xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าไทม์ไลน์ไทย-มาเลเซีย ชิงแชมป์ฮับผลิตชิปภูมิภาค (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดไทม์ไลน์ประเทศไทย-มาเลเซียอยู่ตรงไหนในศึกชิงแชมป์ศูนย์กลางผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยุคใหม่ระดับภูมิภาค ท่ามกลางกระแสตื่นตัวของแบรนด์ใหญ่ที่กำลังพิจารณาหอบหิ้วเงินมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิป เพื่อรองรับโอกาสจากคลื่นเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีแนวโน้มขยายตัวก้าวกระโดด

ไทม์ไลน์ล่าสุดคือ ไทยและมาเลเซียกำลังแข่งกันย้ำว่าตัวเองเป็นประเทศที่มีความเป็นกลาง และมีความพร้อมอย่างสมบูรณ์แบบในฐานะประเทศที่จะเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนมูลค่ามหาศาล โดยนายกรัฐมนตรีไทย “เศรษฐา ทวีสิน” และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย “อันวาร์ อิบราฮิม” ต่างประสานเสียงเพื่อแข่งกันหาทางเปลี่ยนประเทศของตัวเองให้เป็นประเทศมหาอำนาจด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

ก่อนจะไปดูว่านายเศรษฐา และนายอันวาร์ มีลีลาในการเชิญชวนนักลงทุนในตลาดเซมิคอนดักเตอร์อย่างไร เราควรรู้ว่าไทม์ไลน์หลักของวงการในปี 2567 เป็นผลส่วนหนึ่งต่อเนื่องมาจากท่าทีความสนใจและแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้นจากยักษ์ใหญ่ในปี 2566 โดยช่วงปลายปี มีข่าวว่าเจนเซน หวง ประธานและซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านชิปของสหรัฐฯ Nvidia ต้องการตั้งฐานเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม และได้เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีฝ่าม มีง จีง ของเวียดนาม จนมีการประกาศลงทุนในเวียดนามประมาณ 250 ล้านดอลลาร์เรียบร้อย

ในเวลานั้นเวียดนามประกาศว่ามีวิศวกรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ประมาณ 6,000 คน แต่ยังต้องการเพิ่มอีกหลายพันคน โดยทางการตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนให้เป็น 50,000 คน ภายในปี 2573

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย “อันวาร์ อิบราฮิม”
ความเคลื่อนไหวที่เวียดนามเป็นแค่น้ำจิ้ม เพราะการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตบนแรงผลักดันจากหลายปัจจัย ทั้งต้นทุนพลังงานและราคาที่ดินที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ซึ่งนำมาสู่ดีลมากมายที่มีการประกาศเพื่อยกระดับวงการพลังงานในยุคแห่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

***ไทยVSมาเลเซีย ชิงโอกาสหน้าประตูบ้าน

วันนี้หลายชาติอาเซียนกำลังรู้สึกว่าเซมิคอนดักเตอร์คือโอกาสที่รออยู่หน้าประตูบ้าน เพราะเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์อัจฉริยะต่างๆ ทั้งในโทรศัพท์มือถือ หรือในยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีการคาดการณ์ว่าความต้องการเซมิคอนดักเตอร์จะเพิ่มสูงมากขึ้นจนหลายประเทศมีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้


นอกจากไทย มาเลเซียเป็นประเทศที่ประกาศชัดว่าจะวางตำแหน่งตัวเองเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นกลาง ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเมื่อ 28 พ.ค.67 อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ย้ำกับสาธารณชน ว่าประเทศมาเลเซียเป็นสถานที่สำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นกลาง และพร้อมสำหรับการสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่ปลอดภัยและยืดหยุ่นมากขึ้น

รัฐบาลมาเลเซียได้เปิดแผนยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่อย่างน้อย 107,000 ล้านดอลลาร์ กลยุทธ์ที่ใช้จะประกอบด้วยการฝึกอบรมวิศวกรท้องถิ่นที่มีทักษะสูง 60,000 ราย และการจัดตั้งบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศอย่างน้อย 10 แห่ง ที่เน้นด้านการออกแบบชิปและบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง

ตามรายงานจากรอยเตอร์พบว่า มาเลเซียมีการเสนอมาตรการจูงใจมูลค่า 5,320 ล้านดอลลาร์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศภายใต้โครงการใหม่ โดยก่อนหน้านี้ อันวาร์ได้ประกาศแผนการสร้างอุทยานออกแบบวงจรรวมในรัฐสลังงอร์ ซึ่งจะเป็นที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อสร้างเสร็จ

นายกรัฐมนตรีไทย “เศรษฐา ทวีสิน”
ปัจจุบัน มาเลเซียมีธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ที่จัดตั้งขึ้นแล้ว โดยคิดเป็น 13% ของบริการบรรจุภัณฑ์ การประกอบ และการทดสอบชิปทั่วโลก โดยบริษัทใหญ่ เช่น Intel และ Infineon ต่างมีโรงงานอยู่ที่มาเลเซีย ซึ่งความพร้อมนี้ทำให้เมื่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เกิดการแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯ และจีน มาเลเซียจึงตั้งเป้าวางตำแหน่งตัวเองเป็นดินแดนที่เป็นกลางเพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งสองฝ่ายท่ามกลางความตึงเครียดที่เกิดขึ้น



***ลุ้นไทยทำถึง




ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะเติบโตเป็นมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 ซึ่งมากกว่าขนาดปัจจุบันถึง 2 เท่า ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ต่างกำลังเร่งมือคว้าส่วนแบ่งรายได้มหาศาลชิ้นนี้ ดังนั้น ไทยจึงพยายามแสดงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่ถูกทางและทำถึง เพื่อให้ไทยสามารถก้าวกระโดดไปสู่การเป็นศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ที่แท้จริงของอาเซียนและที่อื่นๆ ได้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน AWS Summit ครบรอบ 10 ปี ของอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส เมื่อวันที่ 30 พ.ค.67 ว่ารัฐบาลมีความยินดีที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยปัจจุบัน รัฐบาลกำลังเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอื่นเพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในระดับต้นน้ำ อย่างเช่นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่คาดว่าจะดึงเงินลงทุนจากรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่างไต้หวันมาได้

แต่ไม่มีการระบุมูลค่า

หลังจากเศรษฐาประกาศเช่นนี้ “ศุภมาส อิศรภักดี” รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ประกาศเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ว่าไทยมีแผนที่จะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพด้านเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้ไม่น้อยกว่า 15,000 คนต่อปี โดยกระทรวง อว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของประเทศ รับสมัครนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หรือ 4 ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรืออิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือสาขาอื่นๆ ที่มีความสนใจจะเรียนรู้และฝึกทักษะในอุตสาหกรรมนี้เข้าร่วมโครงการ



ปัจจุบัน 8 บริษัทที่ขานรับเป็นเจ้าภาพโครงการสร้างบุคลากรเซมิคอนดักเตอร์ไทย ประกอบด้วย บริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ฮานาไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ฮานา เซมิคอนดักเตอร์ (อยุธยา) จำกัด บริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัท นิชชินโบ ไมโคร ดีไวซส์ (ประเทศไทย) จํากัด และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ที่สุดแล้ว การแข่งขันเซมิคอนดักเตอร์จะเป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น ซึ่งหากใครชนะได้ประเทศนั้นจะได้รับรางวัลแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ความโดดเด่นทางเทคโนโลยี และความภาคภูมิใจของชาติ ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และเป็นแนวหน้าของโลกอนาคตได้


กำลังโหลดความคิดเห็น