“ศุภมาส” เล็งขยาย “โครงการ Coop+” พัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ ตั้งเป้าให้ได้อย่างน้อย 1,500 คนต่อปี หลังโครงการนำร่องร่วมกับ 8 บริษัทชั้นนำประสบความสำเร็จ
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า เซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์อัจฉริยะต่างๆ เช่น ในโทรศัพท์มือถือ หรือในยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น และมีการคาดการณ์ว่า ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้มีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ แต่การที่จะส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เข้ามาในประเทศ กำลังคนที่มีทักษะในด้านนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องมีกำลังคนทักษะสูงที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่ตนมอบให้แก่ผู้บริหารกระทรวง อว. หลังจากเข้ารับตำแหน่ง คือ การหาแนวทางเร่งผลิตกำลังคนทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ ให้ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีคุณภาพในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมากระทรวง อว. ก็ได้ริเริ่มโครงการนำร่องหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการ Coop+ หรือ สหกิจศึกษาพลัส ที่นำนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์มาพัฒนาทักษะเพิ่มเติมและฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมก่อนจบการศึกษา นักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วสามารถทำงานกับบริษัทได้ทันที โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กำกับดูแลโครงการ
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวให้รายละเอียดของโครงการดังกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง เพื่อทดสอบว่าสามารถพัฒนากำลังคนในรูปแบบนี้ได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพหรือไม่ โดยกระทรวง อว. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง และ บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของประเทศ 8 แห่ง ได้แก่ บริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ฮานาไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ฮานา เซมิคอนดักเตอร์ (อยุธยา) จำกัด บริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัท นิชชินโบ ไมโคร ดีไวซส์ (ประเทศไทย) จํากัด และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินการ โดยรับสมัครนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หรือ 4 ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรืออิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือสาขาอื่นๆ ที่มีความสนใจจะเรียนรู้และฝึกทักษะในอุตสาหกรรมนี้เข้าร่วมโครงการ โดยในโครงการนักศึกษาจะได้รับการเรียนเพิ่มเติมในหลักสูตรออนไลน์ 3 โมดูล ที่มีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้สอน มีการเข้าบูธแคมป์เพื่อฝึกปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเวลา 9 วัน หลังจากนั้น นักศึกษาจะไปทำสหกิจศึกษาหรือฝึกงานที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการอีก 6-9 เดือน เมื่อจบการศึกษา นักศึกษาสามารถเข้าทำงานกับบริษัทที่ทำสหกิจศึกษาได้ทันที
รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการนำร่องนี้ มีนักศึกษาที่สนใจยื่นสมัครกว่า 830 คำขอ โดยมาจาก 45 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และมี 102 คนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ โดยมีการเข้าบูธแคมป์ไปเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา จากการประเมินเบื้องต้น พบว่าโครงการประสบความสำเร็จ นักศึกษามีความรู้และทักษะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีความกระตือรือร้นสูงมาก ภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการก็พึงพอใจ ถือได้ว่าโครงการนำร่องนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
“จากความสำเร็จเบื้องต้นของโครงการนำร่องนี้ ตนจึงสั่งการให้เร่งขยายโครงการให้รองรับนักศึกษาให้ได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าให้ได้อย่างน้อย 1,500 คนต่อปี ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้จะเพิ่มกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ โดยใช้งบประมาณไม่มาก นอกจากโครงการนี้แล้ว กระทรวง อว. ยังมีอีกหลายโครงการที่จะผลิตกำลังคนด้านนี้ เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพด้านเซมิคอนดักเตอร์ ให้ได้ไม่น้อยกว่า 15,000 คนต่อปี” น.ส.ศุภมาส กล่าว