องค์กรข้ามชาติ 30% เสี่ยงรับผลกระทบรุนแรงจากปัญหาอธิปไตยทางดิจิทัล การ์ทเนอร์คาดการณ์ปัญหาจะบานปลายในอีก 2 ปีข้างหน้า หากยังละเลยการจัดการ Digital Sovereign Risk ที่รัดกุม
ไบรอัน เพรนติส รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาองค์กรธุรกิจข้ามชาติบริหารธุรกิจโดยประเมินความเสี่ยงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่เข้ามาเปิดกิจการ แต่ปัจจุบันองค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องขยายความเสี่ยงด้านอธิปไตย (หรือ Sovereign Risk) ให้ครอบคลุมด้านดิจิทัลเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการใช้งานดิจิทัลแบบต่างคนต่างใช้และกระจัดกระจายมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค
ภาวะนี้ทำให้การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 ประมาณ 30% ขององค์กรธุรกิจข้ามชาติจะประสบกับการสูญเสียรายได้ ความเสียหายต่อแบรนด์หรือการดำเนินการทางด้านกฎหมาย อันเกิดจากความเสี่ยงอธิปไตยทางดิจิทัล (Digital Sovereign Risk) ที่ไม่ได้รับการจัดการ
การ์ทเนอร์ระบุว่า อธิปไตยทางดิจิทัล (หรือ Digital Sovereignty) คือ ความสามารถรัฐบาลในการตระหนักถึงนโยบายที่ไม่เป็นอุปสรรคอันเกิดจากกฎระเบียบดิจิทัลของรัฐบาลต่างประเทศที่มีผลโดยตรงต่อพลเมืองและธุรกิจที่มีภูมิลำเนาอยู่ รวมถึงนโยบายที่ดำเนินการผ่านบริษัทดิจิทัลรายใหญ่ภายใต้การควบคุมของกฎระเบียบ
“ขณะที่หลากหลายประเทศดำเนินกลยุทธ์ Sovereign Digital มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือภาระผูกพันด้านกฎระเบียบข้ามเขตอำนาจศาล ข้อจำกัดด้านภาษี การห้ามนำเข้า/ส่งออก มาตรการทางเทคโนโลยีเฉพาะระดับประเทศและข้อกำหนดด้านเนื้อหาของท้องถิ่นที่ซับซ้อน เนื่องจากดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ผู้บริหารจึงต้องเข้าใจความเสี่ยงอธิปไตยทางดิจิทัล (Digital Sovereign Risk) และผลกระทบต่อเงื่อนไขทางธุรกิจ”
1 ใน 3 ประเด็นสำคัญที่การ์ทเนอร์เชื่อว่าได้รับผลกระทบมาจาก Digital Sovereign Risk ซึ่งต้องจัดการเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียรายได้ ความเสียหายต่อแบรนด์ หรือการดำเนินการทางกฎหมาย คือความเสี่ยงอธิปไตยทางดิจิทัลที่ส่งผลต่อลูกค้าองค์กรข้ามชาติของผู้ให้บริการเทคโนโลยี
"การหยุดชะงักส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกลยุทธ์ Sovereign Digital ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ให้บริการเทคโนโลยี โดยการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกำลังส่งผลกระทบต่อภาคเทคโนโลยีและผู้ให้บริการเฉพาะ เช่น ด้านข้อจำกัดของซัปพลายเออร์ 5G อย่าง Huawei หรือ Nokia ซึ่งอาจเป็นผลมาจากแรงกดดันด้านกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับชาติ หรือรับมือต่อเหตุการณ์ฉับพลันทางภูมิรัฐศาสตร์"
จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ชี้ให้เห็นว่าวิธีการที่ผู้ให้บริการเทคโนโลยีรับมือกับความเสี่ยงอธิปไตยทางดิจิทัลจะสามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจข้ามชาติ โดยองค์กรต้องพิจารณาผู้ให้บริการเทคโนโลยีที่สำคัญไว้เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขึ้น และประเมินแบบเชิงรุกพร้อมลดความเสี่ยงอธิปไตยทางดิจิทัล
ประเด็นที่ 2 คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีดิจิทัลจะถูกขัดขวางหากไม่ได้รับการปรับให้เข้ากับท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ
การ์ทเนอร์อธิบายว่าเมื่อความมุ่งมั่นสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ความพยายามในการผลิตเทคโนโลยี/นวัตกรรมดิจิทัลจะผลักดันองค์กรต่างๆ ไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลแบบแยกส่วน ซึ่งตลาดที่เผชิญกับผลิตภัณฑ์ดิจิทัลเหล่านี้บ่อยครั้งจะมีผลกำไรและขาดทุน (Profit & Loss) เป็นของตนเอง หากพบตลาดที่อื่นๆ นอกเหนือจากประเทศต้นทางขององค์กร การ์ทเนอร์ขอแนะนำให้ใช้ขั้นตอนจัดการ Digital Sovereign Risk ที่เกี่ยวกับแต่ละผลิตภัณฑ์ดิจิทัล
"จำเป็นต้องปรับแต่งผลิตภัณฑ์เป็นท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและปรับให้เข้ากับข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ ควบคู่ไปกับด้านวัฒนธรรมและภาษาของลูกค้าในตลาดเฉพาะ เป็นไปในทิศทางที่ต่างกันตามมาตรฐานเทคโนโลยีในระดับประเทศ ระเบียบการที่รัฐสนับสนุน และกรอบการทำงานที่ภาครัฐส่งเสริม ซึ่งล้วนเพิ่มน้ำหนักการตัดสินใจที่จำเป็นในการผลิตผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่จะให้บริการในตลาดหลายแห่ง"
ประเด้นที่ 3 คือธุรกิจดิจิทัลจะอยู่ในสถานการณ์ลำบากท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ดิจิทัล โดยขณะที่องค์กรขยายเป้าหมายดิจิทัลและกลายเป็นธุรกิจดิจิทัล องค์กรจะต้องรับมือกับข้อขัดแย้งของตลาดเสรีดิจิทัลในวงกว้าง เช่นเดียวกับผู้ให้บริการเทคโนโลยี ทำให้อยู่ท่ามกลางการแข่งขันทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ดิจิทัล ซึ่งกระทบต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจ
ที่สุดแล้ว การ์ทเนอร์แนะนำให้ผู้บริหารระดับสูงด้านความเสี่ยง (Chief Risk Officers หรือ CRO) ทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่เช่นนั้นจะประสบปัญหาในการขยายขอบเขต วัตถุประสงค์ และผลกระทบการดำเนินงานจากปัจจัยต่างๆ ของ Digital Sovereign Risk ที่มีต่อองค์กร