ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองของปากีสถานกำลังเป็นที่น่าวิตก เกิดการระเบิดสังหารผู้นำการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรี “บุตโต” ที่เพิ่งจะเดินทางกลับเข้าประเทศไม่กี่เดือน หลังจากลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศกว่า 8 ปี เหตุบ้านการเมืองของไทยในวันนี้ ก็ไม่สู้ว่าจะไว้วางใจได้มากนัก
ผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ภายใต้การจัดการดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ว่าจะพึงพอใจหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่สังคมต้องยอมรับ บนเงื่อนไขความถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าจะไม่เห็นด้วยหรือจะโต้แย้ง ก็ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย
แม้ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่คำตอบว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ควรจะเป็นประตูไปสู่การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เดินต่อไปได้ เพื่อให้องคาพยพของอำนาจอธิปไตยดำเนินต่อไปโดยดี ก้าวข้ามความรุนแรงในสังคมนอกกระบวนการยุติธรรม
หลังการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคพลังประชาชนกำลังพยายามดึงดูดพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่า พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน อันเป็นพรรคการเมืองตัวแปร 2 พรรค คาดว่าจะมีจำนวนเสียง ส.ส.อยู่ในมือกว่า 60 เสียง ได้ตกลงจับมือกัน และยื่นข้อเสนอเป็นเงื่อนไขไปยังพรรคพลังประชาชน ว่าพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินจะเข้าร่วมกับจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคใด ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำยอมรับเงื่อนไข 5 ข้อ
ปรากฏการณ์นี้ มีข้อน่าสังเกตที่ควรอ่านระหว่างบรรทัด ดังต่อไปนี้
1) เหตุใด พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่มีแกนนำระดับนายบรรหาร ศิลอาชา นายสุรเกียรติ เสถียรไทย นายสุวิทย์ คุณกิตติ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ นายวัฒนา อัศวเหม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ นายพินิจ จารุสมบัติ นายสุชาติ ตันเจริญ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ฯลฯ ล้วนเป็น “คนวงในทางการเมือง” จึงต้องตั้งเงื่อนไขข้อที่ 1 ว่า “จะต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ จะล่วงละเมิดมิได้ และจะต้องทำความกระจ่างให้ชัดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่สูงสุด”
สะท้อนว่า ที่ผ่านมา คนเหล่านี้ เห็นว่า มีพรรคการเมืองหรือกระบวนการทางการเมืองที่มิได้กระทำในสิ่งที่ควรทำเช่นนั้น ใช่หรือไม่ ? และยังมิได้มีการทำให้เกิดความกระจ่างชัด ใช่หรือไม่ ?
เพราะถ้าไม่เช่นนั้น ก็คงจะไม่ต้องมาตั้งเป็นเงื่อนไข และทำไมต้องมาตั้งเงื่อนไขกับพรรคพลังประชาชน ซึ่งคาดว่าจะมี ส.ส.มากกว่าพรรคอื่นๆ ?
น่าคิดว่า เงื่อนไขนี้ เป็นเหตุเดียวกันที่ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช ต้องมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน หรือเป็นเหตุให้ต้องประกาศตัวเป็นนอมินีของทักษิณ หรือเป็นเหตุที่ทำให้คนที่เคยอยู่ในพรรคไทยรักไทยจำนวนหนึ่งเดินออกมาจากพรรคไทยรักไทย หรือไม่ ?
น่าจะกำหนดเสียด้วยว่า จะมีวิธีการทำให้เกิดความกระจ่างหรือมีวิธีพิสูจน์ได้อย่างไร ? และจะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้อย่างแท้จริง ? อะไรคือบทพิสูจน์ ?
2) การตั้งเงื่อนไขข้อ 2 ที่ว่า “ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีถือเป็นรัฐบุรุษที่สูงสุดในบรรดาผู้คนทั้งหลายและเป็นที่เคารพของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งตรงนี้เราต้องรักษาไว้ และเราจะต้องไม่ก้าวล่วง” นั้น จะมีรูปธรรม และมีเจตนาหรือเป้าหมายที่แท้จริงอย่างไร
จะมิให้มีการก้าวล่วงแค่ตัวพลเอกเปรม หรือจะมิให้มีการก้าวล่วงในสิ่งดีๆ ที่พลเอกเปรมพยายามจะกระทำเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เพื่อบ้านเพื่อเมือง โดยเฉพาะในช่วงปลายสมัยของระบอบทักษิณ
ผู้ที่เคยบอกว่า จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่นับถือมานาน 30 ปี ต้องผิดหวัง แต่การกำหนดเงื่อนไขนี้ขึ้นมาจะเป็นเพียงเพื่อช่วยให้ผู้นั้นรู้สึกผิดน้อยลง หรือเป็นข้ออ้างในการกลืนน้ำลายตัวเอง หรือว่าต้องการจะสนับสนุนผู้ใหญ่ที่นับถือมานาน 30 ปี ให้สามารถบรรลุสิ่งที่ต้องการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง?
