xs
xsm
sm
md
lg

25 ปี อีสเทิร์นซีบอร์ดกับชะตากรรมของคนตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เต็มพื้นที่หมดแล้ว จนต้องมีการขยายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ข่าวศรีราชา

25 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี และระยอง ที่กลายสภาพเป็นเมืองอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ศูนย์กลางการขนส่งทั้งทางน้ำ และทางบกนั้น เป็นผลมาจากโครงการพัฒนา พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด

แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ระยะ ที่ 1 เริ่มตั้งแต่ปี 2525 ภายใต้นโยบายการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ที่มุ่งเน้นพัฒนาภาคตะวัน ออก เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมจากส่วนกลาง และการย้ายฐาน การผลิตเข้ามาของอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในเขต 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

จังหวัดระยอง ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญ ที่มีทั้งอุตสาหกรรมหนัก เช่น ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเบา และอุตสาหกรรมเครือข่าย เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเม็ดพลาสติก อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับการแปรรูปผลไม้ เพื่อการส่งออก

ขณะที่จังหวัดชลบุรีถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง มีกำหนดเปิดบริการในปี 2534 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางน้ำ และการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมทั้งนำเข้า และส่งออก ตามแผนการผลักดันให้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ทั้งทางน้ำทางบก และทางอากาศ โดยทางอากาศนั้น มีสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งตั้งอยู่ตรงรอยต่อจังหวัดชลบุรี และระยอง เป็นจุดศูนย์กลาง นอกจากนี้ได้กำหนดให้ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลากหลาย ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก มีเพียงจันทบุรี และตราด ที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมน้อยที่สุด

เศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว หลังจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเกิดขึ้น เพราะปัจจัย จากหลายๆด้าน ทั้งจากระบบขนส่งทั้งทางบก และทางน้ำ ในช่วงของการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณพัฒนาถนนหนทางสายต่างๆ ที่มุ่งสู่ภาคตะวันออก ทั้งการตัดถนนใหม่ และขยายถนนเดิม โครงการสำคัญ เช่น มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี ที่อำนวยความสะดวกให้แก่การเดินทาง-ขนส่งมายังภาคตะวันออก รวมทั้งท่าเรือแหลมฉบัง และสนานบินสุวรรณภูมิ

การหลั่งไหลเข้ามายังภาคตะวันออกของโรงงานอุตสาหกรรมประเภท ต่างๆ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2533-2534 ในครั้งนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่เข้ามาเป็นกลุ่มแรกคือ โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของกลุ่มทีพีไอ ตาม ด้วยโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กของสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง และกลุ่มผาแดงอินดัสทรี

การขยายตัวสูงสุดของอุตสาหกรรมในอีสเทิร์นซีบอร์ด เกิดขึ้นในปี 2535 เมื่อเริ่มมีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามา ผลที่ตามมาคือ การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับนักลงทุน จนปัจจุบันภาคตะวันออกถือเป็นภาค ที่มีนิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดถึง 28 แห่ง จังหวัดระยองมีมากที่สุด รองลงมาคือ ชลบุรี และปราจีนบุรี
ปัญหามลพิษทั้งน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ ล้วนเกิดขึ้นจากความมักง่ายของผู้ประกอบการ ทำให้คนภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจ.ระยอง ต้องเจ็บป่วยจำนวนมาก
ขณะที่การท่องเที่ยวเติบโตขึ้นมาควบคู่กับอุตสาหกรรมสมัยใหม่อย่างเด่นชัด หลังจากการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักภาคตะวันออกมากขึ้น การพัฒนาเส้นทางคมนาคมสู่ภาคตะวันออกมีมากขึ้น การเข้ามาของแรงงานต่างถิ่น และกลุ่มวิศวกร และแรงงานจากต่างชาติ การขยายตัวของอุตสาหกรรมการให้บริการ และการท่องเที่ยวได้ขยายตัวตามมา ทำให้ในปัจจุบันเมืองพัทยา มีห้องพักมาก 5 หมื่นกว่าห้อง ซึ่งมีทั้งโรงแรมที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย กว่า500 แห่ง

แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่กำหนดให้พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นอุตสาหกรรมหลัก และประตูเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ที่จะช่วยรองรับการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม และลดความแออัดของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้ภูมิภาคตะวันออกเป็น "เศรษฐกิจด่านหน้า" ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถเปิดออกสู่การค้ากับนานาชาติโดยตรง

การพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในพื้นที่ ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกทั้งด้านโครงสร้างการผลิต การจ้างงาน และการ ขยายตัวของชุมชนเมือง ซึ่งเริ่มเข้าสู่พื้นที่ตอนในของภาค ซึ่งตามแผนที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งดำเนินการพัฒนาโครงข่ายบริการพื้นฐาน เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟ จากพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเข้าสู่นานาชาติ เช่น

การพัฒนาสนามบินนานาชาติ (สุวรรณภูมิ) การเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟ จากพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเข้าสู่ลาว และกัมพูชา ตลอดจนริเริ่มโครงการระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กับพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งระบบโครงข่าย บริการพื้นฐานดังกล่าวล้วนแต่จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมือง และการเติบโตของระบบชุมชนเมือง

หลังจากการพัฒนาตามแผนอีสเทิร์นซีบอร์ดระยะที่ 1 เริ่มเต็มรูปแบบ ได้มีการร่างแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 2 ซึ่งได้ข้อสรุปในปี 2541 โดยกำหนด โจทย์ หลัก 3 ข้อ คือ 1. แผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดระยะ 2 จะต้องมุ่งเน้น ที่ การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้น จากแผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ฉบับแรก 2. แผนพัฒนาดังกล่าวจะต้องเป็นแผนพัฒนาในระยะยาว ที่กำหนดกลยุทธ์ในการเปิดประตูการค้าสู่อินโดจีน และ 3. แผนพัฒนาระยะ ที่ 2 จะ ต้องถูกกำหนดภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด และให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน

สาระสำคัญของแผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 คือ การยึดเอาบทเรียนที่เกิดจากแผนพัฒนาระยะแรก เป็นหลักในการหาแนวทางแก้ไขไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแผนแรกไม่ได้กำหนดมาตรการควบคุมโรงงาน อย่างเด็ดขาด อีกทั้งปัญหาการใช้ที่ดิน ที่ไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดได้ เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจจนเกิดการปั่นราคาของนักลงทุน ขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างความสนใจในการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาในพื้นที่นี้มาก ขึ้น

นอกจากนั้น ในแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกระยะที่ 2 ยังกำหนดแผนแม่บทการใช้ ที่ดิน สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ตอน คือ พื้นที่ตอนเหนือครอบคลุม อำเภอแปลงยาว อำเภอสนามชัยเขตในจังหวัดฉะเชิงเทรา และตอนเหนือ ของอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ถึงแม้ว่าเขตอุตสาหกรรมตอนเหนือจะอยู่ภายในพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก แต่เป็นเขตที่มีการเติบโตน้อยที่สุด การส่งเสริมการลงทุนจะเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตเทียบเท่าพื้นที่อุตสาหกรรมทางตอนใต้ และตอนกลาง

สำหรับพื้นที่ตอนกลาง ครอบคลุมอำเภอปลวกแดงในจังหวัดระยอง และบางส่วนของอำเภอบ้านบึง และศรีราชาในจังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมที่ต้องการการนำเข้า-ส่งออก เพราะสามารถเข้าถึงท่าเรือแหลมฉบังได้รวดเร็ว

ส่วนพื้นที่ตอนใต้ ที่ครอบคลุมตอนใต้ของอ่างเก็บ น้ำดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่รวมทั้งอำเภอเมือง อำเภอบ้านฉาง และอำเภอบ้านค่าย ในจังหวัดระยอง ประเด็น ที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนา คือ การแข่งขันในการใช้ประโยชน์ ที่ดิน เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และชุมชนเมืองรวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ ความขัดแย้งนี้จะต้องหลีกเลี่ยง และต้องมีการกัน ที่ดิน สำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

