสิ้นปี 2550 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศได้กว่า 14.5ล้านคน สร้างรายได้กว่า 5.47 แสนล้านบาท

การที่ สมาคมโรงแรมไทย ยังนำเสนอว่า อัตราเข้าพักโรงแรมปี 2550 ลดลงเมื่อเทียบกับ ปี 2549 เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และ เหตุผลเรื่องของโอเวอร์ซัพพลาย นั้น ต้องขอบอกว่า เมื่อธุรกิจเกิดการแข่งขัน ผู้ที่อยู่ในธุรกิจ จะต้องตื่นตัว รู้จักปรับปรุงตัวเอง รับมือกับการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม จะต้องเน้นเรื่องการให้บริการ ให้ลูกค้าเกิดความประใจ มีการบอกต่อและมาซ้ำ ซึ่งหน้าที่ของ ททท. คือทำโครงการส่งเสริมทางการตลาด กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางเข้ามาประเทศไทย และ เพิ่มการใช้จ่ายต่อวัน ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยที่ 4,200 บาท ต่อคนต่อวัน โดยในปี 2551 ททท.ยังคงวางนโยบายส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เช่น ตลาด ยุโรป อินเดีย และ จีน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น