การไม่ให้ก้าวล่วงพลเอกเปรม จึงไม่ควรตีความเพียงว่า ห้ามด่าหรือห้ามแสดงการดูถูกดูหมิ่นในตัวพลเอกเปรมเท่านั้น แต่ควรจะต้องยึดถือเอาสิ่งที่เป็นเป้าหมายหรือเจตนารมณ์ในการกระทำ ในช่วงที่ผ่านมาของพลเอกเปรมเป็นหลักหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องที่ท่านทำเพื่อปกป้องสถาบัน ปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน
ถ้าไม่ใช่ เงื่อนไขนี้ก็เป็นเพียงการบิดเบือนประเด็น ปลอบใจหรือติดสินบนพลเอกเปรม เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง หาใช่เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน
3) เงื่อนไขข้อ 3 ที่ว่า “จะต้องไม่มีการล้างแค้นซึ่งกันและกันในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นควรจะลืมเพราะหากมีการล้างแค้นเกิดขึ้นแล้วก็จะเกิดการล้างแค้นไม่สิ้นสุดและไม่สามารถหาข้อยุติได้”
น่าสงสัยว่า ในทางปฏิบัติจริง จะพิจารณาอย่างไร หรือจะมีหลักประกันอย่างไรว่าจะไม่มีการล้างแค้น เพราะฝ่ายที่มีอำนาจย่อมจะอ้างว่าไม่ได้ล้างแค้น แต่มักจะแทงข้างหลังให้ดู “เนียน” ทำไปตามน้ำ ตามจังหวะ แต่งตั้งโยกย้ายไปตามที่อ้างว่าเหมาะสม
4) เงื่อนไขข้อ 4 ที่ว่า “ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะต้องเดินทางเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยต้องไม่มีการแทรกแซงและก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม”
เช่นเดียวกับข้อ 3 เพราะไม่มีหลักประกันหรือข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า จะกระทำตามนั้น เนื่องจากในความเป็นจริง พ.ต.ท.ทักษิณ หรือพรรคพวก ย่อมจะปฏิเสธว่าไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่ในทางการเมือง การใช้อำนาจ หรือในทางพฤติกรรม ย่อมมีวิธีดำเนินการอื่นใดในทางลับ ที่มีผลเป็นการกดดัน ก้าวก่าย ครอบงำ ชี้นำ ชักจูง จูงใจ หรือทำให้มีผลกระทบในประการใดๆ ต่อกระบวนการยุติธรรมมาแล้วในอดีต มิใช่หรือ
ถ้านึกไม่ออก ก็ให้กลับไปดูกระบวนการติดสินบนในคดีซุกหุ้นภาค 1 ของทักษิณ
5) เงื่อนไขข้อ 5 ที่ว่า “ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) จะต้องไม่ยุบ ไม่ยกเลิก และต้องไม่ไปแตะต้อง”
แม้จะทำตามเงื่อนไขข้อนี้ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า การทำงานของ คตส. จะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในความเป็นจริง แม้ไม่มีการแทรกแซง คตส.โดยตรง แต่อาจจะมีการสั่งการ กดดันข้าราชการในกระทรวงทบวงกรม ไม่ให้ความร่วมมือต่อการทำงานของ คตส. เช่น การปกปิดหลักฐาน ไม่ยอมเป็นพยาน ไม่ชี้แจง ฯลฯ เพราะที่ผ่านมา คตส.ก็ทำงานอย่างยากลำบากอยู่แล้ว จะให้หน่วยราชการแปลเอกสารคดีซีทีเอ็กส์ก็ล่าช้า เรียกหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำผิดก็ไม่ได้รับความร่วมมือ เป็นต้น
แม้รัฐบาลชุดใหม่ ไม่ได้แทรกแซง คตส. โดยตรง เพียงแต่เข้าเกียร์ว่าง หรือเกียร์ถอยหลังต่อการทำงานดังกล่าวของ คตส. โดยเฉพาะถ้าหากผู้เข้ามามีอำนาจเป็นพรรคพวกกับผู้ที่กำลังถูก คตส. ตรวจสอบอยู่ ข้าราชการย่อมเกรงใจ เกรงกลัว ในที่สุด คตส. ก็ทำงานไม่ได้ จนหมดอายุขัยไปเอง