นอกจากนั้น ยังจะผลักดันให้อุตสาหกรรมใหม่ แยกประเภท และอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดขนาดของอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาในพื้นที่ ขณะเดียวกันการควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรม ที่เข้ามาในพื้นที่ ยังจะถูกควบคุมโดยประชาชนในพื้นที่ ที่ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วน ตำบล (อบ ต.) ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ในรูปของไตรภาคี ที่ประกอบด้วย หน่วยงานเอกชน หน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้าน ซึ่งจะกำกับดูแลเขตกันชน (BUFFER ZONE) ระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน ควบคุมดูแลให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ภายใต้กลไกสำคัญในการศึกษาของไตรภาคี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการนำนโยบายมาควบคุมเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นอีสเทิร์นซีบอร์ด ถึงกระนั้นปัญหาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือบรรเทาลง เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีอย่างต่อเนื่อง

การแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหานี้จะต้องมีการวางแผน ไว้ตั้งแต่เริ่มที่จะคิดพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ไม่ใช่พอมีปัญหาเพิ่งจะมาเริ่มแก้ไขกัน

จนปัจจุบันนี้ มาบตาพุดกลายเมืองมลพิษไปแล้ว และ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆนับจากเมื่อ 10 ปี่ที่ผ่านมา จนต้องมีการย้ายโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ออกไป ซึ่งเป็นผลพวงจากยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 (พ.ศ. 2547 -2561 ) ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

วันนี้ศักยภาพการรองรับมลพิษทางอากาศถึงขีดสุด น้ำทิ้งที่ปล่อยจากนิคมอุตสาหกรรมละแวกนั้นก็เกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งคุณภาพชีวิตของชาวบ้านเลวร้ายลงเรื่อยๆ กระทั่งพบว่า อัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของชาวเมืองระยองสูงกว่าคนทั้งประเทศ

สุดท้ายมีการเสนอประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ควรจะเป็น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยื้อเวลาต่อไปอีก 1 ปี เนื่องจากหากมีการประกาศดังกล่าวขึ้นจะมีผู้ที่เสียผลประโยชน์กันหลายฝ่าย แต่ลืมคิดกันไปว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ผู้ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายมีความเห็นตรงกันว่า เรื่องสุขภาพและการเจ็บป่วยไข้นั้นรอต่อไปไม่ได้แล้วจริงๆ

ทางด้านชลบุรีก็ไม่น้อยหน้าชาวบ้านแหลมฉบังได้รับผลกระทบจากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโรงงานในนิคมอุตสาหรรมแหลมฉบัง ทั้งในเรื่องของกลิ่นเหม็นจากแก๊ส และน้ำมัน ลักลอบปล่อยน้ำเสีย ปลาตายเกลื่อนชายหาด รวมทั้งเรื่องของความไม่ปลอดภัย ที่เป็นข่าวครึกโครมจากความประมาทของพนักงานทำให้ถังน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ระเบิด จนประชาชนใกล้เคียงต้องอยู่อย่างหวาดผวา ล่าสุด ก็มีปัญหาเรื่องของกลิ่น จนชาวบ้านต้องออกมาร้องเรียน เพราะทนไม่ไหว ทุกพื้นที่ ยังคงมีปัญหาเรื่องของมลพิษอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ..

25 ปี ที่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนภาคตะวันออก ยังไม่มีใครออกมาสรุป หรือทบทวนอย่างจริงๆ จังๆ ว่าโครงการนี้ ได้สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือมีการสร้างงาน ตามที่คาดหวังไว้ ตั้งแต่แรกหรือไม่ "แผ่นดินตะวันออกขณะนี้ แทบไม่เหลือเค้าเดิม ของเมืองชายทะเลอันสวยงาม และบรรยากาศที่สงบสุขอีกต่อไป นอกจากความวุ่นวาย ที่เรียกว่า "บรรยากาศการลงทุน"
กำลังโหลดความคิดเห็น