ไมโครซอฟท์ลุยต่อหลัง MOU รัฐบาลไทย จับมือ สกมช. ดันระบบไอทีสำคัญ หรือ CII ของไทยให้ป้องกันตัวได้ก่อนเพราะรู้อินไซต์ภัยแฮกก่อน เดินหน้าสอน Copilot for Security ข้าราชการไทยใช้คุ้มขึ้น มั่นใจประโยชน์เกิดเต็มที่หลังไทยขึ้นท็อป 5 ประเทศที่ตกเป็นเป้าถูกโจมตีระบบไซเบอร์มากที่สุดในเอเชีย ตามหลังเกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และมาเลเซีย
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าในการสำรวจประจำปี 2023 ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ตกเป็นเป้าถูกโจมตีระบบไซเบอร์มากที่สุดในเอเชีย โดยเป็นรองเพียงเกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และมาเลเซีย ขณะเดียวกัน ยังมีสถิติที่พบว่าโจรไซเบอร์สามารถลดเวลาจากหลักเดือนเป็นหลักวัน และล่าสุดคือ 72 นาทีที่สามารถเจาะระบบแล้วยึดบัญชีไปได้ สถิติเหล่านี้ตอกย้ำว่าการต่อสู้กับคนร้ายบนโลกไซเบอร์โดยไม่ใช้ AI นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
“ท่ามกลางคลื่นความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรอบตัวเรา ไมโครซอฟท์เชื่อว่าความปลอดภัยคือประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งที่ทุกผลิตภัณฑ์ ทุกบริการด้านเทคโนโลยีจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อน เพราะหากผู้ใช้ไม่สามารถไว้วางใจในเทคโนโลยีได้ ก็คงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นได้ ซึ่งการทำงานด้านความปลอดภัยเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทุกภาคส่วน เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญ และมั่นใจว่าความร่วมมือกับ สกมช. ในครั้งนี้จะเสริมศักยภาพด้านความปลอดภัยไซเบอร์ให้ประเทศไทยได้เป็นอย่างดี"
ความร่วมมือระหว่าง สกมช. หรือสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และไมโครซอฟท์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก การเดินทางมาประเทศไทยของ "สัตยา นาเดลลา" เมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา และการที่นายกรัฐมนตรีไทย “เศรษฐา ทวีสิน” นำทีมรัฐบาลไทยเซ็นเอ็มโอยูกับไมโครซอฟท์ระหว่างการเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 12-17 พ.ย.2023 ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา จุดประสงค์หลักของการลงนามบันทึกข้อตกลงนี้มี 3 ส่วน คือ การลงทุนร่วมกันในอนาคต การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทย และการฝึกอบรมสอนคนไทยที่จะต้องเข้าไปทำงานกับเทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ โดยล่าสุด ไมโครซอฟท์ได้ติดตามดำเนินการ และประกาศเป็นความร่วมมือกับ สกมช. ในครั้งนี้
ความร่วมมือรอบนี้สามารถแบ่งได้ 3 ส่วน ส่วนแรกคือความร่วมมือภายใต้โครงการระดับโลกชื่อ Government Security Program (GSP) จุดประสงค์ความร่วมมือคือการสร้างความมั่นใจในเทคโนโลยีผ่านความโปร่งใสและการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อวางรากฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้ประเทศไทย พร้อมสานต่อการทำงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ โครงการ Government Security Program (GSP) เป็นโครงข่ายความร่วมมือระดับโลกของไมโครซอฟท์ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2003 ด้วยจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนรัฐบาลของชาติต่างๆ และองค์กรภาครัฐในระดับนานาชาติให้สามารถปกป้องบุคลากร ข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานจากภัยไซเบอร์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน โครงการ GSP นี้ครอบคลุมความร่วมมือในกว่า 40 ประเทศและ 100 องค์กรระดับนานาชาติ
ก่อนหน้านี้ ไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ GSP อยู่แล้วโดยร่วมมือกับ ThaiCERT ซึ่งล่าสุดถูกรวมไว้ใน สกมช. ดังนั้นส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นความร่วมมือใหม่ที่เพิ่มขึ้นจาก MOU คือไมโครซอฟท์ และ สกมช. จะร่วมกันส่งเสริมและผลักดันการสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงทักษะในการกำกับดูแลการใช้งาน AI อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเกี่ยวกับ Copilot for Security และการใช้งาน AI เพื่อสนับสนุนงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ให้หน่วยงานภาครัฐและบุคลากรที่มีรับผิดชอบการดูแลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure - CII)
พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เผยว่า งานหลักของ สกมช. คือ CII ซึ่งมักเป็นบริการที่หายไป 1 นาทีแล้วเกิดความเดือดร้อน สิ่งที่ สกมช.ให้ความสำคัญคือการรับรู้ข้อมูลเพื่อป้องกันภัยไซเบอร์ได้ก่อนเกิดเหตุ รวมถึงทราบข้อมูลว่าใครที่ต้องการโจมตีระบบในไทย เบื้องต้นเชื่อว่าการร่วมมือกับไมโครซอฟท์จะทำให้เกิดผลดี เนื่องจากหน่วยงานไทยจำนวนมากใช้ระบบของไมโครซอฟท์ทั้งในภาครัฐและเอกชน และการแบ่งข้อมูลจะทั่วถึงองค์กรที่อาจไม่ได้ใช้งานระบบของไมโครซอฟท์
"การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกระหว่างกัน ทั้งในด้านการทำงานของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ตลอดจนพัฒนาการของภัยไซเบอร์ล่าสุด จะช่วยให้รัฐบาลไทยมีข้อมูลสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ บริการ และเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้งานผลิตภัณฑ์ บริการ และเทคโนโลยีของบริษัท รวมถึงการดูแลป้องกันและเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเครือข่ายสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ"
สุดท้ายส่วนที่ 3 คือทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันทำการวิเคราะห์และพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยที่ใช้งานภายใน สกมช. ด้วยเทคโนโลยีจากไมโครซอฟท์อย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ ไมโครซอฟท์ย้ำว่าความร่วมมือนี้สอดรับกับนโยบาย Cloud First ของภาครัฐที่มุ่งเน้นการนำคลาวด์มาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน โดยข้อมูลเชิงลึกและทรัพยากรต่างๆ มากมายจากเครือข่ายและทีมผู้เชี่ยวชาญของไมโครซอฟท์ภายใต้โครงการ GSP จะช่วยให้บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยสามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจสูงสุด ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ๆ ได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
ในภาพรวม ภายใต้ข้อตกลงนี้ ไมโครซอฟท์และ สกมช. จะเดินหน้าแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดทางเทคนิคเกี่ยวกับภัยคุกคามความปลอดภัย ช่องโหว่ พฤติกรรมผิดปกติ ข้อมูลมัลแวร์ และประเด็นสำคัญด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการของไมโครซอฟท์ และในอนาคต ทั้งสองฝ่ายยังอาจพิจารณาขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมการเข้าถึงเอกสารทางเทคนิคหรือซอร์สโค้ดจากผลิตภัณฑ์และบริการของไมโครซอฟท์ หรือดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์เอกสารทางเทคนิคและซอร์สโค้ดอย่างละเอียด ณ ศูนย์ปฏิบัติการด้านความโปร่งใส (Transparency Center) ของไมโครซอฟท์ 5 แห่งทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ บราซิล และจีน