มีเดียเทค (MediaTek) แบรนด์ออกแบบชิปสัญชาติไต้หวัน แนะประเทศไทยสร้างบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มหากต้องการขึ้นเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตชิปยุคหน้า มั่นใจเห็นโอกาสเติบโตที่สูงขึ้นจากความต้องการในตลาดปัญญาประดิษฐ์ (Gen AI) อุปกรณ์มือถือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และอุปกรณ์สมาร์ทโฮมเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือ IoT เบื้องต้นยังไร้แผนลงทุนเพิ่มในประเทศไทย
ฟินบาร์ มอยนิฮาน (Finbarr Moynihan) รองประธานฝ่ายการตลาด MediaTek กล่าวว่า MediaTek จะยังคงบทบาทการเป็นบริษัทออกแบบชิปที่ไม่ผลิตเอง โดยจะเอาต์ซอร์สการผลิตไปยังหลายพื้นที่อื่นของโลก ดังนั้น บริษัทจึงยังไม่มีแผนการลงทุนเพิ่มในประเทศไทย โดยบริษัทมุ่งพัฒนา AI เพื่อรับมือกับเทคโนโลยีในอนาคต
"MediaTek มองว่าองค์กรของเราอยู่ในตำแหน่งทางการตลาดที่พร้อมเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตของ Generative AI ในการใช้งานหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่เพียงสมาร์ทโฟน Chromebook ทีวีอัจฉริยะ แต่ยังรวมถึงยานยนต์และโซลูชันอัจฉริยะที่มีความซับซ้อนที่ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากเทคโนโลยี AI นอกจากนี้ MediaTek กำลังมุ่งไปที่คลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์ โดยโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับ AI จะกลายมามีความสำคัญ นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ MediaTek กำลังเล็งเห็น"
MediaTek มีดีกรีเป็นผู้นำในการจำหน่ายชิปเซ็ตมือถืออันดับ 1 ของโลกติดต่อกันเกือบ 4 ปี ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) เป็นตลาดหนึ่งในสามตลาดที่ MediaTek มีส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งหมด (TAM) ในกลุ่มสมาร์ทโฟนเกิน 50% เมื่อปี 2023
สำหรับปี 2024 ดาวรุ่งอย่าง MediaTek มองว่า AI และ Generative AI เป็นโอกาสสำหรับการพลิกโฉมครั้งสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของเทคโนโลยี บริษัทได้ตระหนักถึงศักยภาพอันมหาศาลของ AI ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและประสิทธิภาพด้านการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ ขณะที่เทคโนโลยี AI ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง MediaTek ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นผู้นำที่ใช้ความเชี่ยวชาญมาพัฒนาวิธีแก้ปัญหาเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมทั่วโลก
สิ่งที่ MediaTek ให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ Generative AI (Gen-AI) ซึ่งคาดว่าจะขับเคลื่อนนวัตกรรมในตลาดต่างๆ พร้อมทั้งได้ประกาศว่าบริษัทกำลังยกระดับระบบนิเวศของ GenAI ของตนด้วยการสนับสนุนจาก Baidu และ LLama เพื่อเสริมพลังให้แก่ GenAI บนอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติแบบเรียลไทม์ เช่น การลบวัตถุออกจากภาพและการสร้างภาพ
ชินลิน โลว์ (Chinlin Low) ผู้จัดการฝ่าย Technical Account ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท MediaTek กล่าวถึงนวัตกรรม 5G ในประเทศไทยว่า MediaTek มีบทบาทในการยกระดับสถานะของประเทศในฐานะผู้นำภูมิภาคด้านนวัตกรรม 5G โดยได้ร่วมมือกับ AIS และ ZTE ในการตรวจสอบ 5G RedCap ที่ความถี่ 2.6GHz ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างประสบความสำเร็จ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถทางเทคโนโลยีของไทย และเป็นพื้นฐานสำหรับความก้าวหน้าในการใช้งาน 5G ในอนาคต
***แนะไทยปั้นคนเซมิคอนดักเตอร์
ชุนยัน ซี (Chunyan See) ผู้จัดการฝ่ายขายประจำประเทศไทย บริษัท MediaTek กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลไทยวางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยุคใหม่ระดับภูมิภาค ว่าการสนับสนุนของรัฐบาลไทยจะส่งให้มีนักศึกษาไทยในสายงานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อวงการวิจัยและพัฒนาชิป ที่ต้องการใช้บุคลากรนอกไต้หวัน
"บุคลากรด้าน IC Design talent ไต้หวันมีเพียง 2,000 ราย เราต้องหาจากสิงคโปร์ และพื้นที่อื่น ดังนั้น ไทยควรต้องสร้างบุคลากรขึ้นมา" ซุนยัน กล่าว
ปัจจุบัน การคาดการณ์ว่าตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะเติบโตเป็นมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 ซึ่งมากกว่าขนาดปัจจุบันถึง 2 เท่า ประเทศไทยจึงกำลังเร่งมือคว้าส่วนแบ่งรายได้มหาศาลชิ้นนี้ และพยายามแสดงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นเพื่อให้ไทยสามารถก้าวกระโดดไปสู่การเป็นศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ที่แท้จริงของอาเซียนและที่อื่นๆ ได้
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน AWS Summit ครบรอบ 10 ปี ของอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส เมื่อวันที่ 30 พ.ค.67 ว่ารัฐบาลมีความยินดีที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยปัจจุบัน รัฐบาลกำลังเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอื่นเพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในระดับต้นน้ำ อย่างเช่นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่คาดว่าจะดึงเงินลงทุนจากรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่างไต้หวันมาได้ แต่ไม่มีการระบุมูลค่า
หลังจากเศรษฐาประกาศเช่นนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ประกาศเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ว่าไทยมีแผนที่จะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพด้านเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้ไม่น้อยกว่า 15,000 คนต่อปี โดยกระทรวง อว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของประเทศ รับสมัครนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หรือ 4 ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรืออิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือสาขาอื่นๆ ที่มีความสนใจจะเรียนรู้และฝึกทักษะในอุตสาหกรรมนี้เข้าร่วมโครงการ