6) น่าสังเกตว่า เงื่อนไข 5 ข้อ ที่นายบรรหารบอกให้พรรคพลังประชาชนนำไปปรึกษา “ผู้ที่อยู่แดนไกล” นั้น ไม่พูดถึงการจะไม่นิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน
น่าคิดว่า เงื่อนไขทั้ง 5 ข้อนี้ ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่สามารถพลิกพลิ้วได้อย่างง่ายดายในภายหลัง เพราะไม่มีหลักประกัน ไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน จึงไม่แปลกใจ หากพรรคพลังประชาชนจะออกมาตอบรับอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่สมอ้างว่า จะทำอย่างนั้นอยู่แล้ว หรือคิดเอาไว้อยู่แล้ว
น่าสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้ว เงื่อนไข 5 ข้อ จะเป็นเพียง “บันไดลง” หรือ เป็น “สะพาน” เพื่อให้พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน เดินข้ามหัวผู้ใหญ่ของบ้านเมืองและประชาชนผู้ต่อสู้กับระบอบทักษิณ เพื่อเข้าไปร่วมลงเรือผลประโยชน์ลำใหม่ ภายใต้การนำของ “นายกนอมินีของคนเดิม” เท่านั้นเอง ใช่หรือไม่ ?
หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่าเป็นห่วงว่า อนาคตสถานการณ์บ้านเมืองของไทย จะเดินต่อไปในรูปรอยใด จะมีทางออกหรือไม่ ? จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้หรือไม่ ?
7) ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ประเมินไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า หลังการเลือกตั้งยังมองไม่เห็นทางออกของบ้านเมืองที่จะไม่เกิดความรุนแรง เพราะประชาชนถูกปลุกปั่นขึ้นมามาก ปัญหาความขัดแย้งยังไม่มีข้อยุติ ไม่เกิน 6 เดือน อาจจะเกิดความรุนแรงในบ้านเมือง เลือดตกยางออก รุนแรงกว่า 6 ตุลา 2519 หรือพฤษภาทมิฬ และอาจจะมีคนคิดใช้วิธีลอบสังหารผู้นำ
8) ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักสันติวิธี วิเคราะห์ว่า การจะเกิดหรือไม่เกิดความรุนแรงในสังคมใด ในสถานการณ์ใด หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า
หนึ่ง สังคมนั้นเคยมีความรุนแรงหรือไม่? พบว่า สังคมไทยเคยมีความรุนแรงในเหตุการณ์หลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, 17-19 พฤษภาคม 35 แม้กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ในการประท้วงที่หน้าบ้านพลเอกเปรม นอกจากนี้ ในอดีต ยังมีการสังหารตัวบุคคล เช่น การฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี คือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล การรัดคอฆ่าแล้วเผานายเตียง ศิริขันธ์ กับพวกรวม 5 คน การฆ่าผู้นำมุสลิม หะยีสุหลง การลอบยิงจอมพลแปลก พิบูลสงคราม การพยยามลอบสังหารพลเอกเปรม เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การอุ้มฆ่าในสงครามยาเสพติด การอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร ฯลฯ
สอง สังคมไทยมีความขัดแย้ง และความขัดแย้งรุนแรงระดับไหน ? พบว่า ความขัดแย้งในสังคมเวลานี้ รุนแรงมาก และกว้างขวางมาก ตั้งแต่คนระดับสูงกับคนระดับล่าง คนในเมืองและคนในชนบท คนในกลุ่มอาชีพต่างๆ กัน กลุ่มผลประโยชน์ต่างกัน หรือแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันก็ยังขัดแย้งกันได้
และสาม คนในสังคมมองเห็นทางออก ทางเลือกอื่น หรือไม่ ?
