การ์ทเนอร์เผยอีกไม่ถึง 2 ปี เทคโนโลยี Everyday AI และ Digital Employee Experience (DEX) จะถูกเอามาใช้เป็นกระแสหลัก โดยทั้ง 2 เทคโนโลยีนั้นมีความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน และเป็นนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใกล้ตัวเราที่สุด
แมตต์ เคน รองประธานฝ่ายวิจัยหลักการ์ทเนอร์ กล่าวถึงข้อมูลจากรายงาน Hype Cycle for Digital Workplace Applications ปี 2024 ของการ์ทเนอร์ ว่า การศึกษาพบว่าภายในไม่ถึง 2 ปีนับจากนี้ Everyday AI และ Digital Employee Experience (DEX) จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในกระแสหลัก ทำให้ปี 2567 ถือเป็นปีสำคัญของผู้นำแอปพลิเคชัน Digital Workplace เนื่องจากการให้ความสำคัญกับรูปแบบการทำงานไฮบริดและการทำงานจากระยะไกลนั้นลดลง ประกอบกับธุรกิจต่างมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยี Everyday AI เพิ่มขึ้น
“Everyday AI ช่วยกำจัดความยุ่งยากด้านดิจิทัลให้แก่พนักงานด้วยการช่วยงานเขียน การค้นคว้า การทำงานร่วมกันและคิดไอเดีย และยังเป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยี DEX ในความพยายามขจัดความยุ่งยากและเพิ่มความชำนาญด้านดิจิทัลให้พนักงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการพาองค์กรไปสู่ความก้าวหน้าจากนี้จนถึงปี 2573”
ภาวะนี้ทำให้ Everyday AI ถูกคาดหวังว่าจะมีการเติบโตสูงมากในตลาดเทคโนโลยีสำหรับ Digital Workplace Applications ในปี 2567 เนื่องจาก Everyday AI มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มประสิทธิผลการทำงานของพนักงาน
อาดัม พรีเซต รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า Everyday AI จะช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และมั่นใจ โดยเทคโนโลยีนี้สนับสนุนการทำงานในรูปแบบใหม่ ผ่านการใช้ซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่ทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมงานมากกว่าเพียงแค่เป็นเครื่องมือ ปัจจุบัน Digital Workplace กำลังเข้าสู่ยุคของการใช้ AI ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อผู้ขายเทคโนโลยีต่างพยายามหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ด้วยการพัฒนาฟีเจอร์และแอปพลิเคชันให้มีความสามารถมากขึ้น Everyday AI จึงไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ทางการตลาด เช่น เป็นเครื่องมือในการค้นหาและสังเคราะห์ข้อมูล ตอบคำถามได้อย่างครอบคลุม และช่วยสร้างสรรค์ผลงานศิลป์ได้ง่ายขึ้น
“Everyday AI จะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เปลี่ยนจากบริการที่ช่วยจัดเรียงและสรุปข้อความแชตหรืออีเมลไปสู่บริการที่ช่วยเขียนรายงานโดยป้อนคำสั่งเพียงเล็กน้อย ดังนั้น Everyday AI จึงเป็นอนาคตของการเพิ่มประสิทธิผลการทำงานให้พนักงานในหลากหลายด้าน”
ในอีกด้าน การ์ทเนอร์ยังชี้ว่า องค์กรควรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ DEX มากขึ้น เนื่องจากวันนี้พนักงานเกือบทั้งหมดกลายเป็นพนักงานดิจิทัล เนื่องจากใช้เวลาทำงานกับเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าที่เคย ดังนั้น องค์กรต้องมีกลยุทธ์ในการประเมินและพัฒนา DEX เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะความสามารถและสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานให้เกิดขึ้น ขณะที่ยังคงเพิ่มความผูกพันของการทำงานและทำให้พวกเขายังอยู่กับองค์กรต่อไป
การ์ทเนอร์อธิบายว่า ผู้นำธุรกิจกำลังมองหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิผลขององค์กรได้อย่างเหมาะสม DEX คือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการช่วยเพิ่มความชำนาญด้านดิจิทัล ดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะความสามารถพร้อมช่วยให้พนักงานบรรลุผลลัพธ์ทางธุรกิจได้
อย่างไรก็ตาม DEX กำลังอยู่ในช่วงขาลงในวงจรเทคโนโลยี ซึ่งหมายถึงกำลังได้รับความสนใจลดลง เนื่องจากการทดลองและการใช้งานล้มเหลว ดังนั้นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและสร้างความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ DEX ผู้นำทางธุรกิจควรใช้แนวทางแบบองค์รวม ร่วมมือกับทั้งพันธมิตรไอทีและที่ไม่ใช่ไอทีเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้พนักงานนำวิธีการทำงานใหม่ๆ มาปรับใช้ได้ยืดหยุ่นมากขึ้น