คำถามนี้สำคัญมาก และควรต้องพยายามหาคำตอบ เพื่อให้เห็นทางออกที่ปราศจากความรุนแรง
ดร.ชัยวัฒน์ แนะขั้นตอนและวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดสมานฉันท์ โดยต้องอาศัย
(1) ความจริง คือ การทำความจริงให้ปรากฏ ทำให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ความจริง
(2) ความยุติธรรม คือ ยุติปัญหาอย่างเป็นธรรม บนพื้นฐานความจริงข้อแรก
(3) ความรับผิด คือ ถ้ามีการกระทำผิด ก็จะต้องมีผู้รับผิด มีการลงโทษและเยียวยา ทั้งฝ่ายที่เสียหายและฝ่ายที่สูญเสีย
(4) การให้อภัย คือ การไม่ล้างแค้น ไม่จองล้างจองผลาญ เลิกแล้วต่อกัน หลังจากผ่านขั้นที่ 1 2 และ 3
(5) คนไทย โดยเฉพาะผู้นำ ควรจะต้องจินตนาการถึงสังคมไทยในอนาคตที่พึงปราถนา ใน 10-20 ปี แล้วกลับมามองปัจจุบันว่า ควรจะทำหรือไม่ทำอะไร
แนวทางดังกล่าว อาจเป็นสิ่งที่นำพาบ้านเมืองออกจากความขัดแย้งโดยปราศจากความรุนแรง
แต่น่าคิดว่า เงื่อนไข 5 ข้อของพรรคชาติไทยและเพื่อแผ่นดินนั้น ได้ตอบโจทย์ที่จะทำให้บ้านเมืองก้าวข้ามความรุนแรงไปได้หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่
ยังไม่ทันได้ “ความจริง-ความยุติธรรม-ความรับผิด” เลย กลับจะยอมรับการ “นิรโทษกรรม” เสียแล้ว
ดังนี้แล้ว แม้สภาพสังคมและปัญหาในปากีสถานกับประเทศไทยจะมีความแตกต่างกัน แต่ถ้าการแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเรายังเดินไม่ถูกทาง ก็เสี่ยงว่าจะเกิดความรุนแรงอย่างนางเบนีเซีย บุตโต ได้เหมือนกัน
อย่าให้เงื่อนไข 5 ข้อนั้น เป็นเพียงสะพานเชื่อมเพื่อผลประโยชน์การเมืองส่วนตัว และกลายเป็นสะพานทอดให้ประเทศไทยเดินเข้าไปสู่สถานการณ์เหมือนปากีสถาน
ผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ภายใต้การจัดการดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ว่าจะพึงพอใจหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่สังคมต้องยอมรับ บนเงื่อนไขความถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าจะไม่เห็นด้วยหรือจะโต้แย้ง ก็ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย
แม้ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่คำตอบว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ควรจะเป็นประตูไปสู่การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เดินต่อไปได้ เพื่อให้องคาพยพของอำนาจอธิปไตยดำเนินต่อไปโดยดี ก้าวข้ามความรุนแรงในสังคมนอกกระบวนการยุติธรรม
หลังการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคพลังประชาชนกำลังพยายามดึงดูดพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่า พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน อันเป็นพรรคการเมืองตัวแปร 2 พรรค คาดว่าจะมีจำนวนเสียง ส.ส.อยู่ในมือกว่า 60 เสียง ได้ตกลงจับมือกัน และยื่นข้อเสนอเป็นเงื่อนไขไปยังพรรคพลังประชาชน ว่าพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินจะเข้าร่วมกับจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคใด ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำยอมรับเงื่อนไข 5 ข้อ
ปรากฏการณ์นี้ มีข้อน่าสังเกตที่ควรอ่านระหว่างบรรทัด ดังต่อไปนี้
1) เหตุใด พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่มีแกนนำระดับนายบรรหาร ศิลอาชา นายสุรเกียรติ เสถียรไทย นายสุวิทย์ คุณกิตติ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ นายวัฒนา อัศวเหม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ นายพินิจ จารุสมบัติ นายสุชาติ ตันเจริญ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ฯลฯ ล้วนเป็น “คนวงในทางการเมือง” จึงต้องตั้งเงื่อนไขข้อที่ 1 ว่า “จะต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ จะล่วงละเมิดมิได้ และจะต้องทำความกระจ่างให้ชัดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่สูงสุด”
สะท้อนว่า ที่ผ่านมา คนเหล่านี้ เห็นว่า มีพรรคการเมืองหรือกระบวนการทางการเมืองที่มิได้กระทำในสิ่งที่ควรทำเช่นนั้น ใช่หรือไม่ ? และยังมิได้มีการทำให้เกิดความกระจ่างชัด ใช่หรือไม่ ?
เพราะถ้าไม่เช่นนั้น ก็คงจะไม่ต้องมาตั้งเป็นเงื่อนไข และทำไมต้องมาตั้งเงื่อนไขกับพรรคพลังประชาชน ซึ่งคาดว่าจะมี ส.ส.มากกว่าพรรคอื่นๆ ?
น่าคิดว่า เงื่อนไขนี้ เป็นเหตุเดียวกันที่ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช ต้องมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน หรือเป็นเหตุให้ต้องประกาศตัวเป็นนอมินีของทักษิณ หรือเป็นเหตุที่ทำให้คนที่เคยอยู่ในพรรคไทยรักไทยจำนวนหนึ่งเดินออกมาจากพรรคไทยรักไทย หรือไม่ ?
น่าจะกำหนดเสียด้วยว่า จะมีวิธีการทำให้เกิดความกระจ่างหรือมีวิธีพิสูจน์ได้อย่างไร ? และจะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้อย่างแท้จริง ? อะไรคือบทพิสูจน์ ?
2) การตั้งเงื่อนไขข้อ 2 ที่ว่า “ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีถือเป็นรัฐบุรุษที่สูงสุดในบรรดาผู้คนทั้งหลายและเป็นที่เคารพของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งตรงนี้เราต้องรักษาไว้ และเราจะต้องไม่ก้าวล่วง” นั้น จะมีรูปธรรม และมีเจตนาหรือเป้าหมายที่แท้จริงอย่างไร
จะมิให้มีการก้าวล่วงแค่ตัวพลเอกเปรม หรือจะมิให้มีการก้าวล่วงในสิ่งดีๆ ที่พลเอกเปรมพยายามจะกระทำเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เพื่อบ้านเพื่อเมือง โดยเฉพาะในช่วงปลายสมัยของระบอบทักษิณ
ผู้ที่เคยบอกว่า จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่นับถือมานาน 30 ปี ต้องผิดหวัง แต่การกำหนดเงื่อนไขนี้ขึ้นมาจะเป็นเพียงเพื่อช่วยให้ผู้นั้นรู้สึกผิดน้อยลง หรือเป็นข้ออ้างในการกลืนน้ำลายตัวเอง หรือว่าต้องการจะสนับสนุนผู้ใหญ่ที่นับถือมานาน 30 ปี ให้สามารถบรรลุสิ่งที่ต้องการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง?
การไม่ให้ก้าวล่วงพลเอกเปรม จึงไม่ควรตีความเพียงว่า ห้ามด่าหรือห้ามแสดงการดูถูกดูหมิ่นในตัวพลเอกเปรมเท่านั้น แต่ควรจะต้องยึดถือเอาสิ่งที่เป็นเป้าหมายหรือเจตนารมณ์ในการกระทำ ในช่วงที่ผ่านมาของพลเอกเปรมเป็นหลักหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องที่ท่านทำเพื่อปกป้องสถาบัน ปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน
ถ้าไม่ใช่ เงื่อนไขนี้ก็เป็นเพียงการบิดเบือนประเด็น ปลอบใจหรือติดสินบนพลเอกเปรม เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง หาใช่เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน
3) เงื่อนไขข้อ 3 ที่ว่า “จะต้องไม่มีการล้างแค้นซึ่งกันและกันในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นควรจะลืมเพราะหากมีการล้างแค้นเกิดขึ้นแล้วก็จะเกิดการล้างแค้นไม่สิ้นสุดและไม่สามารถหาข้อยุติได้”
น่าสงสัยว่า ในทางปฏิบัติจริง จะพิจารณาอย่างไร หรือจะมีหลักประกันอย่างไรว่าจะไม่มีการล้างแค้น เพราะฝ่ายที่มีอำนาจย่อมจะอ้างว่าไม่ได้ล้างแค้น แต่มักจะแทงข้างหลังให้ดู “เนียน” ทำไปตามน้ำ ตามจังหวะ แต่งตั้งโยกย้ายไปตามที่อ้างว่าเหมาะสม
4) เงื่อนไขข้อ 4 ที่ว่า “ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะต้องเดินทางเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยต้องไม่มีการแทรกแซงและก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม”
เช่นเดียวกับข้อ 3 เพราะไม่มีหลักประกันหรือข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า จะกระทำตามนั้น เนื่องจากในความเป็นจริง พ.ต.ท.ทักษิณ หรือพรรคพวก ย่อมจะปฏิเสธว่าไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่ในทางการเมือง การใช้อำนาจ หรือในทางพฤติกรรม ย่อมมีวิธีดำเนินการอื่นใดในทางลับ ที่มีผลเป็นการกดดัน ก้าวก่าย ครอบงำ ชี้นำ ชักจูง จูงใจ หรือทำให้มีผลกระทบในประการใดๆ ต่อกระบวนการยุติธรรมมาแล้วในอดีต มิใช่หรือ
ถ้านึกไม่ออก ก็ให้กลับไปดูกระบวนการติดสินบนในคดีซุกหุ้นภาค 1 ของทักษิณ
5) เงื่อนไขข้อ 5 ที่ว่า “ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) จะต้องไม่ยุบ ไม่ยกเลิก และต้องไม่ไปแตะต้อง”
แม้จะทำตามเงื่อนไขข้อนี้ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า การทำงานของ คตส. จะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในความเป็นจริง แม้ไม่มีการแทรกแซง คตส.โดยตรง แต่อาจจะมีการสั่งการ กดดันข้าราชการในกระทรวงทบวงกรม ไม่ให้ความร่วมมือต่อการทำงานของ คตส. เช่น การปกปิดหลักฐาน ไม่ยอมเป็นพยาน ไม่ชี้แจง ฯลฯ เพราะที่ผ่านมา คตส.ก็ทำงานอย่างยากลำบากอยู่แล้ว จะให้หน่วยราชการแปลเอกสารคดีซีทีเอ็กส์ก็ล่าช้า เรียกหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำผิดก็ไม่ได้รับความร่วมมือ เป็นต้น
แม้รัฐบาลชุดใหม่ ไม่ได้แทรกแซง คตส. โดยตรง เพียงแต่เข้าเกียร์ว่าง หรือเกียร์ถอยหลังต่อการทำงานดังกล่าวของ คตส. โดยเฉพาะถ้าหากผู้เข้ามามีอำนาจเป็นพรรคพวกกับผู้ที่กำลังถูก คตส. ตรวจสอบอยู่ ข้าราชการย่อมเกรงใจ เกรงกลัว ในที่สุด คตส. ก็ทำงานไม่ได้ จนหมดอายุขัยไปเอง
6) น่าสังเกตว่า เงื่อนไข 5 ข้อ ที่นายบรรหารบอกให้พรรคพลังประชาชนนำไปปรึกษา “ผู้ที่อยู่แดนไกล” นั้น ไม่พูดถึงการจะไม่นิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน
น่าคิดว่า เงื่อนไขทั้ง 5 ข้อนี้ ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่สามารถพลิกพลิ้วได้อย่างง่ายดายในภายหลัง เพราะไม่มีหลักประกัน ไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน จึงไม่แปลกใจ หากพรรคพลังประชาชนจะออกมาตอบรับอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่สมอ้างว่า จะทำอย่างนั้นอยู่แล้ว หรือคิดเอาไว้อยู่แล้ว
น่าสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้ว เงื่อนไข 5 ข้อ จะเป็นเพียง “บันไดลง” หรือ เป็น “สะพาน” เพื่อให้พรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน เดินข้ามหัวผู้ใหญ่ของบ้านเมืองและประชาชนผู้ต่อสู้กับระบอบทักษิณ เพื่อเข้าไปร่วมลงเรือผลประโยชน์ลำใหม่ ภายใต้การนำของ “นายกนอมินีของคนเดิม” เท่านั้นเอง ใช่หรือไม่ ?
หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่าเป็นห่วงว่า อนาคตสถานการณ์บ้านเมืองของไทย จะเดินต่อไปในรูปรอยใด จะมีทางออกหรือไม่ ? จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้หรือไม่ ?
7) ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ประเมินไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า หลังการเลือกตั้งยังมองไม่เห็นทางออกของบ้านเมืองที่จะไม่เกิดความรุนแรง เพราะประชาชนถูกปลุกปั่นขึ้นมามาก ปัญหาความขัดแย้งยังไม่มีข้อยุติ ไม่เกิน 6 เดือน อาจจะเกิดความรุนแรงในบ้านเมือง เลือดตกยางออก รุนแรงกว่า 6 ตุลา 2519 หรือพฤษภาทมิฬ และอาจจะมีคนคิดใช้วิธีลอบสังหารผู้นำ
8) ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักสันติวิธี วิเคราะห์ว่า การจะเกิดหรือไม่เกิดความรุนแรงในสังคมใด ในสถานการณ์ใด หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า
หนึ่ง สังคมนั้นเคยมีความรุนแรงหรือไม่? พบว่า สังคมไทยเคยมีความรุนแรงในเหตุการณ์หลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, 17-19 พฤษภาคม 35 แม้กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ในการประท้วงที่หน้าบ้านพลเอกเปรม นอกจากนี้ ในอดีต ยังมีการสังหารตัวบุคคล เช่น การฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี คือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล การรัดคอฆ่าแล้วเผานายเตียง ศิริขันธ์ กับพวกรวม 5 คน การฆ่าผู้นำมุสลิม หะยีสุหลง การลอบยิงจอมพลแปลก พิบูลสงคราม การพยยามลอบสังหารพลเอกเปรม เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การอุ้มฆ่าในสงครามยาเสพติด การอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร ฯลฯ
สอง สังคมไทยมีความขัดแย้ง และความขัดแย้งรุนแรงระดับไหน ? พบว่า ความขัดแย้งในสังคมเวลานี้ รุนแรงมาก และกว้างขวางมาก ตั้งแต่คนระดับสูงกับคนระดับล่าง คนในเมืองและคนในชนบท คนในกลุ่มอาชีพต่างๆ กัน กลุ่มผลประโยชน์ต่างกัน หรือแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันก็ยังขัดแย้งกันได้
และสาม คนในสังคมมองเห็นทางออก ทางเลือกอื่น หรือไม่ ?
คำถามนี้สำคัญมาก และควรต้องพยายามหาคำตอบ เพื่อให้เห็นทางออกที่ปราศจากความรุนแรง
ดร.ชัยวัฒน์ แนะขั้นตอนและวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดสมานฉันท์ โดยต้องอาศัย
(1) ความจริง คือ การทำความจริงให้ปรากฏ ทำให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ความจริง
(2) ความยุติธรรม คือ ยุติปัญหาอย่างเป็นธรรม บนพื้นฐานความจริงข้อแรก
(3) ความรับผิด คือ ถ้ามีการกระทำผิด ก็จะต้องมีผู้รับผิด มีการลงโทษและเยียวยา ทั้งฝ่ายที่เสียหายและฝ่ายที่สูญเสีย
(4) การให้อภัย คือ การไม่ล้างแค้น ไม่จองล้างจองผลาญ เลิกแล้วต่อกัน หลังจากผ่านขั้นที่ 1 2 และ 3
(5) คนไทย โดยเฉพาะผู้นำ ควรจะต้องจินตนาการถึงสังคมไทยในอนาคตที่พึงปราถนา ใน 10-20 ปี แล้วกลับมามองปัจจุบันว่า ควรจะทำหรือไม่ทำอะไร
แนวทางดังกล่าว อาจเป็นสิ่งที่นำพาบ้านเมืองออกจากความขัดแย้งโดยปราศจากความรุนแรง
แต่น่าคิดว่า เงื่อนไข 5 ข้อของพรรคชาติไทยและเพื่อแผ่นดินนั้น ได้ตอบโจทย์ที่จะทำให้บ้านเมืองก้าวข้ามความรุนแรงไปได้หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่
ยังไม่ทันได้ “ความจริง-ความยุติธรรม-ความรับผิด” เลย กลับจะยอมรับการ “นิรโทษกรรม” เสียแล้ว
ดังนี้แล้ว แม้สภาพสังคมและปัญหาในปากีสถานกับประเทศไทยจะมีความแตกต่างกัน แต่ถ้าการแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเรายังเดินไม่ถูกทาง ก็เสี่ยงว่าจะเกิดความรุนแรงอย่างนางเบนีเซีย บุตโต ได้เหมือนกัน
อย่าให้เงื่อนไข 5 ข้อนั้น เป็นเพียงสะพานเชื่อมเพื่อผลประโยชน์การเมืองส่วนตัว และกลายเป็นสะพานทอดให้ประเทศไทยเดินเข้าไปสู่สถานการณ์เหมือนปากีสถาน